ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ควบคู่การจัดงานวันดินโลก ปี 2565 (World Soil Day 2022) พร้อมเน้นย้ำ ส่งเสริมถ่ายทอดสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมสืบทอดต่อไปให้ยั่งยืน
SEDZ
ที่วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ในพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดอยอินทรีย์ หมู่ที่ 3 ต.ดอยฮาง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเศียร "พระพุทธบารมีรักษาป่า รักษาธรรม รักษาชีวิตสัตว์" ตามโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี "ป่านี้มีผลผู้คนรักกัน" เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่าที่เหตุแห่งปัญหา ส่งเสริมให้ทุก ๆ ภาคส่วนมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันด้วยความ "สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย" ในโครงการ "บวร" จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองเนื่องในการจัดงานวันดินโลก ปี 2565 (World Soil Day 2022) โดยได้รับเมตตาจาก พระครูขันติพลาธร รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น พระครูสิริธรรมนิวิฐ เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง พระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช เจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ พระวีระยุทธ์ อภิวีโร วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม และคณะสงฆ์ ร่วมอนุโมทนา โดยมี นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายจิรชัย มูลทองโร่ย สมาชิกวุฒิสภา นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ นายวราดิศร อ่อนนุช นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ 18 อำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธี
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบประกาศนียบัตรให้แก่ผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูรักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวม 12 คน และเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 และฟื้นฟูดูแลรักษาป่าด้วยความ "สามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย" ตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ และสนองพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พร้อมทั้งมอบนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs และการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ร่วมปลูกป่า และตรวจเยี่ยมศูนย์การเรียนรู้ชุมชนต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่โคก หนอง นา (CLM) ดอยอินทรีย์ พร้อมมอบบ้านดินให้แก่ นายสมาน จันทร์กลิ่น ครัวเรือนชุมชนต้นแบบ ฯ CLM และร่วมปลูกต้นมะม่วงพระราชทานจากศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และเยี่ยมชมโรงงานผลิตน้ำแร่และการพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำแร่ธรรมชาติบริเวณพื้นที่หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงดอยอินทรีย์ (บจธ.)
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากคณะสงฆ์ ในการขับเคลื่อนภายใต้หลัก "บวร" คือ บ้าน วัด ราชการ ซึ่งทั้งพี่น้องผู้นำท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน เด็ก เยาวชน และบรรดาอาสาสมัครต่าง ๆ จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กลุ่มสตรีอาสารักษาดินแดน ตลอดจนพี่น้องประชาชนภาคีเครือข่ายโดยรอบบริเวณดอยอินทรีย์แห่งนี้ ได้ร่วมไม้ร่วมมือมาโดยพร้อมเพียงกันเพื่อทำในสิ่งที่ยั่งยืนให้กับโลกของเรา คือ การที่พวกเราจะได้ช่วยกันฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าไม้ที่เสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตของพวกเรา ทั้งบ้าน วัด ราชการ ที่จะได้รับประโยชน์และได้รับโทษโดยตรงก่อนคนอื่นจากความอุดมสมบูรณ์และความเสื่อมโทรมของป่าไม้ เพราะคนข้างล่างจะได้รับผลที่เกิดขึ้น ถ้าด้านบนไม่ดี ความลำบากยากแค้น ความแห้งแล้ง PM2.5 ก็จะเกิดขึ้น ถ้าอุดมสมบูรณ์ เราก็จะมีความสุข อาหารการกินดี ดินฟ้าอากาศดี ส่งผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ
"แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศอย่างเป็นทางการว่าในขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีประกาศเพิ่มเติมว่า เราจะได้รับผลกระทบจากเอลนีโญหรือสภาพความแห้งแล้งของภูมิอากาศที่กระทบไปทั่วโลก อันเกิดจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและความสมดุลทางธรรมชาติ เช่น ตัดต้นไม้ จุดไฟเผาป่า ปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่ลำน้ำสาธารณะ ใช้เครื่องจักร ใช้รถยนต์ที่ปล่อยควันพิษ รวมถึงทิ้งขยะโดยไม่แยกประเภทจนเป็นกองขยะหมักหมมเป็นก๊าซเสียลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ที่ล้วนส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เกิดน้ำท่วม ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลให้มีโรคระบาดใหม่ ๆ เกิดขึ้น" นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวต่ออีกว่า ข้าราชการในฐานะผู้นำของจังหวัดที่ได้ร่วมกับคณะสงฆ์ปักธงชัยขึ้นบนพื้นที่จังหวัดเชียงรายในการดูแลช่วยกันน้อมนำเอาแนวความคิดพระราชทานหรือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่มาใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดังเช่นตลอดเส้นทางที่ได้เห็นบนยอดเขา 2 ฝั่งถนนก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่ได้รวมความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) และทางนี้มีผลผู้คนรักกัน รวมทั้งแนวกันไฟที่แสดงให้เห็นความพยายามทำพื้นที่แห่งนี้ไว้เพื่อ "ป้องกันดีกว่าแก้ไข" ทั้งเรื่องต้นไม้ เรื่องปัจจัยถนน แนวกันไฟ ทางตัดไฟ ที่ท่านพระอาจารย์วิบูลย์ ธมฺมเตโช และครูบาจ๊อก ได้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างถึงการการน้อมนำพระราชดำริมาใช้ฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ด้วยการมีต้นไม้ที่ส่งผลให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร และยังให้ประโยชน์กับต้นไม้ที่อยู่รอบดอยแห่งนี้ รวมถึงทฤษฎีใหม่เรื่องการเลี้ยงดินเพื่อให้ดินเลี้ยงพืช คือ การนำฟางมาถมดินเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ดินไม่ถูกปอกเปลือกเปลือยดินจนทำให้ไส้เดือน กิ้งกือ ฮิวมัส และจุลินทรีย์ ต้องโดนความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง จนเขาอยู่ไม่ได้ เมื่ออยู่ไม่ได้ดินก็ขาดความอุดมสมบูรณ์
"งานในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความรัก ความสามัคคีของทุกภาคส่วนที่มาชุมนุมร่วมกัน ณ ที่แห่งนี้ ทั้งจากส่วนกลาง และจังหวัดเชียงราย ที่ล้วนแล้วมีความมุ่งมั่นตั้งใจสนองพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปรารถนาให้เกิดขึ้นในสังคม คือ "จิตอาสา" อันหมายถึง การที่เราสมัครใจมาช่วยกันทำสิ่งที่ดีให้กับส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน รวมทั้งหลักการทรงงาน "บวร" คือการทำงานจากทุกภาคส่วน ทุกเพศ ทุกวัย นอกจากนี้ พวกเราทุกคนที่นับถือศาสนาพุทธ ต้องร่วมกันให้ความสำคัญกับป่าไม้ กับต้นไม้ ดังที่ฐานพระพุทธบารมีรักษาป่า ได้ปรากฏข้อความว่า "พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ล้วนแล้วแต่ตรัสรู้ใต้ต้นไม้" ดังนั้นประโยชน์ของต้นไม้จึงมีอเนกอนันต์ ทั้งให้ออกซิเจน ให้อาหาร ให้ยารักษาโรค ให้ที่อยู่อาศัย ให้เครื่องไม้ใช้สอย ให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทั้งคนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย และยังเป็นยาอายุวัฒนะแก่โลกใบเดียวของเรา เพื่อที่เราสามารถอยู่อาศัยได้ในโลก ซึ่งคำตอบที่สำคัญที่สุด คือ พื้นที่แห่งนี้ อันเป็น The Best Solution หรือเป็นทางเลือกที่ดี อันส่งผลทำให้มีโลกที่ดี โลกที่เหมาะสม โลกที่เราสามารถอยู่อาศัยได้ หลังจากที่บรรพบุรุษของเราและพวกเราทำให้โลกใบนี้มันอ่อนแอลง มันเหมาะเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเราน้อยลง ซึ่งพื้นที่แห่งนี้จะทำให้โลกกลับมาแข็งแรง กลับมาร่มเย็น กลับมาสร้างความสุขให้กับพวกเราและลูกหลานในอนาคตได้ เป็นตัวอย่างของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สอดคล้องกับ 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ที่พวกเราทุกคนได้แสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งและมุ่งมั่นร่วมกันทุกจังหวัดและสหประชาชาติประจำประเทศไทย จึงขอให้ทุกท่านในที่นี้ได้ร่วมกันเป็นภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนในการนำเสนอถ่ายทอดสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้เกิดขึ้นครอบคลุมในทุกจังหวัดทุกอำเภอทั่วทั้งประเทศ" นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวเน้นย้ำ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า แน่นอนว่าชีวิตไม่ได้มีแค่ป่า ไม่ได้มีแค่การทำกิจกรรมปลูกต้นไม้แล้วจะทำให้อายุของโลกยืนยาวขึ้น "มันยังมีวิถีชีวิตที่เราใช้อยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน และที่ต่าง ๆ" ซึ่งจำเป็นที่พวกเราต้องคำนึงและให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องการบริหารจัดการขยะ ด้วยการคัดแยกขยะ เป็นมนุษย์ 3Rs โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ขยะเปียก" ที่ต้องทิ้งลงถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งขณะนี้เป็นที่น่ายินดีว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ให้การรับรองว่าสารบำรุงดินที่เกิดจากการหมักในถังขยะเปียกลดโลกร้อน สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้ และในวันที่ 21 มิถุนายน 66 นี้ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย จะมาลงนามรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อน โดยให้มูลค่า 260 บาทต่อ 1 ตัน เริ่มจากในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง คือ ลำพูน เลย สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ และจะเพิ่มอีก 22 จังหวัดนำร่อง แสดงให้เห็นว่าในปีนี้จะมี 26 จังหวัดนำร่องที่พี่น้องทุกภาคส่วนได้ช่วยกันปรับวิถีชีวิตเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพี่น้องประชาชนทั่วทั้งประเทศในการคัดแยก Organic Waste หรือ "ขยะเปียก" เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชนโดยรวม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยังได้กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่พวกเราควรภาคภูมิใจ แต่จุดเริ่มต้นที่ดี ณ ที่แห่งนี้ยังไม่เพียงพอ คนอำเภอเมืองเชียงรายอำเภอเดียวไม่สามารถปกป้องโลกใบนี้ได้ แต่สามารถช่วยต่ออายุของโลกใบนี้ได้ เพราะพวกเราทุกคนจะช่วยกันเป็นกระบอกเสียงและนำตัวอย่างที่ดีที่แห่งนี้ กระจายให้เกิดขึ้นทั่วประเทศด้วยกันต่อไป เพื่อให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งที่ดี อันเป็นการทำบุญให้กับโลกของเรา เป็นปฏิบัติบูชาที่สำคัญยิ่งถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ และมอบให้บรรพบุรุษของเราที่เสียสละเลือดเนื้อ ปกป้องรักษาเอกราชของประเทศชาติ ให้ตกทอดมาถึงพวกเราได้อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน
"ขอขอบคุณลูกหลาน "สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย" ที่เป็นเยาวชนต้นแบบของจังหวัดเชียงราย ในการเป็นผู้มีจิตอาสาและยอมเสียสละความสุขส่วนตัวในวันหยุด มาช่วยกันเป็นต้นแบบให้คนทั้งประเทศได้เห็นว่า ถ้าพวกเราทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็ก ๆ ที่เป็นอนาคตของชาติได้รวมตัวกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันปรึกษาหารือ และมาช่วยกันทำในสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์ ซึ่งการที่เราได้มาช่วยกันสร้างป่าชุมชนที่นอกจากจะเป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังทำให้โลกของเรามีความร่มเย็น มีก๊าซออกซิเจนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อเราให้ความสำคัญกับต้นไม้ ต้นไม้ก็จะมีผลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และช่วยให้เป็นยาอายุวัฒนะให้โลกของเรายืนยาว ทำให้เกิดความสุขที่ยั่งยืนตลอดไป" นายสุทธิพงษ์ ฯ กล่าวในช่วงท้าย
Comments