top of page

Mainstreaming Leaving No One Behind in Sustainable Highlands Development หลักสูตรที่มูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. จัดสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมบนพื้นที่สูง

Sustainable Highlands


เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรนานาชาติ Mainstreaming Leaving No One Behind in Sustainable Highlands Development ณ ห้องประชุม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ อ.เมือง จ.เชียงใหม่


การจัดอบรมหลักสูตรนานาชาติในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากมูลนิธิโครงการหลวง พร้อมด้วยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 28 มิถุนายน 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจาก 11 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา คีร์กีซสถาน สปป.ลาว เมียนมา เนปาล ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ติมอร์-เลสเต และประเทศไทย ที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้หลักการพัฒนาแบบโครงการหลวง การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาพื้นที่สูง และการพัฒนาที่ครอบคลุมกลุ่มคนด้อยโอกาสบนพื้นที่สูง ณ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง จังหวัดเชียงใหม่

 

ตลอดระยะเวลากว่า 5 ทศวรรษ โครงการหลวงซึ่งเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแห่งแรกของประเทศ ได้มุ่งลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนบนพื้นที่สูงที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีฐานะยากจน ให้ได้รับโอกาสโดยนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมไปพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้จากการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์กว่า 300 ชนิด ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การต่อยอดภูมิปัญญาชนเผ่าเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งการบูรณาการหน่วยงานในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นกับชุมชน  การพัฒนาแบบโครงการหลวงจึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  ด้วยการสร้างโอกาสและความเสมอภาคให้กับชุมชนบนพื้นที่สูง ให้เข้าถึงความรู้เพื่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาอาชีพ รวมทั้งการเสริมสร้างให้กลุ่มคนทั้งที่เป็นวัยทำงาน เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุ ให้มีศักยภาพและบทบาทที่สมวัย

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่นำรูปแบบการพัฒนาแบบโครงการหลวงอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงของประเทศที่มีจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายการเรียนรู้ ในระยะปี พ.ศ.2566-2570 ที่ไม่เพียงแต่มุ่งพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงที่ห่างไกล แต่ยังมุ่งมั่นที่จะขจัดความยากจนทุกรูปแบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ   

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page