top of page

“พลังงาน” หนุนวิสาหกิจชุมชน จ.สมุทรสงคราม ใช้พลังงานทดแทน ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ สร้างศักยภาพสินค้าเกษตร และลดการใช้พลังงานได้กว่าร้อยละ 50

กระทรวงพลังงานส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในชุมชนครบวงจร เดินหน้าสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน จ.สมุทรสงคราม นำพลังงานทดแทน ทั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เตามณฑล ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ มาใช้เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์การเกษตร สามารถลดต้นทุนการผลิตได้กว่าร้อยละ 50

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายสุนทร อุษาบริสุทธิ์ พลังงานจังหวัดสมุทรสงคราม ได้พาคณะเข้าเยี่ยมชมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เกษตรสวนนอก ต.บางยี่รงค์ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่งได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงาน สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตร อาทิ น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าวและใบลิ้นจี่ กระดาษสาจากก้านกุหลาบ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยสำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสงครามได้ให้ความสำคัญกับการวางแผนพลังงานชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมผสานระหว่าง ประชาชน-รัฐ-เอกชน เพื่อให้การบริหารจัดการพลังงานของท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและผลักดันการใช้พลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรในกลุ่มชุมชน

ในกระบวนการผลิตแบบเดิม กลุ่มวิสาหกิจประสบปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพและมีต้นทุนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อาทิ ในกระบวนการผลิตน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นซึ่งเดิมต้องตากแห้งกากมะพร้าว 2 – 3 วัน ซึ่งการตากแดดตามธรรมชาติทำให้การผลิตขาดช่วงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน อีกทั้งยังควบคุมคุณภาพได้ยาก หรือการต้มสีย้อมสำหรับผ้ามัดย้อม ซึ่งเดิมใช้เตาฟืนขนาดเล็ก มีประสิทธิภาพต่ำ มีต้นทุนเชื้อเพลิงสูง และส่งผลต่อการควบคุมคุณภาพของสินค้าอีกด้วย ดังนั้น สำนักงานพลังงานจังหวัดสมุทรสงครามจึงได้ผลักดันกลุ่มวิสาหกิจเข้ารับการสนับสนุนงบประมาณ โดยได้รับสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและเพิ่มกำลังผลิต ได้แก่ ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 2 x 2 เมตร จำนวน 18 ระบบ และขนาด 3 x 4 เมตร จำนวน 1 ระบบ เตาชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เตามณฑล) 2 กระทะ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการให้ความร้อนสูงและสามารถใช้วัสดุธรรมชาติในพื้นที่ เช่น ทางมะพร้าว เป็นเชื้อเพลิงทดแทนฟืนได้ ชุดครอบหัวเตาแก๊ส 2 ชุด ซึ่งช่วยควบคุมประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงให้ดียิ่งขึ้น และรถเข็นสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เคลื่อนที่ ขนาด 340 วัตต์ จำนวน 1 ระบบ เพื่อใช้สำหรับเกษตรกรรมของกลุ่ม

“ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มประสบปัญหาในเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตอย่าง ฟืน และก๊าซ LPG รวมทั้งยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐาน การได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทั้งระบบอบแห้ง เตามณฑล ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐาน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตลงได้ 50% โดยประหยัดค่าก๊าซ LPG และฟืน คิดเป็นเงินได้ประมาณ 10,000 บาทต่อปี ที่สำคัญทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมมีที่รายได้ 2 - 4 แสนบาทต่อปี เพิ่มเป็น 5 แสนบาทต่อปี” นายสุนทร กล่าว

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page