ในยุคที่โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33 อินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ 5 และมีโซเชียลมีเดียเป็นโลกใบที่ 2 เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ พาทุกคนก้าวข้ามทุกขีดจำกัด เชื่อมโลกทั้งใบให้ใกล้เพียงปลายนิ้ว พาคนไกลให้พูดคุยกันได้แบบเรียลไทม์ แต่ในวันที่เราติดต่อใคร ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ทั้งยังหาความบันเทิงได้ตลอดเวลา ความเป็นจริงแล้วพบว่า ไลฟ์สไตล์ที่ดูเหมือนแทบไม่มีเวลาให้โดดเดี่ยว กลับทำให้เกิดภาวะการเผชิญกับความเหงาแบบไม่รู้ตัว ที่ไม่ว่า Gen ไหน วัยไหน ต่างก็มีความรู้สึกนี้ไม่ต่างกัน ซึ่งองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เคยประกาศว่า ความเหงาเป็นภัยคุกคามระดับโลก ไม่ต่างจากโรคอ้วน แถมอันตรายไม่แพ้การสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน
สารพัดความบันเทิงบนโลกดิจิทัลมากมาย แต่ทำไมเรากลับยิ่งเหงายิ่งกว่าเดิม? คำถามนี้คงชวนให้ใครหลายคนสงสัย บ้างก็อาจเคยประสบกับภาวะเหล่านี้กันมาก่อน และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ก็ได้ชวนคนต่างวัย อย่าง คุณอุษา เสมคำ นักแสดงนำจากภาพยนตร์หลานม่า คุณอ้น ชิตวร และ คุณยายประพิศ ม่วงคู จากช่อง TikTok : ละอ่อน Live Game พร้อมด้วย คุณวันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการศึกษา มาร่วมล้อมวงแชร์ประสบการณ์ความรู้สึกเหงา พร้อมแนวทางการปรุงแต่งไลฟ์สไตล์ให้ บาลานซ์ให้คลายเหงาได้อย่างน่าสนใจในเวที #ETDALive ไลฟ์กำลังดี EP.2 ในหัวข้อ “All GENs Enjoy ดิจิทัล...โลกใหม่ของคนเหงา”
· โลกดิจิทัลไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ทำไมยังเหงา?
แม้จะสามารถติดต่อพูดคุยกับผู้คนได้ทั่วโลก มีเพื่อนในโซเชียลมีเดียหรือผู้ติดตามมากมาย แต่ทำไม ยังรู้สึกว่างเปล่า แม้จะมีทั้งหนัง เพลง เกม ความบันเทิงออนไลน์ให้เลือกเล่น เลือกชม เลือกฟังเต็มไปหมด แต่ก็ยังไม่วายรู้สึกเหงา...จริงๆ แล้วความเหงา คือ อะไรกันแน่ ?
จากการพูดคุยในเวที ETDA Live ครั้งนี้ อธิบายง่ายๆ ว่าความเหงา เป็นความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นเวลาที่รู้สึกโดดเดี่ยว อ้างว้าง ไม่มีใครอยู่เคียงข้างหรือรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียวบนโลกใบนี้ โดยหลักๆ แล้วจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ความเหงาทางสังคม (Social loneliness) ซึ่งเกิดจากการขาดการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น ขาดการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ห่างหายจากการออกไปพบปะผู้คน และ ความเหงาทางอารมณ์ (Emotional loneliness) ซึ่งต่างจากแบบแรก คือ แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายแต่ก็ยังรู้สึกเหงาอยู่ดี เป็นความรู้สึกจากเบื้องลึกภายในจิตใจที่เกิดจากการขาดความมั่นคงทางอารมณ์ รู้สึกโหยหาความรัก ความเข้าใจ และการยอมรับ นั่นเอง
· พาไปสำรวจจิตใจ ผ่าน 3 สาเหตุ ที่อาจจะพาเราสู่ความเหงา…แบบไม่รู้ตัว
เมื่อเกิดความรู้สึกเหงาคนส่วนใหญ่ก็มักจะหาอะไรทำฆ่าเวลา แก้เบื่อ แก้เหงา ซึ่งหนึ่งในวิธี คลายเหงาที่ง่าย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดของคนยุคนี้คงหนีไม่พ้น การหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น แชทหาเพื่อน ส่องโซเชียลมีเดีย เลื่อนฟีดดู เล่นเกม ฯลฯ ซึ่งดูเหมือนพอจะคลายเหงาลงได้ แต่ในความเป็นจริงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยิ่งเล่นโทรศัพท์มือถือหรือฝังตัวอยู่ในโลกออนไลน์นานเท่าไหร่กลับยิ่งรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวยิ่งกว่าเดิม ซึ่งในวงสนทนาได้ให้ความเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เรายังเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยว ทั้งที่บนโลกดิจิทัลมีสื่อให้เราเสพมากมายตลอดเวลา อาจเป็นเพราะ 3 สาเหตุหลักๆ ดังนี้
1. ยิ่งใกล้...ยิ่งไกล ยิ่งไถ…ยิ่งเหงา – เพราะความสัมพันธ์ผ่านจอ ไม่ฮีลใจ
คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างไปกับกิจกรรมบนโลกออนไลน์และพูดคุยกันผ่านจอมือถือมากกว่าเจอหน้ากัน แม้ทำให้รู้สึก “เหมือน” ใกล้ชิดมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงหลายคนต่างเห็นด้วยว่า การปฏิสัมพันธ์กันบนจอยังไม่สามารถทดแทนการพูดคุยกันแบบเจอหน้าได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการการอยู่ร่วมกันมีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อต้องการการเป็นส่วนหนึ่งและการยอมรับ แต่วันนี้ หลายคนกลับเทความสนใจและใช้เวลาไปกับคนหรือเพื่อนในโลกออนไลน์มากกว่าโลกแห่งความเป็นจริง จนทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดที่อยู่ใกล้ตัว รวมถึงขาดการโฟกัสกับกิจกรรมที่อยู่ตรงหน้า จนทำให้ความเหงา ความโดดเดี่ยวถูกสะสมในจิตใจโดยไม่รู้ตัว
2. ยิ่ง Social ยิ่งเศร้า-เพราะมัวแต่เอาความสุขไปผูกกับยอดไลค์
มีคนจำนวนไม่น้อยใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ เรียกร้องความสนใจ หรือสร้างตัวตนให้เป็นที่ยอมรับ เมื่อโพสต์อะไรลงไปก็คาดหวังว่าจะมีคนมากดไลค์ กดแชร์ คอมเมนต์ หรือเข้ามาดูเยอะๆ แต่พอไม่เป็นดังหวังก็รู้สึกเสียใจ สูญเสียความมั่นใจ รู้สึกไม่ได้รับความสนใจ ไม่มีใครเห็นความสำคัญ รู้สึกหดหู่ โดดเดี่ยว เหงา อ้างว้างกว่าเดิม
3. ยิ่งเห็น ยิ่งเทียบ ยิ่งทุกข์ – เพราะชอบเปรียบเทียบชีวิตตนเองกับผู้อื่น
การเห็นชีวิตผู้อื่นผ่านโซเชียลมีเดียโดยเฉพาะคนที่ดูชีวิตดี มีความสุขมากกว่า สบายกว่า มีหน้าที่การงานดีกว่า ประสบความสำเร็จกว่า หรือแวดล้อมไปด้วยเพื่อนฝูง ครอบครัวที่อบอุ่น มีชีวิตรักที่สมหวังกว่า ก็อดไม่ได้ที่จะนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเอง ทำให้เกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีรู้สึกว่าชีวิตตัวเองยังไม่ดีพอ ไม่เป็นที่รัก เกิดความรู้สึกอิจฉาและนำมาซึ่งความรู้สึกโดดเดี่ยวในใจและเกิดความรู้สึกด้านลบอื่นๆ ตามมา
· ต่าง GEN ต่างใจ วิธีคลายเหงา-โดดเดี่ยว จึงต่างกัน!
ในวงพูดคุยต่างสะท้อนว่า การใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้นจะส่งผลให้ความเหงาเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่หากใช้ลดลงความเหงาและโดดเดี่ยวก็จะลดลง โดยวัยรุ่นยุคใหม่ หรือ Generation Z (ผู้ที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2556) เป็นกลุ่มที่เรียกได้ว่าเป็น Digital Native กำลังกลายเป็นกลุ่มวัยที่มีความเหงาสูงกว่า Gen อื่นๆ ที่สำคัญดูเหมือนสูงกว่ากลุ่มผู้สูงอายุด้วย ทั้งที่ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเกษียณ ไม่ได้ทำงาน ต้องอยู่บ้านตามลำพังเพราะลูกหลานส่วนใหญ่ออกไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ จะไปไหนมาไหนก็ไม่ค่อยสะดวก เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันก็ทยอยล้มหายตายจาก หลายคนจึงมักมองว่า กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่จะมีความรู้สึกเหงามากที่สุด แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่ ตัวแทนฝั่งผู้สูงวัยที่มาร่วมสนทนากับ ETDA Live ลงความเห็นว่า พวกเขาไม่ค่อยรู้สึกเหงาเท่าไหร่ เพราะเมื่อไหร่ที่เริ่มรู้สึกเหงาก็จะหาอะไรทำทันที เช่น โทรศัพท์พูดคุยกับลูก กับเพื่อน เดินออกไปพูดคุยกับเพื่อนบ้าน หรือออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เรียนเต้นรำ ทำสวน ตัดต้นไม้ ซึ่งแม้จะดูเป็นคำตอบที่เรียบง่าย ซึ่งกิจกรรมที่พวกเขาเลือกทำส่วนใหญ่ ล้วนเป็นกิจกรรมนอกโลกออนไลน์ทั้งสิ้น
· “ดิจิทัล” กาวใจเชื่อมคนต่าง Gen ให้ Enjoy ไปด้วยกัน
“ความต่าง” ของเจเนอเรชันทำให้เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตต่างกัน และแทบจะไม่มีผลเลยกับกลุ่มผู้สูงวัยที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่ไม่มีดิจิทัลมาก่อน แต่เมื่อโลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อย ก็พยายามปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี เพื่อติดต่อพูดคุยกับลูกหลาน ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลกลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมกระชับความสัมพันธ์และลดช่องว่างระหว่างวัย ทำให้คนต่าง Gen มา Enjoy กิจกรรมต่างๆ ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมยอดฮิตอย่างการส่ง Sticker line หรือภาพสวัสดีตอนเช้าไปทักทายลูกหลาน การ VDO call ที่สามารถคุยกันแบบเห็นหน้าและได้ยินเสียงกันได้แบบ Real Time หรือใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ ติดต่อพูดคุย ทำกิจกรรมออนไลน์ด้วยกันทำให้สมาชิกในครอบครัวที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่ก็เหมือนอยู่ใกล้ เพราะติดต่อสื่อสารพูดคุยกันได้ตลอดเวลา
ที่สำคัญ เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ยังเปรียบเสมือนเครื่องบันทึกความทรงจำ บันทึกภาพของคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ช่วยเก็บโมเมนต์ความประทับใจหรือช่วงเวลาอันแสนพิเศษของคนในครอบครัวได้ ทุกครั้งที่ย้อนกลับไปดูก็จะรู้สึกเหมือนได้ย้อนเวลากลับไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ อีกครั้ง และในวันที่ใครคนใดคนหนึ่งหาย…ภาพและเสียงเหล่านั้นก็จะยังคงอยู่ในความทรงจำตลอดไป
· เจาะทริค “ไม่ทุกข์ สร้างสุข” บนโลกดิจิทัล
แม้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียจะมีส่วนตอกย้ำเพิ่มความเหงา แต่หากใช้อย่างถูกวิธีและพอเหมาะพอดีก็มีข้อดีอยู่มาก โดยในวงพูดคุยร่วมแชร์ทริคการใช้โซเชียลมีเดียและอยู่บนโลกดิจิทัลอย่างมีความสุขไว้ ดังนี้
1. ใช้โซเชียลมีเดียอย่างเข้าใจ หยุดคาดหวังยอดไลค์ ยอดวิว
ควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อให้เราสามารถติดต่อสื่อสารรับรู้ความเป็นไปของเพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง คนรู้จักที่ห่างหายกันไปนาน คนที่ไม่สามารถเจอกันในชีวิตจริงหรือไม่สามารถเจอกันบ่อยๆ ได้ แต่อย่าให้โซเชียลมีเดียเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตมากเกินไป อย่ายึดติดกับออนไลน์จนละเลยความสัมพันธ์กับคนในชีวิตจริง และอย่าเอาความสุขไปผูกไว้กับยอดกดไลค์ แชร์ คอมเมนต์ หรือยอดวิว รวมทั้งไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น
2. มีช่วงเวลา “Detox” ออกไปพบปะผู้คน
ออกจากสังคมก้มหน้า หันมาใช้ชีวิตแบบ Face-to-Face บ้าง นัดเจอเพื่อนสนิท คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงที่ไม่ได้เจอะเจอกันมานานออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กินข้าว เดินเล่น ช็อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง ท่องเที่ยว ฯลฯ พูดคุยกันและให้ความสำคัญกับคนตรงหน้าโดยไม่หยิบมือถือขึ้นมา
3. Back to the basic กลับสู่ชีวิตจริงที่เคยมี
หากอยู่คนเดียวก็กลับมาให้เวลากับตัวเองมากขึ้น เปลี่ยนจากการฝังตัวอยู่แต่ในโลกออนไลน์ออกไปใช้ชีวิตออนไซต์ ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชื่นชอบ เช่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เล่นกีฬา ปลูกต้นไม้ เสริมสวย เล่นกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
แม้ว่าโลกดิจิทัลจะเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยเร่งความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวให้เกิดขึ้นได้กับคนทุก Gen แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ เพราะการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในชีวิตจริง นัดพบเพื่อนสนิทหรือครอบครัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ออกไปใช้ชีวิตในโลกออฟไลน์ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือทำสวน หรือแม้แต่การลองทำ Digital Detox ก็ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญ ที่จะช่วยปลดล็อกความเหงา สร้างสุขให้เราได้ง่ายๆ แค่เริ่มจากตัวเรา…
Comments