คมนาคม-ขนส่ง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีงานวันคล้ายวันก่อตั้งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ครบรอบ 50 ปี พร้อมด้วย นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงานการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้การต้อนรับ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายและบริการด้านคมนาคมขนส่งให้ครอบคลุมทุกมิติการเดินทาง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สร้างความกินดีอยู่ดีให้กับพี่น้องประชาชน กระทรวงคมนาคมได้รับนโยบายดังกล่าวมาขับเคลื่อนเพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แก้ไขปัญหาการจราจรในภาพรวม ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อำนวยความสะดวกในการเดินทางของพี่น้องประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีรถจำนวนกว่า 1.8 ล้านคันต่อวัน ใช้บริการผ่านโครงข่ายทางพิเศษที่เปิดให้บริการรวม 225 กิโลเมตร สำหรับในวันนี้ กทพ. ได้เติบโตอย่างเข้มแข็งมาจนครบ 50 ปีเต็ม เกิดจากความมุ่งมั่น ทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของ กทพ.
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กทพ. ได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาให้บริการประชาชน ไม่ว่าจะเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติด้วยบัตร Easy Pass การพัฒนาศูนย์ควบคุมระบบจราจรอัจฉริยะ (ITS Center) การพัฒนาระบบ e-Service การจัดตั้งศูนย์บริหารการจราจรทางพิเศษ (Expressway Traffic Management Center) และในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยบูรณาการร่วมกับกรมทางหลวงให้เป็นไปในรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน จำนวน 3 ด่านแรกก่อน คือ ด่านจตุโชติ ด่านสุขาภิบาล 5-1 และด่านสุขาภิบาล 5-2 รวมถึงการขยายโครงข่ายทางพิเศษสายใหม่ คือ ทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ทางพิเศษสายฉลองรัช - นครนายก - สระบุรี รวมถึงโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นโครงการทางพิเศษสายแรกในภูมิภาค นับเป็นการเปิดมิติใหม่ในการแก้ไขปัญหาจราจรที่ไม่ยึดติดเฉพาะในเมืองหลวงและปริมณฑล นอกจากนี้ กทพ. ยังได้ดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง อาทิ การมอบพื้นที่ใต้ทางพิเศษเพื่อสาธารณประโยชน์ การมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนที่อยู่ในชุมชนและโรงเรียนรอบเขตทางพิเศษ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ กทพ. ซึ่งตั้งขึ้นจากการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการจัดตั้งกับสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เพื่อบอกเล่าประวัติของ กทพ. จากอดีตสู่อนาคต รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์แก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับการก่อสร้างและบริหารจัดการทางพิเศษ บอกเล่าเรื่องราวของ กทพ. ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ส่งผ่านเรื่องราวบนพื้นที่จัดแสดงจำนวน 4 โซน ซึ่งมีความประทับใจที่ซ่อนอยู่มากมาย เช่น การจำลองบรรยากาศบนยอดสะพานขึงของสะพานพระราม 9 และการเรียนรู้เบื้องหลังการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บนทางพิเศษ เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายเพิ่มเติมให้ กทพ. ดังนี้ 1. กทพ. ต้องสร้างความท้าทายในการทำงานโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ 2. การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรม และมีประสิทธิภาพโดยเร็ว 3. การดำเนินโครงการต่าง ๆ ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย โดยทำความเข้าใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโครงการให้ชัดเจน เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น 4. การดำเนินงานต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ภายใต้ข้อกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ)กล่าวในหัวข้อ 50 ปี แห่งผู้นำ นวัตกรรมทางพิเศษ ว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมามีทางด่วน8 สายทาง รวมระยะทาง 224.6 กิโลเมตร ถือว่ายังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในการเดินทาง ซึ่งวันนี้เฉลี่ย 2 ล้านคัน/วัน จำเป็นต้องเพิ่มทางพิเศษสายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชนมากขึ้น และการที่รัฐมนตรีว่าการกะทรวงคมนาคม และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม มีแนวคิดการบูรณาการโครงข่ายในภาพรวม หรือ Expressway-motorway และ MR-MAP ทำให้มีความชัดเจน และมีการSynergy ร่วมกันระหว่างหน่วยงานคมนาคมมากขึ้น เพราะในอดีตยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งสับสนในเรื่องของเจ้าของโครงการทางด่วน และมอเตอร์เว
การพัฒนา และเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันสู่อนาคตจะมุ่งใน 6 เรื่องหลัก คือ 1.การพัฒนาโครงการทางพิเศษ 2.การบริหารจัดการจราจร และกู้ภัย 3.การบริหารจัดการระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง 4.Digital Transformation นำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์งานบริการ 5.การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ และ 6.การพัฒนาอย่างยั่งยืน
“การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ ESG เราจะคงเดินหน้าต่อไป โดยในขาสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินตามหลัก BCG Model ที่ผ่านมาเราได้รับรางวัลEIA Awardการันตีความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่สีเขียว(Green Expressway) ขณะขาด้านสังคม เราภูมิใจที่ได้ให้โอกาสคนพิการ ซึ่งไม่ใช่การบริจาค แต่หากส่งเสริมสร้างโอกาสเรื่องอาชีพให้ ซึ่งจะเป็นการช่วยที่ยั่งยืน และเขาพึ่งพาตัวเองได้และเกิดความภูมิใจ
ผมในฐานะผู้บริหารกทพ. หลังจาก 50 ปีแล้ว ยังคงเดินหน้าต่อไป เพื่อผลักดันองค์กรไปสู่หน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านการให้บริการอันดับ1 ให้สมกับที่ผู้ใช้ทางในฐานะลูกค้าให้ความไว้วางใจมาใช้บริการ และ ให้สมกับที่รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณการลงทุน ให้โครงการต่างๆเดินหน้าได้”
留言