พร้อมเปิด สนง.ต่างประเทศเพิ่ม รับนโยบายเปิดประเทศ เร่งดึงลงทุนเชิงรุก
(9 พ.ย.66) ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2566 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ รองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ไขอุปสรรคและอำนวยความสะดวกในการลงทุน (Ease of Investment) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน โดยบอร์ดได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐใน 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1) การปลดล็อกธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ 2) การขยายขอบเขตและอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรต่างชาติ 3) การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม 4) การจัดหาพลังงานสะอาด และ 5) การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยให้บีโอไอประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป สำหรับที่ประชุมได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ ดังนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ (Automation and Robotics) มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตสำหรับการผลิตรถยนต์ ทั้งแบบสันดาปภายใน ไฮบริด และปลั๊กอินไฮบริด ครอบคลุมทั้งกิจการเดิมและการลงทุนใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงินร้อยละ 50 ของเงินลงทุนในระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ และในกรณีที่โครงการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติในประเทศ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในวงเงินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนในระบบดังกล่าว ทั้งนี้ ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในปี 2567 ทั้งนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในด้านการส่งออก การจ้างงาน และจำนวนผู้ผลิตในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,300 ราย โดยปี 2565 ที่ผ่านมา ไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคัน เป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังก้าวสู่ช่วงเวลาสำคัญในการเปลี่ยนผ่าน ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ และสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กันยายน) มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.02 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนร้อยละ 14 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด มีแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม 8 – 9 แสนคน และมีจำนวนผู้ผลิตในห่วงโซ่อุปทานกว่า 2,300 ราย ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม แบ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์กว่า 20 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 1 (Tier 1) 530 ราย ผู้ผลิตชิ้นส่วนลำดับที่ 2 (Tier 2) และลำดับที่ 3 (Tier 3) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 1,750 ราย พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้อนุมัติจัดตั้งสำนักงานบีโอไอในต่างประเทศ 3 แห่ง ได้แก่ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศ ถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในการดึงการลงทุนมายังประเทศไทย โดยซาอุดิอาระเบีย เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่มีศักยภาพด้านการลงทุนสูง เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ขณะที่นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนของจีน เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและการค้าที่สำคัญในภาคตะวันตกของจีน โดยจีนเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และมีการเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังได้อนุมัติการเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสำนักงานบีโอไอ 4 แห่งในจีนและไต้หวัน เพื่อเร่งชักจูงการลงทุนเชิงรุกอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ เช่น Semiconductor, Printed Circuit Board (PCB) และยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันบีโอไอมีสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศ จำนวน 16 แห่ง ใน 12 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ญี่ปุ่น (2 แห่ง) จีน (3 แห่ง) ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา (2 แห่ง) ยุโรป (3 แห่ง) และออสเตรเลีย รวมถึงที่ประชุมได้อนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท น้ำตาลทิพย์สุโขทัย จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 2,991 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสุโขทัย และบริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 4,185 ล้านบาท ตั้งที่จังหวัดสระแก้ว โดยได้รับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบตัวเลขคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม – กันยายน 2566) มีโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,555 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 31 และมูลค่าเงินลงทุน 516,802 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ รวมทั้งการประกาศใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี ที่มีเป้าหมายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจใหม่เพื่อดึงดูดให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 366,188 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอจำนวน 171 โครงการ เงินลงทุน 208,288 ล้านบาท รองลงมาอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร มีคำขอจำนวน 213 โครงการ เงินลงทุน 55,778 ล้านบาท และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มีคำขอจำนวน 151 โครงการ เงินลงทุน 42,200 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีจำนวน 910 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49 เงินลงทุน 398,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 โดยโครงการจากจีนมีเงินลงทุนมากที่สุด 97,464 ล้านบาท รองลงมาสิงคโปร์ 80,261 ล้านบาท และญี่ปุ่น 43,154 ล้านบาท ตามลำดับ ในแง่พื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีการขอรับการส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 552 โครงการ เงินลงทุน 231,660 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นพื้นที่ภาคกลาง มูลค่าเงินลงทุน 135,894 ล้านบาท สำหรับการขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรมาเป็นระบบอัตโนมัติ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทดแทน มีผู้สนใจยื่นขอรับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นมาก โดยมีจำนวน 280 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26 มูลค่าเงินลงทุน 18,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 นอกจากนี้ ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนใหม่ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ และประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค (International Business Center) โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ จำนวน 93 โครงการ เงินลงทุน 2,582 ล้านบาท โดยมีบริษัทต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในกิจการนี้หลายราย เช่น บริษัท เสียวหมี่ เทคโนโลยี จำกัด จากประเทศจีน บริษัท อีคอร์เนส จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนอร์ดิก เป็นต้น สำหรับประโยชน์ของโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มูลค่าการส่งออกของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี ใช้วัตถุดิบในประเทศกว่า 1.4 ล้านล้านบาทต่อปี และสร้างงานกว่า 1 แสนตำแหน่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และอาหารแปรรูป ซึ่งจะเป็นสาขาที่มีการจ้างงานมากที่สุด นอกจากนี้ หากพิจารณาจากสถิติการออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีการออกบัตรส่งเสริม 1,299 โครงการ เงินลงทุนรวม 334,915 ล้านบาท ซึ่งโดยเฉลี่ยโครงการเหล่านี้จะทยอยลงทุนภายใน 6 เดือนถึง 2 ปีภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม
Comments