กรมเจ้าท่า ชี้แจงกรณีท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ปิดปรับปรุงเนื่องจากมีการชำรุด
ตามที่ได้มีการเสนอข่าวผ่านสื่อโซเชียล มติชนออนไลน์ กรณีเรือด่วนเจ้าพระยาธงส้มงดจอดท่าเรือสะพานกรุงธน(ซังฮี้) ตั้งแต่วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 เนื่องจากท่าเรือมีการชำรุด และท่าเรือพายัพก็ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้
โดยวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านปฏิบัติการ เปิดเผยว่า กรณีเรือด่วนเจ้าพระยาธงส้มงดจอดท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ตั้งแต่วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น เนื่องจากท่าเรือด่วนด้านเหนือสะพานมีการชำรุด จึงไม่ปลอดภัยในการให้บริการประชาชน และตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่า พัฒนาการให้บริการท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ให้มีความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงกับระบบขนส่งรูปแบบอื่นได้อย่างไร้รอยต่อ
กรมเจ้าท่า เมื่อทราบว่าท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ชำรุดและไม่ปลอดภัยต่อประชาชนที่ใช้บริการจึงได้เร่งจัดเตรียมวัสดุและดำเนินการซ่อมท่าเรือในวันที่ 22 -23 กุมภาพันธ์ 2565 โดยจะเปิดให้บริการท่าเรือสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ได้ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทางทางน้ำ ส่วนการดำเนินการปรับปรุงท่าเรือพายัพ จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ปลายเดือนมิถุนายน 2565 นี้ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัยให้แก่ประชาชนภายใต้แผนพัฒนายกระดับท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสถานีเรือเชื่อมโยงระบบขนส่งล้อ ราง เรือ จำนวน 29 ท่า โดยกรมเจ้าท่า ได้พัฒนาท่าเรือที่แล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการไปแล้วจำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า ท่าเรือสะพานพุทธยอดฟ้า ท่าเรือท่าน้ำนนทบุรี ท่าเรือท่าช้าง และท่าเรืออยู่ระหว่างการปรับปรุง จำนวน 7 ท่า มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 จำนวน 2 ท่าได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือสาทร และภายในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 5 ท่า ได้แก่ ท่าเรือราชินี ท่าเรือบางโพ ท่าเรือเกียกกาย ท่าเรือพายัพ และท่าเรือสะพานพระราม 7 นอกจากนั้นในส่วนท่าเรืออีกจำนวน 18 แห่ง จะดำเนินปรับปรุงตามแผนงานงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 นี้
ทั้งนี้ เมื่อท่าเรือทั้ง 29 ท่าแล้วเสร็จตามแผน จะเป็นการเชื่อมโยงระบบการขนส่ง ล้อ ราง เรือ โดยสมบูรณ์ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์สูงสุดในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ตามนโยบายการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา และช่วยลดปัญหาการคับคั่งของการจราจรทางบก ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำและสร้างภาพลักษณ์การเดินทางของประเทศต่อไป
Comentarios