ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันพบว่า ผู้สูงอายุคนไทยมีเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนคน และคาดว่า ในปี 2568 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 คนต่อประชากร 5 คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ดังนั้น เราต้องมีการเตรียมสุขภาพเพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ให้ตัวเราต้องเป็นภาระให้กับระบบสาธารณสุขมากเกินไปอีกด้วย
ศ.ดร.พิเชษฐ์ วิริยะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และหัวหน้าคณะนักวิจัยฯ บริษัท เอเชียน ไฟย์โตซูติคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APCO กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ การดูแลตัวเองในแบบองค์รวมกำลังเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยจะเป็นการมองหาวิธีดูแลและเข้าใจทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งต้องดูแลอย่างสม่ำเสมอ แม้จะมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้วก็ตาม เพราะในแง่ของสุขภาพนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ไม่ควรรอให้เกิดโรคก่อนแล้วจึงไปปรึกษาแพทย์ ด้วยเหตุนี้หัวใจสำคัญที่สุดคือการมีอายุที่ยืนยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสังคมไทยมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนวัยแรงงานในอนาคตคนไทยจึงต้องเตรียมตัวและปรับตัวให้มีช่วงเวลาในการทำงานยาวขึ้น
การดูแลสุขภาพในแบบเดิม ๆ อาจจะไม่เพียงพอ โดยเทรนด์การดูแลสุขภาพที่กำลังเป็นที่นิยม และจะช่วยให้คนไทยมีอายุยืนยาวได้อย่างมีประสิทธภาพนั้น ได้แก่
1. Holistic health care หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2567 การให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องสุขภาพร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ในอนาคตสุขภาพที่ดีต้องหมายรวมถึงชีวิตที่มีความสุขแบบองค์รวม นั่นคือ ความสุขที่มาจากร่างกายที่แข็งแรงและสุขภาพจิตใจที่เบิกบานโดยเทรนด์นี้กำลังเป็นที่สนใจของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยผู้คนกำลังมองหาวิธีการสร้างสมดุลให้กับทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ เพื่อสร้างความสุขที่ยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งการรักษาหรือยาอีกต่อไป
2. การดูแลสุขภาพ และโภชนาการแบบรายบุคคล
อีกเทรนด์หนึ่งที่สำคัญและกำลังเป็นที่นิยมมากคือการดูแลสุขภาพและโภชนาการแบบรายบุคคล โดยเราจะต้องรู้จักร่างกายของเราก่อนว่ามีพื้นฐานเป็นอย่างไร ขาด หรือมีอะไรที่มากเกินไป จากนั้นจะเน้นไปที่การวางแผนโภชนาการที่ปรับให้เหมาะสมกับพันธุกรรม เพศ ชีวภาพ และเป้าหมายด้านสุขภาพของเราหรือของแต่ละบุคคล อาหารที่มีประโยชน์ที่ถูกคัดเลือกมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุล และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. การฝึกสติ และการสร้างสุขภาพจิตที่ดี
จิตใจมนุษย์ถือเป็นพื้นฐานของความสุขทั้งปวง หากจิตป่วยร่างกายก็ยากที่จะแข็งแรงสมบูรณ์ได้ ความกดดันของสังคมในปัจจุบัน เป็นต้นเหตุให้เกิดความเครียดได้ง่าย ทำให้เกิดโรคทางจิตตามมามากมาย เช่น โรคซึมเศร้า ดังนั้น จิตจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ความสำคัญของสุขภาพจิตคือการเน้นไปที่การฝึกสติ ลดความเครียด และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข โดยกิจกรรมที่จะช่วยฝึกสติได้ เช่น การทำสมาธิ การทำโยคะ และการฝึกการหายใจในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
4. การใช้อาหารเป็นยา
การทานอาหารที่ดี เท่ากับว่าเป็นการเสริมสร้างสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง ยิ่งเรารักษาสุขภาพด้วยการกินดี พักผ่อนดีออกกำลังกายดี ชีวิตก็จะดีได้ไม่ยาก ในปัจจุบันการแพทย์ได้วิจัยออกมาแล้วว่าอาหารหลาย ๆ ชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ได้ ฉะนั้นการกินอาหารจากธรรมชาติ ปลอดภัย ไร้สารเคมี จะทำให้ร่างกายถูกซ่อมแซมได้มากกว่าการกินยาเคมี โดยอาหารที่รับประทานควรเลือกชนิดที่ดูดซึมได้ง่าย ช่วยเสริมสร้างให้ระบบการทำงานของร่ายกายมีประสิทธิภาพได้ดีขึ้น มีภูมิคุ้มกันที่สมดุล และเพื่อป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
5. การกินอาหารที่ทำมาจากพืช
การทานอาหาร plant-based คือ การทานอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ เครื่องเทศ สมุนไพร ถั่ว และธัญพืชที่ไม่ขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุด โดยมีงานวิจัยรองรับในเชิงวิชาการมากมายว่าการทานอาหาร plant-based ช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น อาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดในสมอง นอกจากนี้การทานอาหาร plant-based ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น ช่วยเพิ่มการได้รับวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระใยอาหาร ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดระดับไขมันในเลือดได้อีกด้วย
6. การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการปรับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สมดุล
ภูมิคุ้มกันคือระบบป้องกันของร่างกายที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ และความไม่สมดุลของการทำงานในร่างกาย ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดโรคต่าง ๆ การสร้างและรักษาภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ โรคร้ายเรื้อรังที่เราพบเจอทุกวันนี้ล้วนเกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคและจุดอ่อนของร่างกายที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งภูมิคุ้มกันสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค ทำให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น ช่วยลดการเจริญเติบโตของเซลล์และลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง อีกทั้งการรักษาภูมิคุ้มกันที่ดีช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่นโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ทั้งยังมีผลต่อระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าเช่นกัน
留言