(15 กุมภาพันธ์ 2567) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ปตท. และบริษัทย่อย ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 112,024 ล้านบาท คิดเป็น 3.6% ของยอดขาย สูงกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 13,000 ล้านบาท ประกอบกับในปี 2566 กลุ่มปตท. มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น ตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าในปี 2566 แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) ของกลุ่ม ปตท. ปรับลดลง โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ที่มีกำไรขั้นต้นจากการกลั่น (Market GRM) ลดลงจากปี 2565 อีกทั้งในปี 2566 กลุ่ม ปตท. มีผลขาดทุนสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งผลการดำเนินงานของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปรับลดลงจากราคาขายเฉลี่ยและปริมาณขายเฉลี่ยลดลง ประกอบกับกลุ่มธุรกิจอื่น ๆ มีผลการดำเนินงานลดลง
โดยสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ซึ่งเป็นธุรกิจที่แข่งขันเสรีทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจได้เป็น ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 45% ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น 9% ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทย่อยอื่น ๆ 17% ซึ่งมีผลการดำเนินงานจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น จากบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ที่มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และจากบริษัท Lotus Pharmaceutical Company Limited (Lotus) ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาสามัญ ในประเทศไต้หวัน และกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 7% ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil เช่น กาแฟ และร้านสะดวกซื้อ ที่มีกำไรต่อรายได้แค่เพียง 1% ขณะที่เป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. เพียง 22%
ทั้งนี้คณะกรรมการ ปตท. มีมติจ่ายเงินปันผลสำหรับผลประกอบการปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 2.00 บาท โดยได้จ่ายปันผลระหว่างกาลไปแล้วในอัตราหุ้นละ 0.80 บาท เมื่อกันยายน 2566 คงเหลือเงินปันผลที่จะจ่ายอีกในอัตราหุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่และกองทุนวายุภักษ์รับปันผลรวมประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครือ อีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาท รวมกลุ่ม ปตท. นำส่งรายได้จากการดำเนินธุรกิจปี 2566 ให้กับรัฐแล้วประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ปตท. มีส่วนร่วมสร้างเสถียรภาพทางพลังงาน จุดพลังพัฒนาคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ด้านพลังงานแห่งอนาคตมีการต่อยอดสถานีเชื้อเพลิงไฮโดรเจน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ให้รองรับรถบรรทุกขนส่งและรถหัวลาก จัดตั้งโรงงาน NV Gotion ผลิตชุดแบตเตอรี่ ร่วมกับ KYMCO Group จัดตั้ง Aionex จำหน่ายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มจุดติดตั้ง EV Charging Station แบรนด์ on-ion ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ด้านธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน NRPT เปิดตัว Plant & Bean ประเทศไทย โรงงานรับจ้างผลิตโปรตีนพืช 100% ที่ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารระดับโลก BRCGS Plant-based ที่แรก และใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก Innobic Nutrition เปิดตัวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
สำหรับในด้านธุรกิจโลจิสติกส์ เปิดการขนส่งสินค้าทางรางเส้นทาง ไทย-ลาว-จีน เชื่อมโยงระบบขนส่งไทยและภูมิภาคอาเซียน และเตรียมงบลงทุน ประจำปี 2567 – 2571 จำนวน 89,203 ล้านบาท มุ่งผลักดันเศรษฐกิจประเทศให้เดินหน้า
ด้านสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม ปตท. ปลูกป่าไปแล้วทั้งสิ้น 86,173 ไร่ ใน 25 จังหวัด กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน ผ่านโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มที่ได้นำองค์ความรู้และนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนเกษตรกรรมใน 45 พื้นที่ 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเพิ่มรายได้ชุมชนกว่า 31.59 ล้านบาท และโครงการสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคมที่สามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกกว่า 5.75 ล้านบาท
ที่ผ่านมา ปตท. ได้ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนให้ก้าวข้ามช่วงวิกฤต ผ่านการดำเนินงาน อาทิ โครงการลมหายใจเดียวกันและลมหายใจเพื่อน้อง การสำรองน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรล การตรึงราคา NGV การช่วยเหลือราคา LPG แก่หาบเร่แผงลอยผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมัน การขยายเครดิตเทอมแก่ กฟผ. เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2563 - 2566 รวมแล้วกว่า 31,060 ล้านบาท
Comments