top of page

ถ่ายเป็นเลือด เจ็บปวดทรมาน ติ่งเนื้อยื่นออกมาบริเวณรูทวาร“ริดสีดวงทวาร” โรคฮิตที่หลายคนหวาดผวา



 

อึ แข็ง เหมือนลูกกระสุน ปวดร้าวทวารหนัก กว่าจะเบ่งออกเจ็บปวดทรมาน แถมบางครั้งยังมีเลือดไหลออกมาชวนให้ผวา หากคุณได้สัมผัสอาการและความเจ็บปวดทรมานเหล่านี้ แน่นอนนั่นคือ อาการของ “โรคริดสีดวงทวาร” โรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมไปถึงมีการหย่อนของเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งหากมีขนาดใหญ่อาจรบกวนการใช้ชีวิต อาจมีเลือดออกและมีอาการปวดร่วมด้วย  ส่งผลถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน แม้แต่จะนั่งก็ยังลำบาก

 

          แม้จะเป็นโรคฮิต แต่หลายๆคน คงสงสัย ว่า “ริดสีดวง คืออะไร” เป็นแล้วมีอาการยังไง และมีวิธีการรักษาอย่างไร

นพ.ธนพงศ์ ว่องวิริยะกุล แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยศาสต์ทั่วไปและการผ่าตัดส่องกล่อง โรงพยาบาลพระรามเก้า       ให้ข้อมูลว่า ริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) คือ ก้อนเนื้อที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดที่นูนออกมาจากผนังของช่องทวารหนัก ในคนปกติก้อนนูนเหล่านี้ไม่น่ากังวลอะไร ในทางกลับกันมันทำหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และช่วยในการกลั้นอุจจาระ หรือเวลาความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น เช่น ในเวลาไอหรือจาม แต่หากก้อนนูนเหล่านี้เกิดความผิดปกติ มีความหย่อนยานจนทำให้นูนยื่นและห้อยย้อยออกมาจากผนังช่องทวารหนักมากเกินไป อาจทำให้เกิดการเสียดจนถลอกและเป็นแผลทำให้เลือดออก      สร้างความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรคในการขับถ่าย

 

 นอกจากนี้ “ริดสีดวง” มักจะเกิดจากอาการท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระบ่อย นั่งถ่ายเป็นเวลานาน และการตั้งครรภ์ สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ดังนั้นการวินิจฉัยแยกโรคริดสีดวงทวาร จึงต้องมีการตรวจร่างกาย เพื่อแยกออกจากกลุ่มโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคแผลขอบทวาร ภาวะไส้ตรงปลิ้น ฝีหนอง  และโรคมะเร็งลำไส้           โดย “โรคริดสีดวงทวาร” มีสองประเภท คือ 1. ริดสีดวงทวารภายใน เราจะไม่สามารถมองเห็นก้อนริดสีดวงได้ จนกว่าจะมีเลือดไหลหยดออกมาเวลาถ่ายอุจจาระ 2.ริดสีดวงทวารภายนอก เราจะมองเห็นก้อนเนื้ออยู่ที่บริเวณปากทวารหนัก ไม่สามารถดันเข้าไปได้ ถ้าเบ่งถายอุจาระแรงๆจะทำให้เส้นเลือดดำบริเวณปากทวารหนักแตก

นพ.ธนพงศ์ ว่องวิริยะกุล ให้ข้อมูลต่อว่า สำหรับขั้นตอนการรักษา “โรคริดสีดวงทวาร” นั้น ในระยะ 1-3 แพทย์จะใช้ยาตามความรุนแรงของโรค เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ในระยะที่ 4 ถือว่าเป็นระยะรุนแรง ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ต้องทำการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันการผ่าตัดริดสีดวงทวารมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปเทคนิคที่ได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดีมีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

1.       การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy)เป็นการผ่าตัดริดสีดวงทวารที่แพร่หลายที่สุด ข้อดีคือสามารถลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังการผ่าตัดมากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิมจะเป็นการตัดริดสีดวงและเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย การผ่าตัดแบบได้ดั้งเดิมนี้จะต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดเพิ่มเติม คือ การแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล (sitz bath)

2.       การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือฮาร์โมนิก (harmonic scalpel)เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม และมีการใช้เครื่องมือฮาร์โมนิกซึ่งใช้คลื่นอัลตร้าซาวด์ในการตัดริดสีดวง ห้ามเลือด และเชื่อมปิดแผลในทันทีโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ จึงช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ และช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด

3.       การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (stapled hemorrhoidectomy หรือ procedure for prolapse and hemorrhoids; PPH) เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดในการผ่าตัดริดสีดวงทวารในปัจจุบัน ตัวเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ จะมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกใส่เข้ารูทวาร เพื่อดันเนื้อเยื่อที่หย่อนคล้อยให้กลับขึ้นไปยังตำแหน่งเดิม การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่มีริดสีดวงทวารหลายตำแหน่ง ข้อดีของเทคนิคนี้คือทำให้เกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียคือ มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม 

 

อย่างไรก็ตามแม้ “โรคริดสีดวงทวาร” จะเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ใครหลายๆคนเข็ดขยาด เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค เราสามารถดูแลตัวเองง่ายๆได้ดังนี้ 1.ทานผักผลไม้ที่มีกากใย  2.ดื่มน้ำวันล่ะ 8-10 แก้ว 3. งดทานอาหารประเภทที่ย่อยยาก 4.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 5.ไม่อั้นเวลาปวดอุจจาระ  6.เมื่อมีอาการท้องผูกเรื้อรังให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและทำการรักษา

Komentarze


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page