top of page

ภาวะโลกร้อนเกี่ยวกับอาหารที่เรากินอย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญองค์การสหประชาชาติชี้ว่า การเปลี่ยนวิถีการบริโภคอาหารมาเป็นกินอาหารจากพืชจะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อนได้


คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) เผยแพร่รายงานที่ศึกษาโดยนักวิทยาศาสตร์ 107 คน ในการประชุมที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในประเทศตะวันตกที่มีปริมาณสูงมาก เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน


อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า พวกเขาไม่ได้เรียกร้องให้ผู้คนเปลี่ยนมาบริโภคแบบมังสวิรัติ แต่หากสามารถลดการบริโภคเนื้อสัตว์ได้จะทำให้ลดการใช้ที่ดินลง แต่ก็สามารถผลิตอาหารเพื่อคนจำนวนมากขึ้นได้ด้วย

คณะกรรมการ ชุดนี้ ยังชี้อีกว่า หากที่ดินถูกใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะยิ่งซึมซับการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ปล่อยออกจากมนุษย์ได้มากขึ้น

ชาติตะวันตกบริโภคสัตว์มากเกินไป

"เราไม่ได้บอกให้คนหยุดกินเนื้อ แต่กับหลาย ๆ ที่ ผู้คนไม่มีทางเลือกอื่น แต่เห็นได้อย่างชัดเจนว่า คนในประเทศตะวันตกบริโภคเนื้อสัตว์เยอะมากเกินไป" ศ. พีท สมิธ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแอเบอร์ดีน สหราชอาณาจักร ระบุ

รายงานฉบับดังกล่าว ได้เรียกร้องให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังเพื่อยุติการทำลายพื้นดินและการทำให้ดินกลายสภาพเป็นทะเลทราย อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากนี้ยังเตือนรัฐบาลหลาย ๆ ประเทศว่า ให้จำกัดพื้นที่การปลูกต้นไม้แล้วเผาเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า เพราะเป็นภัยคุกคามต่อการผลิตอาหาร

รายงานระบุว่า พื้นผิวหน้าดินและการใช้ประโยชน์จากดิน ได้กลายเป็นสิ่งที่สร้างรากฐานของสังคมมนุษย์และเศรษฐกิจโลก แต่เรากำลังเปลี่ยนแปลงมันในทางที่แย่ลง ไม่ว่าจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของมนุษย์ที่ก่อโลกร้อนเป็นความกังวลสำหรับอนาคต

โลกร้อนเกี่ยวกับอาหารที่เรากินอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของวงจรอาหารของมนุษย์ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนที่ตกมากขึ้น และสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์

อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารก็ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนเช่นกัน เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมป่าไม้ กินสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมา ส่วนการเลี้ยงปศุสัตว์ก่อโลกร้อนด้วยการปล่อยก๊าซมีเทน รวมทั้งการทำให้พื้นที่ป่าลดลงจากการรูปแบบการเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง

ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติและวีแกนหลายคนเปลี่ยนวิถีการบริโภคของตัวเองส่วนหนึ่งเพราะเหตุผลด้านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ มีกลุ่มรณรงค์กลุ่มหนึ่งในสหราชอาณาจักรที่ชื่อว่า #nobeef พยายามรณรงค์ให้ผู้ค้าอาหารเอาเนื้อวัวและแกะออกจากเมนูอาหารที่จัดให้นักเรียน

ส่วนในสหรัฐฯ เบอร์เกอร์แบบวีแกน (การงดบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบจากสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ปรุงจากพืชแทนเนื้อสัตว์ ซึ่งรสชาติไม่มีความแตกต่างจากการใช้เนื้อจริงปรุง


อาหารที่เรากินปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน

- 1 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากอาหาร (26%)

- มากกว่าครึ่งของก๊าซเรือนกระจกจากอาหารที่เรากินมาจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (58%)

- 50% ของก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฟาร์มสัตว์ เป็นฟาร์มที่ผลิตเนื้อวัวและเนื้อแกะ


องค์กรคอมแพชชั่น อิน เวิลด์ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสิ่งจำเป็นหากต้องการลดปัญหาด้านสภาวะภูมิอากาศให้ได้ตามเป้า อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอย่างจีน การกินเนื้อวัวกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีความพยายามจากรัฐบาลจีนในการส่งเสริมให้กินอาหารพื้นถิ่น

รายงานของสหประชาชาติ ยังกระตุ้นให้หยุดการบริโภคอาหารแล้วเหลือทิ้ง ทั้งในขั้นก่อนและหลังที่จะขายให้กับผู้บริโภค ตัวอย่างของการลดการเกิดอาหารที่ไม่ถูกบริโภค อาจนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรืออาหารตามร้านค้าที่ขายไม่หมดควรบริจาคให้กับผู้คนที่จำเป็น เช่น ที่สวิตเซอร์แลนด์มีองค์กรที่นำอาหารจากร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายไม่หมดและกำลังจะถูกทิ้ง นำไปส่งต่อให้กับครอบครัวในท้องถิ่น วิธีการเหล่านี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร


ต้นไม้ดูดเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราปล่อยออกไปหรือไม่

ปริมาณคาร์บอนที่ล้นเกินจากมนุษย์ที่ปล่อยสู่บรรยากาศถูกกับเก็บโดยต้นไม้ในป่า กระบวนการนี้ช่วยต่อการลดภาวะโลกร้อน แต่ปริมาณคาร์บอนต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม หากอุณหภูมิของโลกร้อนขึ้น ความสมดุลที่ต้นไม้จะดูดซับคาร์บอนจะไม่มีทันที

รายงานของสหประชาชาติ ชี้ว่า บริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรน่าจะสูญเสียพื้นที่ปลูกพืชแล้วจากความร้อน นอกจากนี้ในที่ดินบางแห่งที่สูญเสียฟอสฟอรัสในดิน ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญของพืช จะทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโตนอกจากนี้ การใช้พลังงานชีวภาพที่ดูเหมือนจะเป็นวิธีที่ลดปัญหานี้ ก็ควรคำนึงถึงวิธีการผลิต เนื่องจาก พลังงานชีวภาพเกี่ยวข้องกับการเผาพืชผัก ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญของดิน ในบางประเทศมักจะใช้วิธีการนี้เพราะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ชัดเจน

องค์กรพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ คาดการณ์ว่า พลังงานชีวภาพจะแซงหน้าพลังจากลม พลังงานน้ำในอีกห้าปีข้างหน้า

แต่นักวิทยาศาสตร์ผู้เขียนรายงานของคณะกรรมการลดโลกร้อนของสหประชาชาติระบุว่า การเปลี่ยนที่ดินเป็นพื้นที่ผลิตพลังงานชีวภาพในประเทศที่เน้นการเกษตรกรรมอาจส่งผลเสียมากกว่า โดยแนะว่าหากจะเปลี่ยนมาผลิตพลังงานชีวภาพควรจำกัดเขตของที่ดินไม่ให้มากเกินไป




Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page