วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ที่กลุ่มแปลงใหญ่ข้าวบ้านหนองบุญชู ตำบลอู่ทอง อำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงานรณรงค์สาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร สาธิตการเกี่ยวข้าว ไถกลบตอซัง งดเผาฟาง โดยจังหวัดมหาสารคามร่วมกับบริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จํากัด จัดขึ้นภายใต้โครงการของจังหวัดมหาสารคามเกษตรปลอดการเผา Zero Burn “มุ่งสร้างมหาสารคาม มหานครปลอดการเผา" โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการนำร่องการสาธิตเทคโนโลยี การจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผา จัดทำแปลงสาธิตการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทดแทนการเผา โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการ จัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร
จังหวัดมหาสารคาม โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานในสังกัดระดับพื้นที่ ได้ดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนเกษตรเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร สร้างความรู้ความเข้าใจแก่เกษตร เพื่อสร้างเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา รวมทั้งสร้างชุมชนเกษตรปลอดการเผาต้นแบบ ตลอดจนได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดงานรณรงค์ในท้องถิ่น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ช่วงวิกฤตหมอกควัน รวมถึงการจัดทำแปลงนำร่องสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุทดแทนการเผา เพื่อให้เกษตรกรจะมี ความเข้าใจและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเผาในพื้นที่เกษตร และสามารถนำความรู้นี้ ถ่ายทอดไปสู่ประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี พร้อมกันนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคามร่วมกับ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมเดินหน้ารณรงค์ให้เกษตรกรไทยร่วมใจปลอดการเผาในพื้นที่ การเกษตรอย่างยั่งยืน ด้วย 3 R Modle : 3 เปลี่ยน 1. เปลี่ยนพฤติกรรม Re-Habit ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา 2. เปลี่ยนชนิดพืช Replace with high value crops ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนพื้นที่สูงจากพืชไร่เป็นไม้ผล พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ที่มีมูลค่าสูง 3. เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือก Replace with alternate crops ปรับเปลี่ยนพืชทางเลือกบน พื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกเขตชลประทาน ให้ปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผา ตลอดจนให้การสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร การส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมพื้นที่เพาะปลูก โดยวิธีการไถกลบตอซังทดแทนการเผา ส่งเสริมการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาแปรสภาพให้เกิดประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ยหมัก การปลูกเห็ดฟาง การผลิตอาหารสัตว์ การทำถ่านอัดแท่งหรือของประดับ ปัจจุบันยังมีจุดความร้อนที่เกิดจากการเผาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดความร้อนเล็กๆเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ เกิดมลพิษทางอากาศสะสมทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเป็นผลเสียกับสุขภาพของประชาชน หากเกษตรกรลดการเผาแล้วนำเทคโนโลยีมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มกับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จะเกิดเป็นรายได้แก่เกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง ปลูกจิตสำนึกในกลุ่ม ในชุมชน มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร ขอความร่วมมือประชาชนหากพบการเผาเศษวัสดุในพื้นที่ การเกษตร ให้ดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งชุดปฏิบัติการ 3 มาตรการ “เจอ จับ ปรับ” เจอเป็นดับ จับมือคุย ปรับเปลี่ยนไม่เผา แจ้งเหตุไปยังสายด่วนฉุกเฉิน 1784 สำหรับทุกพื้นที่ หรือ 1362 สำหรับพื้นที่ป่า ทั้ง 2 เบอร์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกษตรกรหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรแล้วจะได้ 5 ดี คือ อากาศดี สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สิ่งแวดล้อมดี และยังได้ปุ๋ยที่ดีจากธรรมชาติ มุ่งเน้นให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและมีรายได้ที่มั่นคง
Comments