top of page

ม.หอการค้าไทย ประกาศความเป็นเลิศด้าน AI ปักธง “AI - UTCC”ตั้งเป้าเป็นสถาบันการศึกษาไทยคุณภาพระดับโลก


มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก้าวสู่ความเป็นเลิศด้าน AI Integrated University ตั้งเป้าเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท พัฒนาหลักสูตร AI พร้อมใช้แพลตฟอร์ม AI จาก Microsoft และ Canva Pro ฟรีสำหรับนักศึกษาทุกคน เปิดห้องเรียนสมาร์ทคลาสรูม ปรับรูปแบบการเรียนโดยใช้ AI เป็นผู้ช่วยสอนหลักสูตรแรกของประเทศไทย  และ เทคโนโลยี AI UTCC Engine เป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา วิเคราะห์จุดแข็งและทักษะของนักศึกษา เสริมความปลอดภัยและประหยัดพลังงานทั้งแคมปัสด้วยระบบ AI พร้อมหนุนงานวิจัย โดยมีการนำ AI เข้ามาใช้  ทั้งหมดนี้เพื่อยกระดับความสามารถบัณฑิตไทยเชี่ยวชาญด้าน AI ให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน เพิ่มขีดการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยให้ก้าวไปยืนอยู่ในตลาดระดับโลก 

ยุคดิจิทัลที่ AI (ปัญญาประดิษฐ์) กำลังเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในด้านแรงงานและการใช้ AI ภายในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานและสถานะของแรงงานในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก้าวสู่ AI - UTCC

 

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่ามหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและการบริการ มุ่งเน้นการผลิตนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริม Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2564 นั้น ขณะนี้ประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ซึ่งอุดมศึกษาได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งรูปแบบการใช้ชีวิตของนักศึกษาแตกต่างไปจากเดิม รวมถึงการขยายตัวของดิจิทัล โดยเฉพาะ AI (ปัญญาประดิษฐ์) มหาวิทยาลัยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และรูปแบบการเรียนการสอน การให้บริการแก่นักศึกษา ในการตั้งเป้าก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย AI Integrated คือ ไม่เพียงแค่การเปิดสอนหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ AI มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ม.หอการค้าไทยได้นำ AI มาบูรณาการในมิติการเรียนการสอนและการให้บริการของมหาวิทยาลัย หรือ AI - UTCC เพื่อยกระดับคุณภาพและความสามารถของบัณฑิตไทยให้พร้อมสู่ตลาดแรงงาน เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยให้ก้าวไปยืนอยู่ในตลาดระดับโลก

“ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม ต่างมีการนำ AI เข้ามาใช้ในระบบงาน และเป็นเทรนด์ของโลกที่มีพลังอย่างมากจริงๆ การศึกษาเป็นเรื่องที่ถูกดิสรัปชั่นมากที่สุด อย่างการส่งงาน นักศึกษาก็ใช้ ChatGPT ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยต้องเปิดกว้าง และในการผลิตกำลังคน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรบุคคล แรงงานสำคัญของประเทศ ดังนั้น การผลิตกำลังคนต้องแตกต่างไปจากเดิม และนักศึกษาทุกคนต้องมีทักษะด้าน AI ด้านดิจิทัล” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว

 

จับมือไมโครซอฟท์นำ AI มาใช้

 

ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ได้มีการศึกษาวิจัย และแผนในการปรับตัวเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเอไอ  หรือ AI - UTCC มา 3 ปี โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน หลักสูตร และการให้บริการแก่นักศึกษา โดยมีการนำ AI เข้ามาใช้  มีการจัดทำฐานข้อมูลใหม่ทั้งหมด  และมีการจัดทำห้องสมาร์ทคลาสรูม เป็นต้น

อธิการบดี กล่าวต่อว่า ปีนี้ ม.หอการค้าไทยก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 โดยการเป็น AI - UTCC และเพื่อเป็น มหาวิทยาลัยเอกชนไทยที่มีคุณภาพทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ซึ่งในการขับเคลื่อนก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัย AI นั้น ได้มีความร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ในการจัดการเกี่ยวกับข้อมูล และการใช้ระบบดิจิทัล  โดยมีระบบต่างๆ ให้บริการนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็น หลักสูตร อาทิ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึง วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และ เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เรียนเพื่อนำ AI ไปประยุกต์ใช้และตอบโจทย์ธุรกิจ อีกทั้งวิชาที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกสาขาวิชาสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับ AI เช่น วิชา AI for Business โดยคณะบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่ใช้ AI เป็นผู้ช่วยสอน เพื่อจะติดอาวุธให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัย ใช้งาน AI ได้ในทุกภาคส่วนของธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

            รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยได้ยกระดับประสบการณ์การเรียนการสอน โดยใช้ AI  อย่าง การจัดทำห้อง  Hyflex Classroom (Smart Classroom) จำนวน 15 ห้อง และจะมีขยายไปให้ครบ 50 ห้อง เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้ในรูปแบบของ AI มีการแจก iPad พร้อมแพลตฟอร์ม AI ที่นักศึกษาสามารถใช้ในการทำงาน การเรียนรู้ได้อย่างเต็มรูปแบบ อยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนได้ โปรแกรม Canva Pro มาพร้อมกับฟีเจอร์ AI (Magic Design) ที่ฟรีสำหรับนักศึกษาทุกคน และการฝึกฝนภาษาต่างๆ ผ่าน AI ผู้ช่วยสอน เพื่อให้การเรียนภาษากลายเป็นเรื่องสนุกยิ่งขึ้น

รวมถึงมีโปรแกรม AI UTCC Engine  AI ที่พัฒนาขึ้นโดยทีมงานม.หอการค้าไทย ซึ่งนักศึกษาสามารถเตรียมพร้อมในการสอบสัมภาษณ์และรับคำแนะนำจาก AI ระบบยังมีการจัดทำทรานสคริปต์แบบเรียลไทม์ โดยนอกจากทรานสคริปต์ผลการเรียนแล้ว มีการจัดทำ Skill Transcript และ Soft skill transcript ซึ่งเป็นทรานสคริปต์ที่บอกได้ว่านักศึกษามีทักษะด้านดิจิทัล หรือ Soft skill ด้านไหน อะไรบ้าง ปัจจุบันนักศึกษาสามารถใช้งานระบบ Soft Skill Transcript บางฟังก์ชั่นได้แล้ว และคาดว่าจะพัฒนาระบบแล้วเสร็จก่อนจะนำไปใช้ได้เต็มรูปแบบในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ นักศึกษาม.หอการค้าไทยจะได้ทรานสคริปต์ทั้ง 3 ประเภท เพื่อนำไปสมัครงาน และ AI ที่จะช่วยนักศึกษาในการวางแผนอาชีพของเขา เสมือนเป็นผู้ช่วยอาจารย์ที่ปรึกษา

 

ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาทพัฒนา AI

 

การจะเป็น AI - UTCC ได้นั้น นอกจากลงทุนเรื่องของระบบการจัดการข้อมูล การใช้ระบบดิจิทัลทำงานร่วมกับบริษัท ไมโครซอฟท์ฯ แล้ว มหาวิทยาลัยต้องมีการอบรม การเทรนและทดสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ  และฝึกปฏิบัติกับอาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย เพื่อจะนำไปสร้างประสบการณ์การให้บริการ นักศึกษาทุกคณะทุกหลักสูตร ต้องมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี ใช้ AI ได้ทั้งการนำเสนอผลงาน หรือการฝึกซ้อมการพรีเซนต์ ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้โปรแกรมเหล่านี้ได้ฟรี

นายปรเมศ ส่งแสงเติม รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ลงทุนในการพัฒนาระบบ AI ต่างๆ กว่า 100 ล้านบาท ซึ่งมหาวิทยาลัยเริ่มต้นให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการเรียนการสอนระบบ Hybrid Learning System ตั้งแต่ปี 2549 จนตอนนี้เป็นก้าวเริ่มต้นของการเป็น AI - UTCC และเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ระบบ AI จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยสอนแก่คณาจารย์ และทำหน้าที่ตอบคำถาม เสมือนเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้แก่เด็ก รวมถึงนักศึกษาสามารถเรียนแบบไฮบริด และเข้าไปเรียนในระบบออนไลน์ย้อนหลังได้ เพราะต่อให้ห้องสมาร์ทคลาสรูม มีการติดตั้งกล้อง AI พร้อมการอัดวิดีโอเพื่อให้นักศึกษาที่อาจจะไม่สะดวก หรือมีธุระ ได้มีโอกาสได้เรียนเหมือนกับเพื่อน แต่ทั้งหมดนี้ก็จะคำนึงเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล คณาจารย์จะมีการแจ้งนักศึกษาทุกครั้ง และมีเฉพาะนักศึกษาในแต่ละคลาสเท่านั้นที่สามารถดูได้ และนำ AI มาใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยภายในบริเวณมหาวิทยาลัย ติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่ทำงานด้วยระบบ AI เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยให้นักศึกษาและผู้ปกครองได้อุ่นใจ

 

AI ทักษะที่นักศึกษาทุกคณะต้องมี

 

ดร.ชัชชัย หวังวิวัฒนา  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ  มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หลายคนมักจะเข้าใจว่า AI เป็นเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งจริง ๆ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง ในยุคดิจิทัล ที่ทุกภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ต่างมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น นักศึกษาทุกคณะ ทุกหลักสูตร ต้องมีทักษะ AI  เพราะ AI จะกลายเป็นทักษะที่จำเป็นกับทุกสาขาวิชา เช่น นักการตลาด จำเป็นต้องอ่านข้อมูลเป็น ติดตามเทรนด์ได้ และรู้จักใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ทั้งในการสร้างภาพ สร้างสื่อในการนำเสนอขาย เด็กหัวการค้า ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงไม่ได้เป็นเพียงผู้ประกอบการ ทำธุรกิจเป็น แต่จะมีทักษะ AI ทักษะดิจิทัลที่สามารถทำงานได้จริง

 

“ผมมีความเชื่อ ว่าเอไอมาแทนคนไม่ได้ 100% แต่ทุกคนจำเป็นต้องมีทักษะด้าน AI เพื่อทำงานได้ อยู่รอดได้ในสภาวะการแข่งขันที่ดุเดือด และคนที่ไม่มีทักษะด้านนี้จะเสียโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาที่แทนที่จะกลัวและปิดกั้น AI แต่ต้องพัฒนาทักษะการใช้และพัฒนา AI ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ให้ AI เป็นผู้ช่วยยกระดับศักยภาพของมนุษย์ มากกว่าการให้ทำงานแทนโดยไม่มีความรู้ ถึงจะสร้างประโยชน์ได้อย่างแท้จริง นักศึกษา ม.หอการค้าไทย ทุกคนจะมีทักษะในการคิด แก้ไขปัญหาด้วย AI ใช้ AI ในการทำงาน และสามารถสร้างสรรค์ AI เพื่อการได้เปรียบในการแข่งขันได้ และมหาวิทยาลัยจะไม่หยุดพัฒนา AI  ซึ่ง  ม.หอการค้าไทยมีนักวิจัยและมีศูนย์วิจัยด้าน AI โดยเฉพาะ  ฉะนั้น ม.หอการค้าไทย พร้อมก้าวสู่ AI - UTCC ที่มีคุณภาพเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ที่ทั้งมหาวิทยาลัย หลักสูตร การเรียนการสอน บุคลากร การบริหารจัดการทั้งหมดจะขับเคลื่อนด้วย AI” ดร.ชัชชัย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาได้ให้ความสำคัญในการพัฒนา  สร้างความตระหนักรู้ และผลิตบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับ AI และดิจิทัลมากขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งเรื่องของบุคลากรที่มีความรู้ AI และดิจิทัลที่ยังมีไม่มากพอ อีกทั้งการจะพัฒนาระบบ AI ได้ทั้งองค์กรนั้นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  และการจัดทำระบบใหม่ทั้งหมดอาจมีความยุ่งยาก ดังนั้น หากภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนทั้งในส่วนของการผลิตและพัฒนา Upskill/Reskill ให้นักศึกษา คนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการต่างๆ มีทักษะด้าน AI ก็จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรได้ และหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับตัว ผลิตบัณฑิตให้มีทักษะด้านนี้และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page