top of page

พาณิชย์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมส่งเสริมนักศึกษาสู่การเป็นนักรบการค้าของประเทศ


ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (สถาบัน NEA) ดำเนินโครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 โดยบูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมและสร้างศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนกว่า 3,300 ราย สู่การเป็นนักรบทางการค้าของประเทศ โดยพิธีเปิดการอบรมในวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 ได้รับเกียรติจาก นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี นางทัศพร ไกร ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์ นางศิริพร โกมลหิรัญ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมการประกอบธุรกิจ จากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผู้บริหาร คณาจารย์ และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ Gen Z จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เข้าร่วมงาน ณ หอประชุมวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างเนื่องแน่น

นางอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ “กล่าวว่า ในนามของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดิฉันขอขอบคุณท่านผู้บริหาร และอาจารย์ทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการดำเนินโครงการ From Gen Z to be CEO ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และขอแสดงความยินดีอีกครั้งกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีที่ในปี 2565 ที่ผ่านมา นายภัทรกร ศรนรายน์ หรือน้องแทน ได้รับรางวัล Gen Z Ambassador หรือรางวัลสำหรับ 1 ใน 4 คน ที่มีคะแนนสูงสุดของประเทศจากผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 16,000 ราย น้องเป็นความภาคภูมิใจจากที่เราได้นำความรู้มามอบให้กับน้อง และน้องแทนเป็นคนที่ได้รับ ได้เรียนรู้ และนำไปต่อยอดจนกระทั่งสามารถสอบได้คะแนนสูงสุด 1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด

และสำหรับปี 2566 นี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้สนับสนุนและผลักดันให้นักศึกษาเข้าร่วมอบรมมากกว่า 3,300 ราย ซึ่งรางวัล สถาบันการศึกษาดีเด่น ประจำปี 2564 และ 2565 นั้นเหมาะสมยิ่งที่จะมอบให้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งดิฉันเชื่อมั่นว่าในปีนี้ มหาวิทยาลัยก็ยังจะได้รับรางวัลสถาบันการศึกษาดีเด่นอีกเช่นเดียวกัน ถือเป็นเครื่องการันตีในวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัย ที่มองเห็นความสำคัญของการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ สามารถก้าวสู่การเป็นซีอีโอเจนซีที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสน่ห์ บุญกำเนิด รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้เข้าร่วมโครงการตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงพาณิชย์ข้อที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ พัฒนาศักยภาพ สร้างผู้ประกอบการรายใหม่ให้สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้ผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปที่สนใจด้านการค้าระหว่างประเทศสามารถทำการค้าและสร้างคุณค่าให้กับการส่งออกของไทยได้ในอนาคต

โดยเฉพาะการนำองค์ความรู้ด้านการค้าระหว่างประเทศมาผนวกกับแนวคิดการใช้ soft power เพื่อ mindset บ่มเพาะให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการใช้วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของไทยมาพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้สามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ สำหรับกิจกรรมในวันนี้ จะเสริมสร้างเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาที่อบรม เชื่อมั่นว่านักศึกษาที่ร่วมในครั้งนี้จะได้รับประสบการณ์ความรู้ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดระยะเวลาของการอบรมในครั้งนี้ ท้ายนี้ขอขอบคุณทุกฝ่ายๆ ที่ทำให้เกิดโครงการนี้ครับ”

นายภัทรกร ศรนรายน์ นักศึกษาจากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี Gen Z Ambassador ประจำปี 2565 กล่าวว่า “รู้สึกดีใจและประทับใจมากครับที่ได้เข้าร่วมโครงการ From Gen Z to be CEO เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้ในหลักสูตรที่มีเนื้อหาที่ทันต่อโลกยุคใหม่ ยังได้ความรู้และประสบการณ์ตรงที่ไม่สามารถหาได้ในมหาวิทยาลัย ซึ่งความรู้ตรงนี้มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกยุคปัจจุบันและอนาคตครับ และประทับใจทั้งความรู้จากท่านวิทยากร รวมทั้งโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กับทุก ๆ คน ซึ่งความรู้ตรงนี้นอกจากจะช่วยให้พัฒนาตัวของผมเองก็ยังสามารถนำมาเป็นไอเดียในการเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือนำมาปรับใช้ในการสร้างความได้เปรียบในการเพิ่มกำไร/ลดต้นทุนกับธุรกิจได้ครับ”

โครงการ From Gen Z to be CEO ประจำปี 2566 ในครั้งที่ 12 ได้จัดอบรม ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2566 ใน 6 หลักสูตร ประกอบด้วย 1. หลักสูตรประสบการณ์จาก CEO สู่แรงบันดาลใจ โดย คุณมาดิน๊ะ เล่าเจริญ ผู้บริหาร บริษัท วิยะ อินเตอร์เครป 2003 จากัด 2. หลักสูตรขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ: Road to Entrepreneurs โดย คุณพรชัย พัวพัฒนขจร ประธานบริษัท Fruit Organic Co.,Ltd. 3. หลักสูตรความรู้เบื้องต้นและ Logistics เพื่อการส่งออก โดย คุณปณต บุณยะโหตระ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 4. หลักสูตรวิเคราะห์สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ โดยคุณไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน 5. หลักสูตรการตลาด E-Commerce และแพลตฟอร์มออนไลน์ โดย คุณนพดา อธิกากัมพู ประธานกรรมการ บริษัท นพดาโปรดักส์ จำกัด คุณธเธียร อนุจรพันธ์ Thailand Head of Strategic Partnership & Business of Amazon Global Selling Thailand และคุณเจริญ หิรัญตระกูล Partnership Manager, Payoneer Inc. และ 6. หลักสูตรแนวคิดการทำธุรกิจสู่สากล : Internationalization โดย คุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ซังโกะ ไดคาซติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เมื่ออบรมเสร็จสิ้นแล้ว ทำการสอบวัดผลผ่านระบบออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Wisimo เพื่อประเมินผลต่อไป

สำหรับการอบรมในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566) จัดอบรมระหว่างวันที่ 26-29 มิถุนายน 2566 คาดว่าจะมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมอบรมไม่ต่ำกว่า 2,000 ราย “ที่สุดของโอกาส ที่สุดแห่งการเป็น CEO อาจเป็นคุณ กระทรวง พาณิชย์พร้อมเดินหน้าปั้น Gen Z รุ่นที่ 4 สู่การเป็น CEO ตัวจริง ภายใต้โครงการ From Gen Z to be CEO” โดยสามารถติดตามกิจกรรมได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/nea.ditp/

Comentários


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page