กทม. ลุยติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและปรับปรุงทางข้ามทั่วกรุง ป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้ทางข้าม
วันที่ 7 พ.ย.66 นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและโฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรและปรับปรุงทางข้าม ว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งสัญญาณไฟจราจร เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกประชาชนผู้ใช้ทางข้ามมาอย่างต่อเนื่อง สัญญาณไฟจราจรสำหรับคนเดินข้ามถนนปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีทางข้ามถนนผิวจราจร (หรือทางม้าลาย) ทั้งหมด 2,850 แห่ง โดยจะอยู่บนผิวจราจรใน 2 ตำแหน่งหลักๆ ได้แก่ 1. ทางข้ามที่อยู่บริเวณทางแยกที่มีสัญญาณฟจราจรทางแยก มีทั้งหมด 537 ทางแยก โดยประชาชนสามารถข้ามถนนได้อย่างปลอดภัยตามจังหวะสัญญาณไฟจราจร 2. ทางข้ามที่อยู่ระหว่างทางแยก (Mid Block) ซึ่งจะอยู่บริเวณปากซอย บริเวณหน้าโรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานที่ราชการ แหล่งชุมชนทั่วไปที่มีคนเดินข้ามถนน เป็นต้น มีจำนวนทั้งหมด 2,263 แห่ง
โดยมีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางข้ามดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยสำหรับคนเดินข้ามถนน เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.สัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม ได้ดำเนินการติดตั้งถึงปี 2566 ไปแล้ว จำนวน 1,024 แห่ง ซึ่งจะติดตั้งที่ทางข้ามที่มีปริมาณคนเดินข้ามถนนจำนวนน้อย หรือทางข้ามที่อยู่บนถนนที่มีการจราจรติดขัด 2.สัญญาณไฟจราจรคนเดินข้ามชนิดกดปุ่ม ได้ดำเนินการติดตั้งถึงปี 2566 ไปแล้ว จำนวน 353 แห่ง ซึ่งจะติดตั้งที่ทางข้ามที่อยู่บนถนนตั้งแต่ 3 ช่องจราจรขึ้นไป มีปริมาณคนเดินข้ามถนนจำนวนมาก เช่น ทางข้ามบริเวณหน้าโรงเรียนหรือสถานศึกษา และทางข้ามหน้าโรงพยาบาล และเป็นทางข้ามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้ร่วมพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่กระทบกับการจราจรมากนักจึงเหมาะสมที่จะติดตั้งและเปิดใช้งาน
พร้อมกันนี้ มีแผนในการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้เดินข้ามถนนด้วยการใช้สัญญาณไฟจราจร ในอีก 3 ปีถัดไป โดยในปี 2567 จะดำเนินการติดตั้งสัญญาณฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม จำนวน 15 แห่ง และในปี 2568 - 2569 จะดำเนินการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรทางข้ามชนิดกดปุ่ม ปีละจำนวน 10 แห่ง และติดตั้งสัญญาณไฟกะพริบเตือนทางข้าม ปีละจำนวน 100 แห่ง
นอกจากนี้ยังมีแผนการปรับปรุงและจัดทำทางข้ามในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ปี 2567 ประกอบด้วย ปรับปรุงทางข้ามสีเทอร์โมพลาสติก (สีขาว) จำนวน 500 แห่ง ปรับปรุงทางข้ามสีโคล์ดพลาสติก (สีขาว-แดง) จำนวน 300 แห่ง และงานล้างทำความสะอาดทางข้าม ด้วยเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงพิเศษพร้อมระบบดูดกลับ จำนวน 500 แห่ง
"กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยเชิงรุกในระดับเส้นเลือดฝอยอย่างต่อเนื่อง อาจจะดูไม่รวดเร็วทันใจ แต่ทำอย่างต่อเนื่อง อาจจะดูเป็นการลงทุนเพียงเล็กน้อย แต่ผลลัพธ์ที่ได้รับย่อมคุ้มค่า" นายเอกวรัญญูกล่าวในตอนท้าย
Comments