GISTDA เผยภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-9 ของวันที่ 10 ตุลาคม 2566 พบพื้นที่น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ 132,000 ไร่ ในบางส่วนของจังหวัด #หนองคาย #บึงกาฬ #สกลนคร #อุดรธานี บริเวณลุ่มน้ำโขง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และชุมชนที่อยู่อาศัยริมน้ำ ขอให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวและใกล้เคียง โดยเฉพาะตามแนวริมตลิ่ง ริมลำน้ำสายหลักสายรอง เฝ้าสังเกตสถานการณ์และติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด
สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป
สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง
ด้านกรมชลประทาน จัดเต็ม! ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วม ช่วยเหลือประชาชน
กรมชลประทาน จัดเต็มติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ เร่งระบายน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ตามนโยบายของรัฐบาล และ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ จังหวัดมหาสารคาม ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฮดรอลิกสูบน้ำ จำนวน 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำ(ปตร.)ท่าตูม ตำบลท่าตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง บริเวณหมู่ 3 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าหลวง (บริเวณที่ คันกั้นน้ำบ้านท่าหลวง) จังหวัดฉะเชิงเทรา ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 10 ทุ่น บริเวณคลองบางกระดาน และคลองบางกระเจ็ด ตำบลบางกระเจ็ด อำเภอบางคล้า จังหวัดปทุมธานี ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 12 นิ้ว พร้อมเร่งระบายน้ำในพื้นที่คลองส่งน้ำ 9 ซ้าย และ พื้นที่คลองส่งน้ำ 7ซ้าย อำเภอคลองหลวง ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการเร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแนวทางในการระบายน้ำ และเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากพี่น้องประชาชนต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือสายด่วน กรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
ด้านสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ออกประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2566 เรื่อง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีความเสี่ยง และน้ำล้นตลิ่ง
เนื่องจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีปริมาณฝนตกหนักสะสม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 9 – 12 ตุลาคม 2566 ส่งผลให้น้ำหลากลงสู่ลุ่มน้ำและอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่ด้านท้ายอ่างเก็บน้ำ ในช่วงวันที่ 12 - 18 ตุลาคม 2566 ดังนี้ 1. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และแม่มอก จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง และหนองหาร จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ คาดการณ์ว่าจะมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน และมีแนวโน้มปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 2. พื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 2.1 แม่น้ำยม บริเวณ อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก ศรีสำโรง เมืองสุโขทัย และกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย อำเภอพรหมพิราม และบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก อำเภอสามง่าม และโพทะเล จังหวัดพิจิตร 2.2 แม่น้ำมูล บริเวณสถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คาดการณ์ว่าระดับน้ำจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +113.00 ถึง +113.50 เมตร ระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าตลิ่ง 1.00 – 1.50 เมตร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ดอนมดแดง ตระการพืชผล และม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี 2.3 แม่น้ำยัง บริเวณสถานี E.92 อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คาดการณ์ว่าระดับจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงกว่าตลิ่ง 1.00 - 1.50 เมตร ในวันที่ 10 - 11 ตุลาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำบริเวณ อำเภอเสลภูมิ และโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด และลดลงต่ำกว่าตลิ่ง ในวันที่ 13 - 14 ตุลาคม 2566 ในการนี้ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้ 1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ 2. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที 3. วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยปรับแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และระบบชลประทานเพื่อเป็นการหน่วงน้ำที่ไหลลงมาสมทบแม่น้ำสายหลักให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล และแม่น้ำเจ้าพระยา 4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการขนของขึ้นสู่บริเวณที่สูงหรืออพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ ประกาศ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2566
Comments