ต่างประเทศ
"ชัค ซีคเกอร์" ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ในการบินและสอน F-16 ด้วยชั่วโมงบินมากกว่า 6,000 ชั่วโมงและประสบการณ์การบินมากกว่า 35 ปีในการขับ F-16 ด้วยประสบการณ์ของเขาทำให้ซีคเกอร์ได้มีโอกาสเดินทางไปรอบโลก รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ครั้งสำคัญในการฝึกอบรมนักบินให้กับกองทัพอากาศไทยซึ่งล็อกฮีดมาร์ตินได้มีความร่วมมือมามากกว่าทศวรรษในการส่งมอบ การปฏิบัติการ การปรับปรุงและดูแลรักษาเครื่องบินขับไล่ F-16
ซีคเกอร์ในฐานะนักบินที่มีประสบการณ์การบิน F-16 นับตั้งแต่บล็อก 10 จนกระทั่งถึงบล็อก 70 ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการบิน F-16 เครื่องบินรบที่มีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่งฉลองการส่งมอบลำที่ 4,600 ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงานของเราได้มีโอกาสพูดคุยกับซีคเกอร์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่งเขาเป็นผู้ใช้งาน F-16 มาโดยตลอด ซีคเกอร์ได้กล่าวถึงบทเรียนด้านความปลอดภัยที่สำคัญซึ่งเขาได้รับสิทธิพิเศษในการแบ่งปันกับนักบินและลูกเรือ F-16 ของไทย
: อยากให้คุณช่วยเล่าถึงอาชีพในการเป็นนักบิน F-16 และอะไรทำให้คุณได้มีโอกาสเข้ามาฝึกอบรมให้กับนักบินในประเทศต่างๆ รวมถึงไทย?
"ผมเริ่มบินกับเครื่องบินรุ่นอื่นๆ มากกว่า 1,000 ชั่วโมง ก่อนที่จะมาเริ่มบิน F-16 ในปี 2530 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็บินเครื่องบิน F-16 ทุกบล็อก: 10, 15, 20, 25, 30, 32, 40, 42, 50, 52, 60 และปัจจุบัน คือ บล็อก 70 ซึ่งกำลังจะออกจากสายการผลิต
ประสบการณ์ในการฝึกบินให้กับนักบินไทยเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมนักบินในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี เกาหลีใต้ โอมาน ไต้หวัน อินโดนีเซีย และกรีซ ผมเริ่มต้นอาชีพนักบินที่กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่และนักบินผู้ฝึกสอนมานานกว่า 23 ปี หลังจากนั้นได้มาเริ่มงานกับล็อกฮีดมาร์ติน และยังคงทำหน้าที่นักบิน F-16 ต่อไป โดยเป็นผู้ทดสอบการบินเครื่องบินที่ผลิต ให้การฝึกอบรมและการสนับสนุนทางเทคนิคแก่ลูกค้า F-16 ทั่วโลก
ผมได้มีโอกาสทำงานกับนักบินของกองทัพอากาศไทย ผมรู้สึกประทับใจในความทุ่มเทและทักษะการบินของนักบินไทยเป็นอย่างมาก นักบินหลายๆ คนฝึกอบรมในโรงเรียนชั้นนำทั่วโลกและกลับมาทำงานด้วยแรงผลักดันอย่างแรงกล้าที่จะประสบความสำเร็จ มีนักบินคนหนึ่งที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษด้วยความสามารถทางภาษาอังกฤษที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่แค่ในมุมมองทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเข้าใจมุกตลก และข้อความที่มีความละเอียดอ่อนด้วย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ในกองบิน นักบินผู้นั้นเรียนรู้เปรียบเสมือนฟองน้ำแห้งที่กระหายต่อการดูดซับความรู้เพิ่มเติมเข้าไปได้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งทำให้ประสบการณ์การฝึกอบรมเต็มไปด้วยความคุ้มค่าอย่างแท้จริง"
ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่คุณได้ฝึก F-16 ในระดับนานาชาติ คุณได้มีโอกาสเห็นความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างไรบ้าง?
"ผมมีโอกาสในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศหลายต่อหลายครั้ง และได้พบว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศเกิดขึ้นได้อย่างไรและเกิดจากปัจจัยอะไร ประสบการณ์แต่ละครั้งทำให้ผมเล็งเห็นว่าความต้องการของแต่ละประเทศได้รับการตอบสนองด้วยวิธีที่แตกต่างกัน และมีลักษณะเฉพาะตัวมากเพียงใด ทั้งนี้ในการใช้เครื่องบิน F-16 ประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่ดีมาก กองทัพอากาศไทยทำหน้าที่ได้อย่างน่าประทับใจในการใช้ F-16 กับกลยุทธ์ในการป้องกันประเทศ และผมมีโอกาสเห็นการนำเครื่องบินไปใช้ปฏิบัติงานจริง นั่นทำให้ผมได้เห็นขอบข่ายการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น มีวิธีการใหม่ๆในการดำเนินการสิ่งต่างๆ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศ
ข้อได้เปรียบอีกข้อหนึ่งคือ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ใช้เครื่องบิน F-16 เหมือนกัน แม้ว่าจะมีบล็อกหรือเวอร์ชันที่แตกต่างกัน แต่ทว่าการขอความร่วมมือต่างๆ จะทำได้ง่ายขึ้นในแง่ของการขนส่ง อาวุธ และทุกอย่าง การทำงานร่วมกับพันธมิตรระหว่างประเทศที่มีเครื่องมือประเภทเดียวกัน จะทำให้การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น
นอกจากนี้แล้ว ความร่วมมือระหว่างประเทศช่วยสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้น ทั้งในระดับบุคคลและในฐานะทีม ผมเพิ่งกลับจากประเทศไทยในการบรรยายสรุปด้านความปลอดภัยให้กับกองบิน F-16 ทั้งสองกอง และผมได้สังเกตเห็นว่านักบินและช่างซ่อมบำรุงของกองทัพอากาศไทยมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และนำบทเรียนเหล่านี้ไปใช้ในการปฏิบัติงาน ระบบฝึกอบรมนี้ช่วยให้นักบินมีความเตรียมพร้อมและสามารถใช้งานเครื่องบิน F-16 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้ฝูงบินทำงานได้อย่างดีที่สุดในทุกๆ ปี เราทำงานร่วมกันมานานหลายทศวรรษ และความร่วมมือกันอย่างยาวนานนี้ช่วยให้มั่นใจได้ว่านักบินจะสามารถรักษาฝูงบินเครื่องบิน F-16 ให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ"
คุณได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีของเครื่องบิน F-16 มีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง และมีคุณสมบัติอะไรที่โดดเด่นที่สุดในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ
"เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมากที่สุดในเครื่องบิน F-16 คือ ระบบอากาศยาน เรดาร์ อาวุธ และระบบเครื่องยนต์ ซึ่งเป็นระบบที่สำคัญที่สุดสำหรับนักบินขับไล่ ระบบเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดเป้าหมาย"
ระบบอากาศยานของเครื่องบิน F-16 รุ่นปัจจุบัน ประกอบด้วย จอแสดงผลแบบใหม่ และได้มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีจากอนาล็อกสู่ดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การจัดการสายสัญญาณบัส [MIL-]1553 ได้พัฒนาเป็นช่องสัญญาณไฟเบอร์บนเครือข่ายที่ใช้งานอยู่ และต่อมาพัฒนาเป็นเครือข่ายอีเทอร์เน็ต ซึ่งมีแบนด์วิดธ์สูงขึ้น ทำให้ได้รับการตอบกลับรวดเร็วขึ้น และลดภาระงานของนักบิน ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ ระบบเรดาร์ AESA [Active Electronically Scanned Array] ซึ่งช่วยให้นักบินมองเห็นเป้าหมายในระยะไกลขึ้น และสามารถแยกแยะสถานการณ์ที่ซับซ้อนได้รวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลที่ติดบนหมวกกันน็อค (helmet-mounted display) ซึ่งทำให้นักบินเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากจอแสดงผลจะเคลื่อนไหวตามที่นักบินหันศีรษะ ต่างกับจอแสดงผลรุ่นก่อนหน้า คือ HUD [head-up display] หรือจอแสดงผลที่ใช้เทคโนโลยีการฉายภาพหรือข้อมูลในรูปแบบกึ่งโปร่งใสบนกระจก ซึ่งนักบินจำเป็นต้องดูเฉพาะมุมที่ล็อคไว้ตรงหน้า
ชุดอาวุธก็มีการพัฒนาเช่นกัน โดยบล็อกใหม่สามารถรองรับขีปนาวุธพิสัยไกลได้ เช่น AIM-120 ทำให้มีความยืดหยุ่นและมีพลังยิงมากขึ้นระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอัปเกรดในช่วงกลางของการใช้งานฝูงบิน F-16 ที่กองทัพอากาศไทยได้รับ ดังนั้น นักบินไทยได้สัมผัสถึงประโยชน์เหล่านี้มาแล้ว นอกจากนี้ กองทัพอากาศไทยยังได้ใช้ระบบเครือข่ายเชื่อมโยงการรับส่งข้อมูลทางยุทธวืธี (Tactical Data Link) Link 16 ช่วยให้นักบินสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเกม และเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพิสูจน์การใช้งานแล้วในการฝึกซ้อม เช่น คอบร้า โกล์ด และพิชแบล็ค
ระบบเครื่องยนต์ใน F-16 รุ่นปัจจุบันต้องการการบำรุงรักษาน้อยลง และมีแรงขับที่มากขึ้น เมื่อเทคโนโลยีใหม่และน้ำหนักบรรทุกที่มากขึ้นทำให้เครื่องบินมีน้ำหนักมากขึ้น แรงขับจึงจำเป็นเพื่อให้เครื่องบินมีความคล่องตัว ซึ่งไม่ใช่ปัญหาสำหรับเครื่องยนต์ที่ได้รับการอัพเกรดแล้ว การอัพเกรดระบบเครื่องยนต์ดำเนินการควบคู่ไปกับการอัปเกรดอื่นๆ ที่ผมได้อธิบายไปนั้น จะช่วยเสริมฝูงบินโดยรวมของกองทัพอากาศไทย ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้กองทัพอากาศไทยเข้าร่วมเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน มีความพร้อมสำหรับปฏิบัติการที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นร่วมกับประเทศอื่นๆ
อะไร คือ เรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องรู้หากต้องบิน F-16?
"ประการแรก คือ “ไม่ต้องเป็นเด็กจอเขียว” อีกต่อไป และนั่นหมายความว่า นักบินสามารถมีทัศนวิสัยในการขับในมุมกว้าง หากย้อนกลับไปในรุ่นบล็อค 10 ที่มีจอแสดงผลแบบ HUD สีเขียวขนาดเล็กมาก และนักบินจะต้องมองไปที่จอเขียวขนาดเล็ก แทนที่จะได้มองห้องนักบิน หรือทัศนวิสัยภายนอกห้องบิน และนี่คือที่มาของสำนวนนี้ และเป็นจอแสดงผลที่ใช้กันมาหลายทศวรรษ
ประการที่สอง “จำไว้ว่านักบินมีสวิตช์หนึ่งตัว ดอบเบอร์หนึ่งตัว หรือจอภาพหนึ่งตัวเสมอ” ซึ่งหมายความว่า นักบินต้องรู้จักระบบทั้งหมด เรียนรู้การใช้งานเพราะชีวิตของนักบินแขวนไว้กับระบบเหล่านี้ รู้ว่าจะต้องกดปุ่มไหนอย่างไร เพื่อรับข้อมูลที่ต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ประการที่สาม “คำสั่ง CZ คือ เพื่อนคู่กายของนักบิน” ใช้เคอร์เซอร์ศูนย์หรือ “CZ” เมื่อนักบินต้องการกลับไปยังตำแหน่งเริ่มต้นที่มีสเถียรภาพ เมื่อสถานการณ์ต่างๆ มีความซับซ้อนขึ้น การใช้ปุ่ม CZ ก็เหมือนกับปุ่มรีเซ็ตหากอยู่ในสถานการณ์ที่เครื่องบินพลิกกลับและกำลังหมุนเคว้ง
หากนักบินสามารถนำคุณสมบัติ 3 ข้อนี้ไปใช้งาน เขาจะเป็นนักบิน F-16 ที่เก่งกาจ"
Comments