โลกเทคโนโลยีและวิศวกรรมทวีบทบาทในวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคต...แวดวงวิศวศึกษาเปิดหน้าใหม่สู่ยุคของคนหนุ่มสาวอีกครั้ง รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ วัย 42 ปี ได้รับเลือกเป็นคณบดีคนใหม่ ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดดเด่นด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ทำงานกว่า 22 ปี ครบเครื่องทั้งเป็นนักบริหาร นักการศึกษาและนักวิจัยที่มีความรู้ความสามารถในวิศวกรรมศาสตร์ระดับอินเตอร์ เผยทิศทางการบริหารคณะวิศวมะหิดล ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์และ 5 คลัสเตอร์ พัฒนาแฟลตฟอร์มงานวิจัยนวัตกรรม วิศวศึกษาและการบริหารจัดการ ตอบสนองเศรษฐกิจ-สังคมและการศึกษายุคใหม่
นับเป็นคนหนุ่มนักบริหารคลื่นลูกใหม่ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ ใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกา กว่า 10 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปริญญาเอกวิศวกรรมการบินและอวกาศ ปริญญาโท 2 ใบจากสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและอากาศยาน และสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ก่อนหน้านี้จบปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าระบบควบคุม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สั่งสมประสบการณ์ความเชี่ยวชาญจากการทำงานในมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์นแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แล้วเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำประสบการณ์ความรู้มาพัฒนาประเทศไทยและเยาวชนไทย โดยเข้าทำงานในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมกว่า 22 ปี แกร่งทั้งในด้านงานวิชาการ การวางแผนยุทธศาสตร์ การบริหารงาน บริหารโครงการ ร่วมผลักดันความสำเร็จในการยกระดับ 6 หลักสูตรของวิศวะมหิดล ได้รับการรับรองมาตรฐานโลก ABET สหรัฐอเมริกา อีกทั้งเสริมพลังความร่วมมือกับพันธมิตรการศึกษาและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเครือข่ายวิจัยและโครงการระหว่างประเทศ
ในสังคมและเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยพัฒนานวัตกรรม เขาเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศมากมาย เช่น การควบคุมวงโคจรสำหรับดาวเทียม Cube Satellites, การควบคุมติดตามการเคลื่อนที่และเสถียรภาพของเรือชนิด Nonlinear Rigid-Body Ship, การควบคุมความแม่นยำวงโคจรดาวเทียมอย่างอัตโนมัติภายใต้แบบจำลองที่แปรผันตามเวลาและสิ่งแวดล้อมที่ไม่แน่นอน, การวิเคราะห์เสถียรภาพของระบบป้องกันการสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสารรถยนค์, การรักษารูปแบบการเคลื่อนที่ของระบบยานพาหนะภาคพื้นดินแบบไร้คนขับ, การควบคุมการบินของระบบอากาศยานไร้คนขับ, วิธีการรักษารูปแบบการบินและวงโคจรของระบบดาวเทียมในสภาวะแวดล้อมที่แปรผัน เป็นต้น
รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคนใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงาน Meet the Dean ว่า ในฐานะผู้นำคนใหม่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะมุ่งนโยบายบริหารและขับเคลื่อนองค์กรด้วย วิสัยทัศน์ วิจัยบูรณาการและการศึกษาสากลมุ่งสู่วิศวกรรมระดับโลก (Interdisciplinary Research and Internationalized Education towards World-Class Engineering) และพันธกิจ ในการเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อสังคมโลก ด้วยการวิจัย นวัตกรรม และวิชาการทางวิศวกรรมระดับโลก ภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1. การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางวิศวกรรมด้วยพหุศาสตร์เพื่อตอบโจทย์สังคมและโลก 2. พัฒนาวิศวศึกษาอย่างมุ่งผลลัพธ์ เพื่อสร้างสมรรถนะของผู้เรียนในระดับโลก 3. ผนึกความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ยกระดับบริการทางวิศวกรรมด้วยเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 4. ดำเนินงานบริหารจัดการโดยยึดหลักวิศวกรรมที่ยั่งยืนและวิศวกรรมเพื่อสังคม 5. สร้างเสริมแบรนด์วิศวะมหิดล และพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เพื่อการแข่งขันระดับโลก โดยจะเน้นการวิจัยและผลักดันการศึกษาให้สอดรับกับสากลมากยิ่งขึ้น โดยงานวิจัยมุ่ง 5 คลัสเตอร์ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลก ได้แก่ 1. Healthcare Engineering 2. Logistics and Rail Engineering 3. Digital Engineering 4. Sustainable Engineering 5. Applied Chemical Engineering
คณบดีวิศวะมหิดลคนใหม่ กล่าวถึง การพัฒนาแพลทฟอร์มงานวิจัยและนวัตกรรมรองรับเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ว่า เราจะสนับสนุนงานวิจัยทั้ง Fundamental และ Frontier Research ต่อยอดงานวิจัยขั้นสูง ผลักดันสร้างเสริมนักวิจัยสมรรถนะสูงเพื่อสร้างชื่อเสียงและ Ranking สนับสนุนเงินทุนแก่นักวิจัยและ นศ.ป.เอก ระดมทุนวิจัยจากแหล่งทุนภายในและต่างประเทศ พัฒนาความร่วมมือกับองค์กรเอกชนและภาคอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ส่งเสริมการตีพิมพ์ผลงานวิจัยคุณภาพสูง สนับสนุนนักวิจัยรุ่นใหม่ สร้างสรรค์ Startups และผู้ประกอบการด้านวิศวศึกษา ซึ่งปัจจุบัน 6 หลักสูตร ป.ตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการรับรองจากมาตรฐานโลก ABET สหรัฐอเมริกา และจะต่อยอดสู่หลักสูตรอื่นๆในระดับ ป.โท และสนับสนุนมาตรฐาน AUN-QA สำหรับหลักสูตร ป.เอก ด้วย รวมทั้งขยายหลักสูตรสองปริญญา International Dual Degree ไปยังทุกภาควิชา พัฒนาการเติบโตของวิศวศึกษาด้วยการทำ Sandbox หลักสูตรเฉพาะกับคณะอื่นๆ รองรับตลาด Upskill/Reskill พร้อมทั้งความร่วมมือกับสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ
สำหรับระบบการบริหารจัดการ จะพัฒนาให้เป็นระบบดิจิทัล เน้นหลักธรรมาภิบาล ผลักดันการปรับปรุงระบบนิเวศ เพื่อการเรียนการสอนและวิจัยให้เป็นระดับ World-Class University การดำเนินการหน่วยธุรกิจสัมพันธ์ และศิษย์เก่าสัมพันธ์ที่สนับสนุน Marketing Drive รวมทั้งสร้างสรรค์ความเท่าเทียมในการบริหาร ส่งเสริมงานพัฒนาบุคลากร การจัดสวัสดิการที่ดี และส่งสริมการทำงานอย่างมีความสุข
Comments