สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เชิญชวนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ที่แจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจและผ่านการพิจารณาเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว เร่งดาวน์โหลดและใช้เครื่องหมายรับแจ้ง “ETDA DPS NOTIFIED” ยกระดับมาตรฐานบริการที่ผู้ใช้ทุกคนมั่นใจ โปร่งใส สามารถตรวจสอบและยืนยันตัวตนได้ ตามที่กฎหมาย DPS กำหนด หลังพบแพลตฟอร์มดาวน์โหลดและนำเครื่องหมายรับแจ้งไปแสดงบนบริการแล้ว 55 แพลตฟอร์ม โดยบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) ใช้มากที่สุด
ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่ ETDA ในฐานะหน่วยงาน Co-Creation Regulator ที่มีบทบาทในการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ กฎหมาย DPS หรือ Digital Platform Service (พระราชกฤษฎีกา การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565) ได้เปิดระบบให้ ธุรกิจผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป มาตรา 8 วรรคหนึ่ง มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท/ปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 ราย/เดือน ที่ได้ดำเนินการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจตามกฎหมาย DPS เรียบร้อยแล้ว ยื่นความประสงค์ดาวน์โหลดใช้เครื่องหมายรับแจ้ง “ETDA DPS NOTIFIED” ผ่านระบบของ ETDA ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2567 พบว่า มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าดาวน์โหลดเครื่องหมายรับแจ้งแล้วทั้งสิ้น 55 แพลตฟอร์ม โดยเป็นแพลตฟอร์มประเภทบริการตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) มากที่สุด จำนวน 18 แพลตฟอร์ม รองลงมาคือ บริการการสื่อสารออนไลน์ (Online Communication) จำนวน 10 แพลตฟอร์ม และ บริการคลาวด์ (Cloud service) จำนวน 7 แพลตฟอร์ม บริการสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) จำนวน 3 แพลตฟอร์ม เป็นต้น ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มก็ได้นำเครื่องหมายไปแสดงบนบริการของตนเอง เพื่อยืนยันตัวตนและสร้างความมั่นใจว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวได้ผ่านการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA ตามที่กฎหมาย DPS กำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผู้ใช้บริการที่ใช้บริการแพลตฟอร์มและเห็นเครื่องหมายดังกล่าว คลิกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง รวมกว่า 2,350 ครั้ง (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ธ.ค.2567)
“ETDA DPS NOTIFIED ไม่เพียงช่วยยืนยันว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีเครื่องหมายนี้แสดงอยู่ได้ผ่านการแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจกับ ETDA ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นช่องทางสำคัญที่ใช้ในการตรวจสอบแหล่งที่ตั้งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เพราะเมื่อผู้ใช้บริการคลิกเข้าไปที่เครื่องหมายนี้ ก็จะทราบถึงรายละเอียดของผู้ให้บริการ อาทิ ชื่อและประเภทของผู้ประกอบธุรกิจ สถานที่ติดต่อได้ เลขที่/ประเภทธุรกิจแพลตฟอร์ม รวมถึงสถานะของเครื่องหมาย เป็นต้น เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มั่นใจว่า บริการแพลตฟอร์มที่ตนเลือกใช้งานอยู่นั้น มีตัวตน หากเกิดปัญหาการใช้งาน สามารถติดต่อได้ และมั่นใจได้ว่า แพลตฟอร์มที่เลือกใช้จะมีมาตรฐานในการดูแล ช่วยเหลือและเยียวยา สอดคล้องกับที่กฎหมาย DPS กำหนด”
ดังนั้น เพื่อร่วมสร้างมาตรฐานใหม่ของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่คนไทยทุกคนมั่นใจ ตรวจสอบได้ โปร่งใสและเป็นธรรม ETDA จึงขอเชิญชวนผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไป เร่งดำเนินการยื่นความประสงค์ขอใช้เครื่องหมายรับแจ้ง ETDA DPS NOTIFIED และนำเครื่องหมายไปแสดงบนบริการของตนเองยังจุดที่ผู้ใช้บริการสังเกตเห็นได้ชัด โดยสามารถดำเนินการได้ผ่านระบบรับแจ้งของ ETDA ที่ https://eservice.etda.or.th/dps/th/login
Comments