top of page

ททท. เปิดตัวโครงการ STAR ยกระดับผู้ประกอบการ “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน”

เตรียมพร้อมรับตลาดนักท่องเที่ยวมูลค่าสูง ผ่าน 17 เป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน


ท่องเที่ยว SDG STG

วันที่ 8 สิงหาคม 2566 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ณ ห้องโถงธนะรัชต์ อาคาร ททท. เพื่อเดินหน้า Shape Supply ยกระดับห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสู่มาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน” สอดรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Tourism Goals : STGs พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสมดุลทุกมิติก้าวสู่การเป็น High Value and Sustainable Tourism โดยเตรียมเปิดรับสมัครผู้ประกอบการตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.TATstar.org


นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวใหม่ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ควบคู่กับการสร้างมาตรฐานความยั่งยืน เข้ามาเป็นหัวใจสำคัญในการ “พลิกฟื้น” ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ททท. จึงให้ความสำคัญกับการเร่งยกระดับขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทาน Shape Supply ให้เกิดการพัฒนาบนพื้นฐานของความปลอดภัยและความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มาร่วมสร้างท่องเที่ยวไทยให้ยั่งยืน” นำไปสู่ High Value Services & Standard โดยการสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals : SDGs 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ สู่เป้าหมาย STGs ทั้ง 17 เป้าหมายที่สะท้อนความยั่งยืน เพื่อส่งมอบ “Valued Experiences” ประสบการณ์อันทรงคุณค่าแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมและปลูกจิตสำนึกให้นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมผ่านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจนทำให้เกิดเป็นปัญหาโลกร้อน รวมถึงความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่นับวันทวีคูณความรุนแรงขึ้น ส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนปรากฏการณ์เอลนีโญที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ด้วย

โครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating เป็นการยกระดับต่อยอดโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety and Health Administration ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดย ททท. และกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรค ส่งมอบประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และมั่นใจความปลอดภัยด้านสุขอนามัย จากสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวไทย รวมทั้งสะท้อนความร่วมมือระหว่างพันธมิตรเพื่อร่วมสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยที่มีคุณค่าและยั่งยืน ทั้งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ประเทศไทยให้เป็น Sustainable Destination ภายใต้โครงการฯ จะมีการมอบประกาศนียบัตร “ดาวแห่งความยั่งยืน” มีอายุคราวละ 2 ปี ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ผ่านเกณฑ์การประเมินตนเอง ประกอบด้วย 3 ระดับ ดังนี้

  • 3 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 และ STG 17 รวมทั้งหมด 3 เป้าหมาย

  • 4 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้อีก 6 STGs รวมทั้งหมด 9 เป้าหมาย

  • 5 ดาว สำหรับ ผู้ประกอบการที่ผ่าน STG 13 STG 16 STG 17 และเป้าหมายใดก็ได้ ไม่น้อยกว่า 9 STGs รวมทั้งหมด 12 เป้าหมายขึ้นไป

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ และรักษามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่องนั้น จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาดของ ททท. ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) กล่าวว่า SDG MOVE หรือ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจในการขับเคลื่อนเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการร่วมมือกับ ททท. ในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างบูรณาการและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งจะเน้นการมีส่วนร่วมตามบทบาทของทุกภาคส่วนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งการจัดทำเกณฑ์นี้เป็นการขับเคลื่อนระบบนิเวศด้านการท่องเที่ยวให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างยั่งยืนทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล โดยมีเกณฑ์ประเมิน STGs Easy ทั้งหมด 17 เป้าหมาย และจากการกำหนดระดับของ “ดาวแห่งความยั่งยืน” จะเห็นได้ว่าเป้าหมาย STG 3 หัวข้อ ได้แก่ STG13 มุ่งลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการท่องเที่ยวและส่งเสริมการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลง STG16 คำนึงถึงความปลอดภัยในภาคการท่องเที่ยว และ STG17 การบรรลุเป้าหมาย STGs ผ่านความร่วมมือหลายภาคส่วน ถือเป็นเกณฑ์หลักเบื้องต้นของผู้ประกอบการ เนื่องจากเป็นเกณฑ์ที่มีความสำคัญเร่งด่วน จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อน จึงอยากกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักและเห็นความสำคัญเพื่อเป็นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในวงกว้างต่อไป

นางสาวมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2017 และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอขอบคุณ ททท. ที่มอบโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการดี ๆ โดยส่วนตัวตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และลดก๊าซเรือนกระจกมาตลอด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเชื่อมโยงในวงกว้างถึงทุกระบบนิเวศบนโลก ในแง่ของการท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือเป็นต้นทุนสำคัญของการท่องเที่ยว นำมาซึ่งความงดงาม อุดมสมบูรณ์ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเลือกเดินทางรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบจึงเป็นสิ่งสำคัญให้การท่องเที่ยวของเราสร้างคุณค่าต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวทุกท่านช่วยกันสนับสนุนมองหาสัญลักษณ์ STAR ก่อนท่องเที่ยว และร่วมเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน ททท. หวังว่า จะสามารถช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้กลับมาอย่างมั่นคงและแข็งแรง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการการท่องเที่ยวที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating : STAR ได้ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ Website : www.TATstar.org หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/tatstar และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Line official : @tatstar

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page