1. "เศรษฐกิจโลก ชะลอ"
เศรษฐกิจภาพรวม "โตต่ำ" ทั้งโลก เว้นบางประเทศ เช่น เวียดนาม ที่ได้ "แรงส่ง" จากการลงทุนด้านไฮเทคจากต่างประเทศ และ "อินเดีย" ที่มีกำลัง "คนวัยทำงาน" ที่มีทักษะทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ จำนวนมากที่สุดในโลก ได้รับผลบวกเต็มๆ จากเศรษฐกิจยุค AI
โอกาส :
การขยาย "ตลาดส่งออก" ไปยังเวียดนามและอินเดีย คือ "เป้าหมาย" ของไทย และหากใช้โอกาสนี้ กลับมาเริ่ม "ปฎิรูปเศรษฐกิจ" เร่งสร้าง "อุตสาหกรรมใหม่" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และลงทุนพัฒนา "คนรุ่นใหม่" เพิ่มทักษะแรงงานขั้นสูง เพื่อการแข่งขันในโลกปัจจุบัน
อุปสรรค :
เศรษฐกิจโตต่ำ จะส่งผลกระทบต่อ "การจ้างงาน" "รายได้ประชาชาติ" และ "หนี้สินครัวเรือน" ที่น่ากังวล คือ "ความเชื่อมั่น" จากต่างประเทศในการมา "ลงทุน" สร้างโรงงานหรือสร้างศูนย์วิจัยพัฒนา ทั้งยังทำให้ไทยต้องพึ่งพา "การท่องเที่ยว" เป็นหลัก แม้ได้เงินง่าย แต่เปราะบางมาก
.
2. "โลกเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ AI "
การแข่งขันของบริษัทยักษ์ใหญ่จะรุนแรงขึ้น เพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยี "ซุปเปอร์ไฮเทค" ทั้ง "ปัญญาประดิษฐ์ AI และ ควอนตัมคอมพิวเตอร์" เพราะโลกกำลังเปิดรับ การใช้เทคโนโลยีไฮเทค ในทุกธุรกิจอุตสาหกรรม
โอกาส :
คนไทยจะสนุกกับใช้ App AI ฟรีมากมาย จนเลือกไม่ถูก และอุตสาหกรรมไทยได้รอซื้อเครื่องมือไฮเทคใช้ในการผลิต และในการบริการ
อุปสรรค :
ไทยจะเป็น "ผู้ซื้อ" ไม่ใช่ "ผู้ขาย" และอาจตกขบวน เสีย "จังหวะ" ในการเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี หากไม่เร่งผลิต "คนทักษะสูง" เข้าสู่เศรษฐกิจยุค AI
.
3. "พลังงานทดแทน มาแรง'
การวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทน กำลังออกดอกออกผล เช่น พลังงานไฮโดรเจน หรือแม้แต่พลังงานนิวเคลียร์ "ยุคใหม่" ที่ปลอดภัย และประหยัดกว่าเดิม
ทั้งการพัฒนาเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีประสิทธิภาพสูง และ Energy Storage เพื่อ "กักเก็บพลังงาน" ไว้ให้ใช้เพียงพอในยามค่ำคืน
โอกาส :
เทคโนโลยีใหม่ และการ "เปิดเสรี" ด้านพลังงานทดแทน ทำให้คนไทยอาจได้ใช้พลังงานในราคาถูกลง
อุปสรรค :
การ "นำเข้า" ทั้งอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจาก "จีน" จะสูงมาก จนทำให้ขาดดุลการค้ามากยิ่งขึ้น หากไทยไม่สนับสนุนการผลิตในประเทศ
.
4. "รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ยึดตลาด"
รถยนต์ EV ราคาถูกรุกหนักทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทย ทำให้อุตสาหกรรมรถสันดาปถึงกาลอวสานเร็วกว่าที่คิด ทั้งเร่งความต้องการในเรื่องหาสถานที่เพื่อการชาร์จไฟฟ้า
โอกาส :
รถยนต์ไฟฟ้าจะ "ราคาถูก" ลงอีก ทุกครอบครัวมีโอกาสได้ครอบครองรถในฝันง่ายกว่าเดิม และช่วยลดมลพิษทางอากาศได้บ้าง แม้ pm2.5 จะมาจาก "รถบรรทุก" เป็นส่วนใหญ่
อุปสรรค :
ไทยจะขาดดุลการค้าจีนมหาศาล ขณะที่อุตสาหกรรมรถสันดาปของญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทไทยที่เกี่ยวข้อง อาจต้องเลิกกิจการในไทย หรือปลดคนงาน อีกทั้งรัฐต้องเสียงบประมาณในการขยายสาธารณูปโภครองรับรถพลังงานไฟฟ้าอย่างเร่งด่วน
.
5. "วิกฤตประชากร รุนแรง"
หลายประเทศเข้าสู่ภาวะประชากรหดตัว อัตราการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงไทย จะลดลงต่ำกว่า 1.0 เด็กเกิดน้อยลง จนน้อยกว่าห้าแสนต่อปี ทำให้จำนวนประชากรเริ่มลด ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะมากกว่า 20 เปอร์เซนต์ คน "วัยทำงาน" จำนวนน้อย จะเป็นกลุ่ม "แบกหาม" ของเศรษฐกิจไทย
โอกาส :
ครอบครัวที่มีลูกน้อย ดูแลลูกได้ดีขึ้น สามารถเลี้ยงได้อย่างมีคุณภาพสูง
อุปสรรค :
ประชากรวัยทำงานลดลง ส่งผลลบทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านความสามารถในการแข่งขันของชาติ ขณะที่ครอบครัวรุ่นใหม่ลังเลในการมีลูก จากสาเหตุด้านรายได้ ค่าใช้จ่าย ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม
.
6. "โลกแบ่งข้าง ปั่นป่วน เพราะคนไม่กี่คน"
จับตา อีลอน มัสก์ โดนัล ทรัมป์ วาลาดิเมียร์ ปูติน สีจิ้นผิง เบนจามิน เนทันยาฮู เหล่าผู้มีอิทธิพลของโลกเหล่านี้ จะทำให้เศรษฐกิจโลก "ฟูหรือแฟบ" และอาจทำให้โลกเข้าสู่ยุค "กึ่งสงครามเย็น" ทางด้านการเมืองและด้านความมั่นคง
โอกาส :
หากไทยอยู่ข้างถูก ก็ได้ประโยชน์ ถ้าจำได้ ในยุคสงครามเย็น ไทยเราได้ "อาวุธทันสมัย" จากอเมริกา และได้ "มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT" จากกลุ่มพันธมิตรตะวันตก ได้ของดีมาเต็มๆ เพราะเลือกถูกทาง
อุปสรรค :
"ทำตัวเป็นกลาง" ยากขึ้น จะไม่มีใครช่วยเราเต็มที่ เพราะ "เรากั๊กเขา เขาก็กั๊กเรา" ไม่ต่างอะไรจากการ "เลือกผิด" อยู่ดี ดังนั้น การเลือกข้างบ้างในบางเรื่อง แต่ไม่ฝักใฝ่ อาจเป็นทางรอดก็เป็นได้
.
7. "การศึกษามุ่งเป้า เฉพาะบุคคล"
เมื่อเด็กเกิดน้อย จะสูญเสีย "ปริมาณ" พลเมือง ทางออกจึงเหลือเพียง ต้องมีพลเมือง "คุณภาพ" เท่านั้น การศึกษาจึงเป็น "ทางรอดทางเดียว" ขณะที่ "ปฏิรูป" การศึกษาไทย ยังไม่เกิดขึ้นจริง และการเรียนออนไลน์จำนวนมากพร้อมกัน จะถูกแทนที่ด้วย "การเรียนด้วย AI " ที่มุ่งเป้า สอนได้เฉพาะบุคคล
โอกาส :
แรงกดดันจากโลกยุค AI จะเป็นแรงส่งให้ไทยนิ่งนอนใจไม่ได้ ต้องเร่ง "ปฏิรูป" การเรียนการสอน ตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงระดับมหาวิทยาลัย และ AI อาจจะช่วยในการเรียนการสอนได้ แต่ยังไม่การันตี
อุปสรรค
ทุกชาติ "ตื่นตัว" เรื่องการศึกษา ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ จะเร่งเครื่องสุดกำลัง พร้อมลงทุน "พัฒนาคนรุ่นใหม่" เพื่อการแข่งขันในเศรษฐกิจยุค AI และมักมีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าไทย
.
8. "สิ่งแวดล้อมแย่ลง ภัยพิบัติเพิ่มขึ้น"
ฝนตกหนัก น้ำท่วมรุนแรง ดินถล่ม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ป่า ฝุ่นพิษ pm2.5 สารพันปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่มีแนวโน้วดีขึ้น เพราะ "ภาวะโลกปั่นป่วน" ขณะที่ประเทศพัฒนาเตรียมหาหนทางป้องกันและบรรเทา แม้จะสร้างข้อกำหนดเพื่อการลดภาวะโลกร้อน แต่ความร่วมมือมา "ช้าเกินไป"
โอกาส :
ความกดดันทาง "การค้าระหว่างประเทศ" กำหนดให้ทุกบริษัทต้องมีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ใครทำได้ตามข้อกำหนดก่อน ย่อมได้เปรียบ ใครมีเทคโนโลยีลดมลพิษ ย่อมมีโอกาสทางธุรกิจ
อุปสรรค :
องค์กรหรือประเทศที่ปรับตัวไม่ทัน จะค้าขายได้ยาก ถูกกีดกัน เสียเปรียบ ขณะที่รัฐต้องเตรียม "งบประมาณ" ระยะยาว เพื่อสร้างระบบป้องกัน "ภัยพิบัติ" อย่างจริงจัง ก่อนสายเกินไป
.
9. "โลกเทคโนโลยีสุขภาพ มาถึงแล้ว"
ความต้องการ "อายุยืน" และ "สุขภาพดี" ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการแพทย์ ทั้งการใช้ AI เพื่อวินิจฉัยโรคได้ "แม่นยำ" ทั้งการผลิตยา "เฉพาะคน" ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการรักษาด้วย "การแพทย์อัจฉริยะ" ที่กำลังบูมทั่วโลก
โอกาส
การดูแล ป้องกัน และรักษาผู้ป่วย จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
.
อุปสรรค
จะเกิด "ความเหลื่อมล้ำ" ทางการรักษา เพราะของดีย่อมมีราคาแพงมาก และไทยจะเสียดุลการค้ามหาศาล เพราะเทคโนโลยีการแพทย์จะราคาแพงขึ้นแบบ "ก้าวกระโดด" เพราะอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในประเทศ ไม่ได้รับการสนับสนุน
.
ปี 2025 จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายยิ่งของประเทศไทย มีทั้ง "โอกาส" มากมาย สำหรับผู้ที่ "กล้าเปลี่ยนแปลง" และมีทั้ง "อุปสรรค" รออยู่ พร้อมสู้หรือยังครับ
.
ศาสตราจาย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
#รู้ไว้ไม่เสียหาย #เอ้สุชัชวีร์ #เทรนด์โลก
Comentários