คมนาคม-ขนส่ง
เมื่อเร็วๆนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานฯ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม รองปลัดกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ และผู้แทนกรมเจ้าท่า โดยมีนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านวิชาการ พร้อมด้วยนายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(Southern Economic Corridor: SEC) เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 2/2565 ผ่านระบบ Zoom Cloud Meeting ณ ห้องประชุมสาครวิสัย ชั้น 4 อาคาร 162 ปี กรมเจ้าท่า
ทั้งนี้ เป็นการจัดประชุมฯ เพื่อรับทราบข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงคมนาคม จากการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา และคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการโครงการฯ รวมทั้งการพิจารณาโครงการฯ ด้านการพัฒนาท่าเรือ ด้านการพัฒนาโครงข่ายด้านการลงทุน และด้านการสื่อสารสาธารณะ เพื่อนำมาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งอ่าวไทยและอันดามันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
อนึ่ง การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจใหม่และทางออกทางทะเลของภาคใต้ตอนบน โดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่ผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และความได้เปรียบทางกายภาพและที่ตั้งของพื้นที่ รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 เห็นชอบในหลักการของกรอบแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวตามที่ สศช. เสนอ โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเร่งดำเนินการตามแผนงานในเบื้องต้น และรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
โดยรูปแบบการพัฒนาพื้นที่ SEC (จังหวัดชุมพร–ระนอง และพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี-นครศรีธรรมราช) ตามกรอบแนวทางการพัฒนา ประกอบด้วย (1) การพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก (Western Gateway) ให้สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายและใช้ประโยชน์ในการเป็นประตูส่งออกสินค้าฝั่งตะวันตกเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC (2) การพัฒนาประตูสู่การท่องเที่ยวอ่าวไทยและอันดามัน (Royal Coast & Andaman Route) พัฒนาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันต่อเนื่องไปจนถึงฝั่งอ่าวไทยตอนบนบริเวณหัวหิน ชะอำ ให้เป็นแนวการท่องเที่ยวชั้นนำแห่งใหม่ และพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรมูลค่าสูง (Bio-Based & Processed Agricultural Products) จากการใช้ทรัพยากรการผลิตทั้งในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการแปรรูปการเกษตรและการประมงในภาคใต้ และ (4) การอนุรักษ์ทรัพยากรและวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ รวมทั้งเมืองน่าอยู่ (Green, Culture & Livable Cities)
Comments