top of page

ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยเกิดผิดหวังเรียนรู้ทักษะสำคัญในโลกยุคดิสรัปชั่นกันเถอะ

โดย แพทย์หญิง กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA

หลายครั้งที่ลูกของเราต้องเผชิญกับความ “ผิดหวัง” อย่างเช่นอยากได้ของเล่นชิ้นใหม่แล้วไม่ได้ พ่อแม่บอกว่าสุดสัปดาห์หน้าจะพาไปเที่ยวทะเล เด็กก็รอด้วยความตื่นเต้นแต่สุดท้ายก็อดไป เหตุการณ์เหล่านี้สำหรับผู้ใหญ่อาจเป็นแค่เรื่องเซ็งในหัวใจ แต่สำหรับเด็กแล้วมันยิ่งใหญ่กว่านั้นเยอะเลยทีเดียว จากประสบการณ์ที่พบมา เด็กที่พ่อแม่ผิดสัญญาว่าจะพาไปเที่ยวแล้วหักอกเด็ก เด็กคนนั้นถึงกับจับไข้ล้มป่วยไปเลย

ไม่เพียงเท่านั้น สังคมโลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยสื่อโซเซียลมีเดียที่เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์ วิจารณ์บุคคล และการกลั่นแกล้งในรูปแบบต่างๆ ที่พร้อมทำลายความรู้สึก ก่อให้เกิดพิษในใจที่มีศัพท์เฉพาะว่า Online Toxicity จึงเป็นความสำคัญอย่างมากที่เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนทักษะทางสังคม และเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง เพื่อรับมือกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการฝึกหนูน้อยในช่วงวัย 1-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังลักษณะนิสัย ความมั่นใจในตัวเอง และความมั่นคงทางอารมณ์ เพื่อเป็นทักษะรับมือกับความผิดหวังในชีวิตที่เราทุกคนต้องเผชิญ

1 ใน 10 ของเด็กไทยเคยคิดฆ่าตัวตาย

โธมัส ดาวิน อดีตผู้แทนยูนิเซฟประเทศไทย ได้กล่าวถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กไทย จากการสำรวจของยูนิเซฟว่า เด็กและเยาวชนทุกวันนี้ อยู่ในโลกที่แตกต่างจากเรา พวกเขาอยู่ในโลกที่แบ่งแยกกันมากขึ้น พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่กับอินเทอร์เน็ต และมีความเสี่ยงที่จะถูกบูลลี่ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หลายคนเผชิญกับ ความเครียด และความวิตกกังวล นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัญหาที่มีนัยสำคัญสำหรับวัยรุ่นในประเทศไทย

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักก่อนว่า คนหนุ่มสาวสมัยนี้กำลังก้าวผ่านห้วงเวลาที่ยากลำบาก ไปพร้อมๆ กับการเป็นตัวแทนของความหวังของบ้านเมือง ดังนั้น เราต้องร่วมมือกัน เหมือนอย่างที่เราเคยแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คราวนี้มาร่วมมือกันว่าจะติดทักษะให้เยาวชนได้อย่างไรให้ดีที่สุด เพื่อรับมือกับความท้าทายในอนาคต และเราจะสนับสนุนพวกเขาอย่างไรให้ดีที่สุด พวกเขาควรรู้สึกว่ามีพวกเราคอยสนับสนุนอยู่ รู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ และพร้อมจะร่วมทางกับพวกเขาในเส้นทางชีวิตในอนาคตต่อไป” โธมัส เผยถึงความสำคัญในการดูแลด้านสุขภาพจิตของเด็กไทย

หลังจากพบผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนขององค์การอนามัยโลกและกรมอนามัยในปี 2558 ที่พบว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 1 ใน 10 คนในประเทศไทยเคยพยายามฆ่าตัวตาย จากปัญหาการถูกบูลลี่ในโรงเรียนและช่องทางสื่อโซเซียลมีเดีย

สร้างความมั่นใจในตัวเอง และมั่นคงทางอารมณ์ จุดเริ่มต้นของภูมิคุ้มกันความรู้สึกผิดหวัง

ความรู้สึกผิดหวังเสียใจที่เกิดขึ้นในเด็ก จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายอย่างมากมายในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองควรให้ความใส่ใจอยู่เสมอ แพทย์หญิง กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA) จึงให้คำแนะนำแนวทางป้องกันที่ผู้ปกครองสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้ตั้งแต่ช่วงวัย 1-3 ปี ด้วยวิธีการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก สร้างความมั่นคงทางอารมณ์ หรือ สร้างความฉลาดทางอารมณ์ ซึ่งจะกลายเป็นภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่สำคัญของพวกเขา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

1.เป็นตัวอย่างที่ดีกับเด็ก

เด็กในวัย 1-3 ขวบเป็นวัยที่กำลังเรียนรู้และเติบโตอย่างรวดเร็ว พวกเขาอยากทำหลายสิ่งหลายอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ และเด็กที่โตกว่า จึงเริ่มเรียนรู้และทดลองทำด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมจากคนรอบข้าง ดังนั้นเราควรปฏิบัติตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ เช่นการแสดงมารยาททางสังคมที่ดีเป็นตัวอย่างให้กับเด็ก การหยิบจับใช้สิ่งของต่างๆ อย่างปลอดภัยถูกวิธี ในระหว่างที่เด็กๆ กำลังเลียนแบบ หรือขอคุณพ่อคุณแม่ลองทำสิ่งต่างๆ เราไม่ควรห้าม และควรใช้โอกาสนี้ในการสอนเด็กให้ใช้งานสิ่งของต่างๆ ภายในบ้านอย่างถูกวิธี รวมถึงการเรียนรู้ด้านการเข้าสังคม

โดยเฉพาะมารยาทที่สำคัญเวลาอยู่ข้างนอกบ้านเช่น การทิ้งขยะลงถัง การต่อคิวซื้อของ มารยาทการยกมือสวัสดี และการกล่าวลา เมื่อเด็กมีความเข้าใจในสิ่งรอบข้าง ได้เคยลองลงมือทำพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่มาแล้ว จะทำให้เด็กมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วยประสบการณ์ของเขาเอง และสามารถแยกแยะบุคคลที่มีพฤติกรรมไม่ดี และเอาตัวออกห่างจากบุคคลเหล่านั้นได้ในอนาคต

2.กล่าวคำชม ทุกครั้งที่เด็กทำได้

การกล่าวคำชมเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ที่ช่วยสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็กได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเด็กในวัย 1-3 ขวบ ทุกครั้งที่เด็กสามารถทำตามที่สอนได้ เราควรกล่าวคำชมทุกครั้ง เพื่อให้เด็กมั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นสิ่งถูกต้อง เป็นสิ่งที่คุณพ่อ คุณแม่ ชอบ เกิดความรู้สึกอยากทำซ้ำเพื่อให้ได้รับคำชมหรือการแสดงความยอมรับจากผู้ใหญ่ เราอาจชมเด็กให้มากขึ้น ในกรณีที่พวกเขาช่วยเหลืองานบ้านด้วยความสมัครใจของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เด็กมีนิสัยรักความสะอาด ช่วยเหลืองานบ้าน แบ่งเบาภาระของคุณแม่ในอนาคต

อย่างไรก็ดีต้องระวังเรื่องการให้รางวัลกับเด็ก ซึ่งมีหลายครอบครัวเลือกการให้ของขวัญเพื่อจูงใจให้เด็กทำสิ่งที่ต้องการ บ่อยครั้งมากเกินไป จะส่งผลให้อนาคตเด็กเฝ้ารอขอเสนอของรางวัลถึงจะยอมทำสิ่งที่ควรทำ หรือเกิดความผิดหวังเมื่อไม่ได้ของรางวัลอย่างที่ต้องการ การให้ของรางวัลแทนคำชม ควรให้เฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญกับตัวเด็ก หรืออาจเลือกวิธีการเลี้ยงฉลองด้วยกันทั้งครอบครัวเพื่อให้เด็กๆ เห็นว่าการทำเรื่องที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้ทั้งครอบครัวมีความสุขมากกว่าสิ่งของที่ได้รับเพียงคนเดียว

3.เลี่ยงการดุลูกด้วยถ้อยคำและการใช้กำลังลงโทษ

การดุลูกด้วยน้ำเสียงและถ้อยคำที่รุนแรง ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็กโดยตรงที่จะทำให้เด็กเกิดความหวาดกลัว ไม่กล้าตัดสินใจลงมือทำด้วยตัวเอง กลัวทำพลาดแล้วจะถูกดุและถูกลงโทษ และยังส่งผลถึงความมั่นใจในการใช้ชีวิตในสังคมเมื่อถูกต่อว่าข่มขู่จากผู้อื่น ก็จะทำให้เขาเกิดความหวาดกลัว จนยอมทำตามผู้อื่นในสิ่งที่ไม่อยากทำ ซึ่งการลงโทษเด็กนั้น ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นไปตามลำดับ โดยเริ่มจากการใช้เหตุผลพูดคุยว่า พวกเขาทำผิดอะไร และผลเสียที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อตัวเขาและสิ่งต่างๆ รอบข้างอย่างไรบ้าง

4.ดูแลโภชนาการและพัฒนาการให้เติบโตสมวัย

เด็กในช่วงวัย 1-3 ขวบเป็นช่วงที่เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกายและสมองเติบโตอย่างรวดเร็วมากที่สุด หากเด็กได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ สมวัย ดื่มนมเสริมสารอาหารอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลักและสารอาหารรองอย่างครบถ้วน มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง มีส่วนสูงมากกว่าหรือเท่ากับเพื่อนๆ ไม่ได้เป็นเด็กที่ตัวเล็กสุดในห้อง มีรูปร่างที่สมส่วนไม่อ้วนหรือผอมเกินไป จนถูกล้อเลียน มีพัฒนาการด้านร่างกาย และสติปัญญาที่พร้อมรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ก็จะทำให้พวกเขามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น ว่าพวกเขาสามารถเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆ ได้ดีไม่แพ้เพื่อนคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน

5.สอนเด็กให้รู้จักอารมณ์ตัวเอง

เด็กในช่วงวัย 1-3 ปี โดยเฉพาะช่วง 2 ขวบ มักจะถูกเรียกว่าวัยทอง 2 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่เด็กสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่ว เต็มไปด้วยพละกำลัง อยากเรียนรู้ และอยากทดลองสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะทดลองสถานะตนเองในครอบครัว ซึ่งทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเอาแต่ใจตัวเอง ไม่พอใจ งอแง และลองเรียกร้องด้วยการทำสิ่งต่างๆ ที่ดูไม่เหมาะสม

ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่ผู้ใหญ่สามารถสอนให้พวกเขารู้จักอารมณ์ต่างๆ เช่น หัวเราะ ร้องไห้ โกรธ ไม่พอใจ ร่าเริง โศกเศร้า ว่าเป็นอย่างไร เด็กๆ ก็จะได้รู้จักอารมณ์ด้านต่างๆ แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าเด็กๆ จะควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การควบคุมอารมณ์ตัวเองต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ ฝึกฝนซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ต้องค่อยๆ สอนลูก อย่างใจเย็นและอดทนเพื่อให้พวกเขาเติบโตเป็นเด็กที่รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ขี้โมโห และเอาแต่ใจ ซึ่งเป็นลักษณะที่สร้างปัญหาให้กับตัวเองและคนรอบข้างในอนาคต

6.ให้เด็กทดลองเล่นให้มีความหลากหลาย เพื่อค้นหาความชอบ

การให้เด็กทดลองทำสิ่งต่างๆ เช่น วาดภาพ, เล่นกีฬา, เล่นดนตรี, เรียนภาษา, ทดลองประดิษฐ์, เดินทางท่องเที่ยว และอื่นๆ จะช่วยทำให้เด็กรู้ตัวเองว่าชอบและไม่ชอบทำอะไร โดยสังเกตง่ายๆ ว่าสิ่งที่เขาชอบและมีความถนัด เด็กจะเรียกร้องอยากลองเล่น ลองทำด้วยตัวเองอีกครั้ง

เด็กที่ค้นพบความถนัดของตัวเองตั้งแต่ยังเล็ก มีส่วนช่วยทำให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งมีผลเกี่ยวเนื่องถึงความฉลาดทางอารมณ์ทางอ้อม เมื่ออนาคตเขาได้รับคำวิจารณ์ด้านลบอย่างรุนแรง ก็จะสามารถรับมือกับผลกระทบตรงนั้นได้ เพราะรู้ตัวดีว่าตัวเองเก่งด้านไหนมากที่สุด แล้วอยากทำอาชีพอะไรในอนาคต โดยไม่สนใจกับสิ่งที่ไม่ใช่ความถนัดของเขา เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่รู้ตัวว่ามีความถนัดอะไร เมื่อได้รับความวิจารณ์ด้านลบ จะยิ่งส่งผลให้เด็กคิดว่าเขาไม่เก่งอะไรเลย จนกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกท้อแท้ ผิดหวัง และรับมือกับอารมณ์ของตัวเองได้ยากกว่า

7.ให้เด็กพบกับความล้มเหลว และเรียนรู้ที่จะแก้ไขด้วยตัวเอง

ไม่มีใครเก่งได้โดยไม่เคยพ่ายแพ้หรือผิดพลาดมาก่อน เด็กหลายคนถูกเลี้ยงดูมาด้วยผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือทุกอย่างตลอดเวลา และเมื่อถึงเวลาหนึ่งที่พวกเขาต้องลงมือทำด้วยตัวเอง แล้วไม่ได้ดังใจคิดการจัดการความรู้สึกผิดหวัง จะยากกว่าเด็กที่เคยผิดพลาดล้มเหลวเป็นประจำ จนรู้ว่าความผิดพลาดสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ผิดพลาดแล้วต้องแก้ไขให้ดีขึ้น

คุณพ่อ คุณแม่ควรปล่อยให้เด็กลงมือทำและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง เช่น ประกอบตัวต่อเลโก้ให้เป็นรูปร่างตามกล่องที่ซื้อมา แล้วปล่อยให้เด็กแก้ไขปัญหาจากการต่อด้วยตัวเอง การลองผิดลองถูกจากปัญหาที่พบจะทำให้เด็กรู้จักเรียนรู้ความผิดพลาด ปรับตัวยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ผู้ใหญ่สามารถเข้าไปช่วยให้คำแนะนำวิธีการแก้ไขปัญหาได้ก็ต่อเมื่อเด็กร้องขอความช่วยเหลือ เมื่อแนะนำทำเป็นตัวอย่างให้ดูแล้ว จึงปล่อยให้เด็กทดลองทำต่อด้วยตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาสามารถบริหารจัดการความผิดหวัง และรู้วิธีแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

พญ.กิติมา กล่าวทิ้งท้ายว่า หากเด็กๆ ได้รับภูมิคุ้มกันด้วยการความมั่นใจในตัวเอง ความมั่นคงทางอารมณ์ และฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหาอันล้ำค่าที่เกิดจากความล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า อย่าลืมสอนพวกเขาให้รู้ว่า อย่าให้ความผิดพลาดของเราในวันนี้เป็นสิ่งกำหนดความสามารถเราทั้งชีวิต วันนี้เราทำไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าวันหน้าเราจะทำไม่ได้ อย่าให้ความผิดหวังเพียงเล็กน้อยเป็นตัวตัดสินเราทั้งชีวิต.

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page