top of page

คืนเขาหัวโล้นเป็นป่าสมบูรณ์ ด้วยกลุ่มผู้พิการ!คำบอกเล่าโดย "วีระศักดิ์ โควสุรัตน์"

สังคม

"คุณกิตติ สืบสันติพงษ์ หนึ่งใน13 ผู้พิการวีลแชร์ที่ขับรถกันไปเอง เพื่อขึ้นชมถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนที่เชียงรายกับผมและคุณกฤษณะ ละไลยปลายปีที่แล้ว เคยบอกผมว่าที่ จังหวัดตาก มีกลุ่มผู้พิการปีนขึ้นเขาไปปลูกป่า จนเปลี่ยนเขาหัวโล้นทีละเนินให้คืนเป็นป่าสมบูรณ์นับร้อยๆไร่ได้สำเร็จ


ผมฟังแล้วทึ่ง อย่างแรกคือ จากท่าสองยาง จังหวัดตาก มาจนแม่สาย ที่เชียงรายต้องใช้เวลา 11ชั่วโมง แต่ก็อุตส่าห์ขับมา เพียงเพื่อขึ้นไปร่วมชมปากถ้ำหลวง แล้วย้อนขับกลับในวันเดียวโดยไม่ค้างคืน!

นับว่าทรหดมาก เส้นทางก็ไกล ผ่านป่าเขา การจะหาห้องน้ำห้องท่า ที่จอดรถทานอาหารที่มีทางลาดย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องวางแผนล่วงหน้าและทำเวลาได้แม่นยำ


ยิ่งพอฟังว่าถึงขนาดขึ้นเขาไปปลูกป่ากันได้ ผมเลยจินตภาพตามไม่ออก จึงบอกคุณกิตติว่า งั้นจะขอตามไปชมผลงานปลูกป่าของเหล่าผู้พิการด้วยตัวเองสักหนให้ได้

บัดนี้ผมนำคณะอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา ไปเยี่ยมและร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่ยอดเขาแห่งนี้กับทีมผู้พิการนักปลูกป่ามาเรียบร้อย

ในคณะเรามี น.ต.วรวิทย์ เตชะสุภากูร ร.น. อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรี คุณเปรมพิมล พิมพ์พันธุ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีพ.ต.อ.พิเศษ สุรภัค รอดโพธิ์ทอง มีคุณณัฐิกาญจน์ สูติพันธ์วิหาร นักวิจัย และคุณการุณย์ พิมพ์สังกุล จากวุฒิสภาร่วมคณะเดินทาง

คุณกิตติอธิบายว่า ถ้าจะแก้เขาหัวโล้น ต้องทำหมวกต้นไม้ที่ยอดเขาให้สำเร็จก่อน

ไม้เบิกนำที่ยอดจะปล่อยผลกลิ้งลงมาตามแรงโน้มถ่วงให้ในภายหน้าถ้าไม่เริ่มที่ยอด แนวต้นไม้จะขึ้นถึงยอดเขายาก

และนี่คือเรื่องราวที่อยากเล่าครับ


จุดที่คณะเราไปร่วมปลูกป่าคราวนี้ อยู่บนยอดเนินสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ของบ้านเลอตอ ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พื้นที่เป็นเขาหัวโล้นเพราะถูกบุกรุกตัดเผา ขยายการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อันเป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ขยายรุกทำลายป่าอย่างสำคัญ แถมเมื่อเก็บฝักแล้วต้นก็หมดอายุ ผู้ปลูกมักจุดไฟเผาตอซังทิ้ง เพื่อเตรียมปลูกรอบใหม่ ซึ่งยิ่งต้องใช้เคมีมากขึ้น เพราะจุลินทรีย์ในดินถูกเผาทำลาย หน้าดินถูกเผาจนแข็งกระด้าง สิ่งที่จะงอกขึ้นมาแข่งกับต้นข้าวโพดจึงมักเป็นวัชพืชที่ต้องกำจัด

และแน่นอน ด้วยแปลงกว้างใหญ่ในที่ลาดชันขนาดนั้น การถอนวัชพืชย่อมไม่ง่าย จึงลงเอยด้วยการพ่นยาฆ่าหญ้า ! หรือไม่ก็เผา ซึ่งย่อมก่อฝุ่นควัน เกิดจุดความร้อนในเขตป่า อันตรายต่อคน สัตว์ป่า อากาศเสียและต้นน้ำก็ปนเปื้อนเคมีไปด้วย

เมื่อไม่มีป่าคลุมภูเขาไว้ เม็ดฝนที่ตกลงมาย่อมกระแทกตรงถึงพื้นดิน ไม่ได้ค่อยๆหยดผ่านใบไม้หรือไหลตามกิ่งก้านของป่า เม็ดฝนจึงชะหน้าดินบนไหล่เขาอย่างรวดเร็ว และไหลพาเอาตะกอนปนเคมีการเกษตรลงสู่พื้นที่ด้านล่าง

สร้างปัญหาทั้งน้ำท่วม โคลนถล่ม และพาน้ำที่ปนเปื้อนสารพิษไปตามทาง

เป็นวงจรทำลายทั้งสุขภาพ ทำลายธรรมชาติยังงี้มานานแล้ว

คุณกิตติ คือผู้พิการที่ย้ายมาอาศัยในพื้นที่ปลายน้ำของที่นี่

ก่อนนั้น คุณกิตติเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล ของทหารพราน ต่อมาเป็นครู จนวันหนึ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์กลายเป็นผู้พิการบนรถเข็น

แต่คุณกิตติไม่ท้อหรือหมดกำลังใจ

โดยเมื่อคุณกิตติได้ทราบว่า มาตรา 35 ของพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างทุก 100คน ขึ้นไป ต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน (ถ้าไม่ได้จ้าง ก็ต้องจ่ายเงินเท่าค่าจ้างนั้นเข้ากองทุนที่กระทรวงการพัฒนาสังคมหรือนำมาอุดหนุนกิจกรรมผู้พิการแทน)

คุณกิตติจึงประสานงานกับ มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ให้ช่วยแจ้งผู้ประกอบการที่ประสงค์จะสนับสนุนโครงการดีๆ ของผู้พิการในการทำภารกิจต่างๆ

บ่อยครั้งที่ผลตามมาตรานี้จะเป็นการจ้างผู้พิการทำงานเล็กๆน้อยๆ ตามบริษัท บ้างก็จ่ายค่าจ้างให้ทำงานอยู่ที่บ้านของผู้พิการนั้นเอง ทำให้โอกาสก้าวหน้ามีน้อย โอกาสก้าวหน้าจึงน้อย เสมือนจ้างปีต่อปี ผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

ศักดิ์ศรีและความมั่นคงในการมีงานทำของคนพิการตามมาตรานี้จึงอาจลุ่มๆดอนๆ

หลายกรณีจึงเหมือนจ้างสงเคราะห์ แนวมนุษยธรรมมากกว่าจะจ้างเพื่อสร้างความชำนาญเพื่อให้อยู่กับองค์กร

ถ้าถามว่าก็ยังดีกว่าจะไม่มีกฏหมายกำหนดให้จ้างใช่ไหม

ก็ตอบว่าดีกว่าแน่สำหรับคนพิการที่ไม่รู้ว่าที่จริงแล้ว เขายังมีศักยภาพจะทำอะไรอีกบ้าง

แต่สำหรับคนที่เคยผ่านประสบการณ์มาหลากหลาย มีทัศนคติที่เป็นบวก คุณกิตติและคณะผู้พิการที่จ.ตากไม่ได้ต้องการรับรายได้แบบนั้น แต่อยากทำอะไรที่เป็นวงจรที่ใหญ่ท้าทายกว่า จึงรวบรวมคนพิการในพื้นที่ใกล้เคียงมาตั้งเป็นสมาคมคนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหว จังหวัดตาก แล้วเสนอตัวเข้าทำโครงการอาสา "สร้างป่า สร้างรายได้ " ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเน้นเรื่องการฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่ถูกทำลาย

คุณกิตติยื่นเรื่องต่อกรมป่าไม้ เพื่อขออนุญาตเข้าฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติท่าสองยาง มาเรื่อยๆ เริ่มด้วยการขออนุญาตกับพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ช่วงท่านเป็นรัฐมนตรีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2561 แล้วทยอยลุยเข้าปลูกจนคิดเป็นพื้นที่รวมๆแล้ว 170 ไร่ ตามเอกสารที่ได้ส่งมอบป่าสมบูรณ์คืนให้กรมป่าไม้ในวันที่คณะของเราไปถึง

ยังไม่นับอีกร้อยกว่าไร่ อย่างไม่เป็นทางการที่กลุ่มผู้พิการทำก็ช่วยแถมๆบำรุงให้บ้าง ปลูกเสริมให้เองบ้าง ในที่ป่าเสื่อมโทรมต่างๆให้ไปเรื่อย โดยทุกชิ้นเป็นที่ดินป่าที่ทางการยึดคืนจากผู้บุกรุกและสิ้นสุดคดีความแล้ว

ทำกันมา 5 ปีต่อเนื่อง จึงทยอยเห็นความเปลี่ยนไปเป็นแปลงๆ เรื่อยมา

ป่าที่ฟื้นกลับมานั้นสวยร่มรื่น มีความหลากหลาย แต่ที่งามกว่าคือคนพิการได้รวมกลุ่มมีกิจกรรมที่เป็นกุศลอันดีงามร่วมกัน ได้ทำสิ่งดีๆให้ท้องถิ่นใกล้บ้านตัว กรมป่าไม้และประเทศได้ป่าสมบูรณ์กลับฟื้นมา ผู้พิการได้ค่าตอบแทนจากสถานประกอบการเอกชนที่มีหน้าที่ตามกฏหมายที่ต้องจ้างงานผู้พิการอยู่แล้ว สถานประกอบการเองก็ได้ผลงานที่เป็น CSR คือเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมและได้สร้างป่าฟื้นฟูต้นน้ำลำธาร

ประโยชน์ที่ได้จึง วิน-วิน ทุกฝ่าย

แถมรัฐไม่ต้องออกสตางค์สักบาท

ภาพเก่าของที่ดินก่อนเข้าฟื้นฟูกับภาพผลงานหลังกลุ่มคนพิการปลูกป่าแล้วในพื้นที่ทีละแปลงคงสามารถยืนยันว่า

น่าชื่นใจที่สุด

กลุ่มผู้พิการที่คุณกิตติชวนมาร่วมภารกิจ มีทั้งชายและหญิง มีทักษะท้องถิ่นในการลุยงานกับสภาพแวดล้อมแบบนี้อยู่เป็นฐาน

มีผู้ที่หูหนวกเป็นใบ้ ผู้ที่แขนหรือขาพิการ นิ้วกุด ขาขาด ข้อมือหาย ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ ผู้พิการทางสมอง แต่ถ้ายังเดินได้ สามารถทำงานในแปลงปลูกได้ สามารถช่วยดายหญ้า ช่วยขุดหลุมปลูก ช่วยถอนวัชพืช ช่วยขนวัสดุได้ คุณกิตติ จะชวนมาแบกจอบจับเสียมขึ้นเขาไปปลูกป่าด้วยกันแบบมีเงินเดือน!!

รายละ 9,500บาท/เดือน เข้าป่าทำงานทุกจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่ 8.30-16.30 โดยใช้วันและเวลางานแบบราชการไปเลย แต่ถ้าเป็นเขาสูง ขึ้นทุกวันไม่ไหว ก็ถี่น้อยลงหน่อย

คุณกิตติสามารถรวบรวมผู้พิการหรือผู้ดูแลคนพิการในพื้นที่ข้างเคียงมาได้ 37คน อาศัยเงินค่าจ้างข้างต้นจากสถานประกอบการ จากนั้นเพื่อทำกิจกรรม สมาชิกในโครงการทุกคนยังยอมเจียดรายรับที่ได้มาลงขันกันคนละ1 พันบาท/เดือน เพื่อเป็นทุนค่าวัสดุและค่าใช้จ่ายในการขึ้นเขาไปปลูกหรือบำรุงเลี้ยงดูต้นไม้ เช่นให้ปุ๋ย เพื่อช่วยให้รากใบต้นกล้าได้สารอาหารที่จำเป็นในการเติบโตช่วงตั้งต้น และเมื่อรวบรวมเงินได้หลายปี ก็ทำให้มีกำลังดาวน์รถกระบะมาใช้ขนของและขนคนพาขึ้นลงเขาที่ลื่นชันได้

ในขณะเดียวกัน สมาคมคนพิการทางกายหรือการเคลื่อนไหวตาก และชมรมคนพิการตำบลแม่หละ ก็จะช่วยกันจัดหาเมล็ดพันธุ์ เพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำกันเอง แถมออกไปช่วยปักหลักเขตพื้นที่ที่จะทำงาน ตัดหญ้า เตรียมพื้นที่ กำจัดวัชพืช ไปจนถึงขุดหลุม ปักไม้หลักที่จะยึดต้นกล้าให้แข็งแรงพอ และลงมือปลูก

บางพื้นที่ชันจนคนขาดีอย่างเรายืนทรงตัวแทบไม่ติด

แต่คนขาเดียวแขนเดียวกลับยกเครื่องตัดหญ้าแหงนขึ้นทำงานกันอย่างคล่องแคล่ว!

ในการบำรุงต้นไม้ในป่า ถ้าดูต้นไหนจะไม่รอดทีมก็จะปลูกเสริม ทำฝายดักน้ำคืนความชื้นให้ดินและภูเขา ทำแนวกันไฟ ช่วยเฝ้าระวังไฟป่า ออกดับไฟป่า รวมทั้งช่วยเฝ้าระวังการบุกรุกใหม่ เพราะถ้าเผลอสักแป๊ปเดียว ก็มักจะมีคนที่ทำไม่รู้ไม่ชี้ มาโรยเมล็ดข้าวโพดเอาไว้อีก

ในการติดตามบริหารงาน คุณกิตติจำต้องขับรถกระบะขึ้นลงเขาเอง เข็นรถวีลแชร์ผ่านทุ่งหญ้าเพื่อออกชี้จุด จับพิกัด GPS บันทึกภาพ นัดแนะแบ่งงานและเขียนรายงานความคืบหน้าให้ผู้จ่ายค่าจ้างตามมาตรา35 ด้วย คุณกิตติจึงต้องใช้ทั้งแรงกายทำงานสนาม ใช้แรงใจทำงานเอกสารเยอะหน่อย โดยมีภรรยาช่วยงานธุรการที่สำนักงาน

บางฤดูฝน ทางเดินบนเขากลายสภาพเป็นดินเปียกอ่อน ล้อหน้าของวีลแชร์จมลงพื้น เพื่อนผู้พิการในทีมจะใช้วิธีผูกเชือกเข้ากับสองแกนของล้อหน้าวีลแชร์ ฉุดลากกันขึ้นดอยไปทำงาน

น่ายกย่องในน้ำใจ…

ฝนตก ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ท้อ …คุณกิตติบอก

แค่ทำให้ขึ้นลงช้า….

แต่ที่เร็วขึ้น คือการงอกเงยของกล้าไม้กลายเป็นลำต้นที่อ้วนแข็งแรงขึ้น แตกกิ่งแผ่ใบมากขึ้น

นี่แหละที่คุณกิตติและเพื่อนๆบอกว่า มองกี่ที ก็ยิ่งชื่นใจ

ส่วนบนภู ทีมแม่ครัวผู้พิการสาวอีกกลุ่มก็ตามขึ้นเขาทำกับข้าวส่งเสบียงให้ไม่มีตกหล่นเสมอ

ทั้งหมดนี้ หลวงไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายสักอย่าง ไม่ว่าจะค่าวัสดุทำฝาย ค่าแรง ค่าขน หรือค่าอาหาร ตลอดจนค่ากล้าไม้ ที่มีทั้งต้นสัก ต้นแดง ไผ่ มะม่วง มะตูม ฯลฯ

เจ๋งมั้ยครับ

เท่าที่คณะกรรมาธิการเราได้ร่วมกิจกรรมออกเหงื่อ จับจอบ ลงแปลงปลูกป่ากับทีมผู้พิการที่บ้านจ่อคีคราวนี้ ผมมีโอกาสได้สนทนากับผู้พิการที่มาร่วมกิจกรรมตามโครงการ บางคนพูดได้แต่ภาษากะเหรี่ยง เมื่ออาศัยการแปลจากคนที่ช่วยฟังแล้ว สรุปได้ว่า ทุกคนยอมรับว่า งานเหนื่อย งานหนัก แต่กลับมีความสุข ที่ได้ทำงานใช้เวลาทั้งวันอยู่กับคนที่เข้าใจกันและกัน ได้รายได้โดยไม่ต้องย้ายบ้านไปอยู่ในเมือง ได้ทานข้าวกลางวันกลางป่า ดื่มน้ำบนยอดดอย มีเมฆมีหมอกมาสัมผัสตัว หรือทีมที่เฝ้าดูแลกล้าไม้ที่กลางเรือนเพาะชำได้สนุกทานข้าวกับเพื่อนๆทุกวัน

และต่างรู้สึกภูมิใจที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอันงดงามอย่างนี้

ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่ที่ป่าหรือภูเขา

แต่ผมมองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงของศักดิ์ศรี และความตระหนักในศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ ไร้ข้อจำกัดของตัวพวกเขาเอง

‘’…ความพิการของคนนั้นไม่ได้มีอยู่หรอก มีแต่สภาพแวดล้อมทางสังคมรอบข้างของเขาต่างหากที่ทำให้ใครก็เข้าใจไปว่า การที่เขาไม่มีนั่นไม่มีนี่ คือความพิการ…’’

แล้วไปย้ำซ้ำทำให้เขาเหล่านั้นเชื่อไปว่าเขา ’’พิการ’’ ..ทั้งที่มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่ซ่อนรอออกมาชดเชยด้วยทักษะใหม่ ที่คนส่วนใหญ่และตัวคนนั้นเองก็มักคิดไม่ถึง

คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา ขอคารวะหัวใจที่กล้าแข็งของคณะผู้พิการหัวใจทองคำเหล่านี้ ที่สามารถแสดงให้เราได้ทึ่ง…

ว่าการคืนเขาหัวโล้นที่เสื่อมทรามลงด้วยมือของผู้เผาที่มีอวัยวะครบถ้วน กลับฟื้นสู่ป่าสมบูรณ์ที่ชุ่มชื้นให้สังคมได้..

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา อดีตกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย


Comentários


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page