สำรวจ Mental Health โลกโซเชียล เปิดปัญหากระทบจิต พร้อมวิธีฮีลใจ
ในยุคปัจจุบันสังคมเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันอย่างรวดเร็ว สุขภาพจิตได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสนใจมากขึ้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของอารมณ์และความคิดส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมและวัฒนธรรมโดยรอบ การทำความเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตและความสุขของทุกคนในสังคม
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ในปี 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชมารับบริการถึง 2.9 ล้านคนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของปัญหาสุขภาพจิต สาเหตุหนึ่งมาจากการที่สังคมไทยเริ่มเปิดใจยอมรับและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้น นอกจากนี้ สภาพสังคมปัจจุบันยังมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต เช่น ความไม่สมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนรุ่นใหม่ รวมถึงความหลากหลายของช่วงวัย (Generation gap) ในที่ทำงานซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและความเครียด
บทความนี้ใช้เครื่องมือ DXT360 ฟังเสียงผู้คนบนสังคมออนไลน์ (Social Listening) ของ บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ผู้ให้บริการ Media Intelligence ในการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากโซเชียลมีเดียระหว่าง 1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567 เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและประสบการณ์ด้านสุขภาพจิตของผู้คนในสังคม
การใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยกับปัญหาสุขภาพจิต
จากการรวบรวมความคิดเห็นบนโซเชียลมีเดียพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ 61% ใช้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่เพื่อการโพสต์ระบายความรู้สึกและแสดงตัวตน รองลงมา 22% เป็นการเล่า แลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตของตนเองและผู้อื่น ซึ่งพบว่าผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า มักได้รับผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพจิตด้วย
ถัดมาอีก 11% พบว่า เป็นการให้ข้อมูลและคำแนะนำ ซึ่งเป็นการแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์และวิธีการดูแลรักษาสุขภาพจิตที่ดี และ 6% เป็นการให้กำลังใจ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียแสดงความห่วงใยและให้กำลังใจแก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาสุขภาพจิต
ส่อง Insight เรื่องไหนกระทบใจชาวโซเชียลจนต้องระบาย
โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่สำหรับการระบายความรู้สึกและแชร์ประสบการณ์ เผยให้เห็นถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้คน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน
ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต
ปัจจัยภายนอก คือ สิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจโดยที่บุคคลไม่สามารถควบคุมได้โดยตรง พบว่า
- ปัญหาจากการทำงาน 30%: เนื่องด้วยการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความหลากหลาย และ การขาดสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน (Work life Balance) ซึ่งในขณะเดียวกันเราพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับสุขภาพจิต โดยมีผู้ใช้โซเชียลจำนวนหนึ่งเลือกลาออกจากงานที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าการทนอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสอดคล้องกับแคมเปญธีม “Mental health at Work” จาก World Health Organization (WHO) เนื่องในวันสุขภาพจิตโลกปี 2024 ที่รณรงค์ให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพจิตและการทำงาน เนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และในทางกลับกันสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่ก็ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน
- การรับรู้ข้อมูลมากเกินไป 18%: การรับรู้ข่าวสารเรื่องของคนอื่นมากเกินไป (Over information) โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับไอดอล ศิลปิน รวมถึงข่าวสารเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ข่าวการเกิดภัยพิบัติ หรือ ข่าวอุบัติเหตุ
- การเรียน/การศึกษา 14%: พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยเรียนส่วนมากต่างละเลยสุขภาพในช่วงการสอบเพื่อผลคะแนนที่ดี
- ปัญหาขัดแย้งในครอบครัว 11%: ปัจจัยด้านครอบครัวส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นต่างกันตามช่วงวัย (Generation Gap)
- ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 10%: ชาวโซเชียลจำนวนหนึ่งระบุว่า ความเกรงใจและการละเลยความรู้สึก นำไปสู่ความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงลบ เช่น คู่รัก หรือเพื่อน เป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้ง และความ Toxic สะสม
- ปัญหาการดำเนินชีวิต 9%: โดยเฉพาะเรื่องการจราจรติดขัดและความไม่สะดวกในการสัญจรด้วยรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่มีประสบการณ์เชิงลบจากการเผชิญกับพนักงานขายแบบ Hard Sell เช่น การขายประกัน หรือการขายคอร์สเสริมความงาม ซึ่งสร้างความเครียดและความอึดอัดให้กับผู้บริโภคจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่สะสมได้
- ปัญหาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ 7%: เช่น ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
- การตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ 1%: เช่นโดนมิจฉาชีพแอบอ้างจนก่อให้เกิดความเสียหายทางการเงิน
ปัจจัยภายในที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต
ปัจจัยภายใน มาจากพื้นฐานสภาพจิตใจ ร่างกาย ความรู้สึกนึกคิดของตัวบุคคลเอง ส่งผลต่อสุขภาพจิตของบุคคล สรุปได้ ดังนี้
- ปัญหาด้านสุขภาพกาย 42%: สภาพร่างกายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะจิตใจ
- การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-Esteem) 28%: ความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองมีผลต่อสุขภาพจิต
- ความคาดหวังในตนเอง 23%: เช่น ความคาดหวังคะแนนการสอบ หรือต้องการความสมบูรณ์แบบในการทำงาน
- ประสบการณ์และภูมิหลัง 7%: ภูมิหลังส่วนตัวและประสบการณ์ฝังใจในวัยเด็กส่งผลระยะยาวต่อสุขภาพจิต
พบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติ
จากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย พบวิธีการฟื้นฟูสุขภาพจิตที่ผู้คนบนโซเชียลนิยมใช้ ดังนี้
1. การดูแลสุขภาพร่างกายและใส่ใจกับสุขภาพจิต (43%) โดยมีทั้งการออกกำลังกาย การเลือกรับประทานอาหารที่ชอบ รวมถึงยังพบว่าผู้คนส่วนใหญ่เปิดใจรับการปรึกษากับจิตแพทย์และรับการรักษาโดยใช้ยา
2. การเลือกรับสื่อบันเทิง (22%) ทั้งการดูหนัง ซีรีส์ รวมไปถึงการอ่านนิยายวายที่เริ่มมีบทบาทเข้ามาช่วยให้ผู้อ่านมีความบันเทิง ฟื้นฟูสุขภาพจิตได้
3. การทำ Social Detox (14%) เพื่องดหรือลดปริมาณการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย
4. การระบายความรู้สึก (9%) การพูดคุย ถ่ายทอดเรื่องราวออกมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนใส่กระดาษ การพูดคุยกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว
5. การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม (8%) เช่น การย้ายที่อยู่โดยออกมาอยู่คนเดียว การย้ายที่ทำงาน การเดินทาง การท่องเที่ยว เป็นต้น
6. Pet Therapy (4%) การใช้สัตว์เลี้ยงมาช่วยฮีลใจ หรือฟื้นฟูจิตใจ
จะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน ผู้คนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตมากขึ้น และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง การเลือกปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตบำบัด และนักจิตวิทยา ซึ่งส่งผลให้เกิดการเติบโตของธุรกิจในด้านการดูแลสุขภาพจิต ทั้งโรงพยาบาล คลินิกจิตเวช และศูนย์เวลเนสต่าง ๆ นอกจากนี้ ความเข้าใจและการยอมรับเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดอคติทางสังคม ทำให้ผู้คนรู้สึกมีความปลอดภัยในการเข้าถึงการรักษาและการสนับสนุนทางจิตใจ การลงทุนในบริการเหล่านี้จึงไม่เพียงแต่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ยังเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญในยุคที่ผู้คนมุ่งมั่นต่อการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมมากขึ้น
ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 4 ตุลาคม 2567
Comentarios