..
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, กรมควบคุมมลพิษ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกาะติดสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมง ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 4 เมษายน 2567 พบ 19 จังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าฝุ่นเกินเกณฑ์มาตรฐานในระดับสีแดง ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ #แม่ฮ่องสอน 186 ไมโครกรัม #เชียงราย 184.5 ไมโครกรัม #เชียงใหม่ 166.8 ไมโครกรัม #ลำพูน 148 ไมโครกรัม #พะเยา 144.2 ไมโครกรัม #น่าน 140.5 ไมโครกรัม #ลำปาง 131.5 ไมโครกรัม #แพร่ 110.6 ไมโครกรัม #บึงกาฬ 104.2 ไมโครกรัม #เลย 96.3 ไมโครกรัม #อุตรดิตถ์ 92.4 ไมโครกรัม #นครพนม 83.7 ไมโครกรัม #หนองคาย 81.8 ไมโครกรัม #ตาก 81.5 ไมโครกรัม #อุดรธานี 81.4 ไมโครกรัม #กาฬสินธุ์ 78.7 ไมโครกรัม #หนองบัวลำภู 77.7 ไมโครกรัม #สุโขทัย 76.5 ไมโครกรัม #สกลนคร 75.8 ไมโครกรัม
ในขณะที่อีก 16 จังหวัดมีค่าเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม ที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะอยู่ในโซนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
.
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครเช้าวันนี้พบว่ามีคุณภาพอากาศดีไปจนถึงอากาศดีมาก
.
แอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” ยังคาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอีก 3 ชั่วโมงข้างหน้า พบว่าหลายพื้นที่จะมีค่าคุณภาพอากาศที่ยังคงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะโซนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ข้อมูลบนแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” มีการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมร่วมกับ AI (Artificial intelligence) ในการวิเคราะห์ค่าฝุ่น PM 2.5 แบบรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ร่วมกับการใช้ข้อมูลการตรวจวัด PM 2.5 จากกรมควบคุมมลพิษ, ข้อมูลสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา รวมถึงข้อมูลของแหล่งกำเนิดฝุ่น เช่น จุดความร้อน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก มานำเสนอให้ในรูปแบบข้อมูลตัวเลขและค่าสีในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายยิ่งขึ้น
.
ประชาชนควรสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาโดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามข้อมูล PM2.5 แบบราย ชั่วโมงเพิ่มเติมผ่านแอปพลิเคชัน "เช็คฝุ่น"
Comentarios