top of page

ยุโรปเลิกพึ่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสำเร็จหรือยัง


ยุโรปจำเป็นต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

จากข้อมูลโดยศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (CREA) ตั้งแต่รัสเซียบุกรุกรานยูเครน ยุโรปจ่ายเงินซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเป็นมูลค่ากว่า 1.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ถึงตอนนี้ หลังสงครามผ่านไปเกือบปีแล้วและใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียไป 9 รอบ ยุโรปสามารถหยุดพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียได้มากน้อยแค่ไหน

"ป้อมปราการรัสเซีย"


ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เตรียมทำสงครามเศรษฐกิจตั้งแต่โดนคว่ำบาตรหลังไปผนวกไครเมียเข้าเป็นดินแดนตนเองแล้ว ทีมด้านเศรษฐกิจที่เลื่องชื่อว่ามากความสามารถของเขาทำให้รัสเซียได้รับการขนานนามว่าเป็น "Fortress Russia" หรือ "ป้อมปราการรัสเซีย" หรือประเทศที่ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจพร้อมจะเผชิญกับพายุทุกลูก

ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา รัสเซียสะสมสกุลเงินสำรองไว้มหาศาล และส่งออกเชื้อเพลิงฟอสซิลได้มากกว่าที่เคย แล้วก็เอาผลกำไรไปสร้างท่อส่งเชื้อเพลิงเพิ่ม นอกจากนี้ พวกเขายังลงทุนซื้อเทคโนโลยี และสินค้า จากยุโรป และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ๆ เช่น ที่เก็บก๊าซธรรมชาติและโรงกลั่นน้ำมันดิบ ในยุโรปด้วย


ในยุโรป การพยายามเลิกใช้ถ่านหินทำให้พวกเขาหันไปพึ่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากขึ้น จากข้อมูลโดย Eurostat ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสถิติของสหภาพยุโรป ในปี 2020 รัสเซียเป็นผู้จัดส่งน้ำมัน 25% และก๊าซธรรมชาติมากกว่า 40% ของทั้งหมดที่สหภาพยุโรปใช้

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมยุโรปไม่สามารถตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจได้สิ้นเชิงเมื่อรัสเซียบุกยูเครน

รัสเซียค่อย ๆ ถูกบีบด้วยมาตรการคว่ำบาตรมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็มีข้อยกเว้นบางอย่าง ส่วนยุโรปต้องวางแผนรับมือกับวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ไม่เคยมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรที่มีความซับซ้อนขนาดนี้มาก่อนกับประเทศมหาอำนาจระดับรัสเซียที่เป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ชาติตะวันตกอายัดเงินสำรองราว 3.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่อยู่ในธนาคารกลางของรัสเซีย นอกจากนี้ ยุโรปหยุดจัดส่งสินค้าและบริการที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีให้

และขั้นตอนสุดท้าย สหภาพยุโรปสั่งห้ามนำเข้าถ่านหินทั้งหมดตั้งแต่เดือน ส.ค. ปี 2022, น้ำมันที่ใช้เพื่อการเดินทางทางทะเลตั้งแต่ ธ.ค. ปี 2022 และน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่น ๆ ทั้งหมดตั้งแต่ ก.พ.2023

การตอบโต้ของรัสเซีย

เมื่อไม่ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรแบบสิ้นเชิงและราคาเชื้อเพลิงก็พุ่งสูงขึ้น รัสเซียยังทำเงินได้หลายพันล้านจากการส่งออกให้ยุโรป

รัสเซียตอบโต้ยุโรปด้วยการลดการส่งก๊าซธรรมชาติให้ถึง 80% อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าปูตินจะได้ผลประโยชน์จากยุทธศาสตร์นี้ในระยะสั้นเท่านั้น

คอนสแตนติน โซนิน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก บอกว่า ปธน.ปูติน เดินเกมพลาดเหมือนผู้นำอิรัก, อิหร่าน, เวเนซุเอลา และผู้นำยุคสหภาพโซเวียต

พวกเขาพยายามขายน้ำมันและก็บุกรุกรานประเทศอื่น ๆ แต่ผลที่ตามมาคือไปเกิดความขัดแย้งกับชาติตะวันตกและก็ถูกขึ้นบัญชีดำ

สงครามด้านพลังงานกำลังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสำคัญของรัสเซีย ก๊าซพรอม (Gazprom) บริษัทพลังงานของรัสเซีย รายงานว่า ในปี 2022 รัสเซียผลิตเชื้อเพลิงได้น้อยลง 20% และส่งออกน้อยลง 45%

จริงอยู่ที่ราคาเชื้อเพลิงที่สูงในยุโรปทำให้รัสเซียยังได้รายได้เท่าเดิม แต่หากสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อ รัสเซียจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปในที่สุด

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ บอกว่า คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียจะหดตัว 3-5% ในปี 2022 และ 2023 แทนที่จะเติบโต 2-3% เหมือนที่คาดการณ์ไว้ก่อนสงครามจะเกิด

แรงงานในประเทศน้อยลงเพราะผู้คนอพยพหนีหรือไม่ก็ตายในสงคราม การลงทุน การส่งออก และการบริภาค ล้วนน้อยลงด้วย

ตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต รัสเซียต้องพึ่งความรู้ด้านเทคโนโลยี การลงทุน และการค้า จากยุโรป นี่ทำให้การหันไปหารายได้จากสินค้าอื่นที่ไม่ใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นเรื่องยาก


จีน อินเดีย และตุรกี จะช่วยได้ไหม

ตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้น และยอดขายให้ยุโรปลดน้อยลง จีนและอินเดียทุ่มซื้อน้ำมันดิบลดราคามากมายจากรัสเซีย ด้านตุรกีเองก็ได้ผลประโยชน์โดยกลายมาเป็นประเทศทางผ่านในการส่งก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย

อย่างไรก็ดี แม้จะได้ผลประโยชน์บางอย่าง สงครามในยูเครนก็ส่งผลกระทบต่อประเทศที่วางตัวเป็นพันธมิตรใหม่ของรัสเซียเช่นกัน

ขนาดเศรษฐกิจของประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้วคิดเป็นถึง 2 ใน 3 ของขนาดเศรษฐกิจโลก แต่ขนาดเศรษฐกิจรัสเซียคิดเป็นแค่ 2%

ชาติตะวันตกเป็นแหล่งเทคโนโลยี, เงิน, การศึกษา, ทักษะต่าง ๆ และผู้บริโภคที่ร่ำรวย ขณะที่รัสเซียมีแค่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะจัดส่งสินค้าเหล่านี้หนีจากยุโรปไปทางตะวันออกได้

ก่อนหน้านี้ ยุโรปนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียคิดเป็น 60% ของทั้งหมด และนำเข้าก๊าซธรรมชาติเกือบทั้งหมดของพวกเขา นี่ทำให้ยุโรปเป็นแหล่งรายได้มากกว่าครึ่งของรายได้รัสเซียทั้งหมด

ขณะที่รายได้จากน้ำมันน้อยลงและค่าใช้จ่ายในการทำสงครามมากขึ้น รัสเซียกำลังถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว

ยุโรปวางแผนจะเลิกพึ่งเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียมานานแล้ว และตอนนี้การทำสงครามกับยูเครนเป็นแรงกระตุ้นให้พวกเขาเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานสะอาดแทน

หากพวกเขาทำสำเร็จ ยุโรปจะไม่ต้องการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากเท่าเดิมอีกเลย ไม่ว่าจะมีสงครามหรือไม่มีสงครามก็ตาม


Comentarios


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page