top of page

รฟท.แจงทุกข้อสงสัยเรื่องการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์การรถไฟแห่งประเทศไทย

คมนาคม-ขนส่ง

ตามที่มีประเด็นข้อสงสัยของสังคม กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท นั้น นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมายังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็น และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น จึงขอสรุปประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนี้ • ที่มาของโครงการเป็นอย่างไร • ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เริ่มจาก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 รฟท. ได้รับแจ้ง จากกระทรวงคมนาคม ให้ทราบถึงการปรับเปลี่ยนชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงและปรับเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ ประกอบด้วย - เส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ชื่อว่า “นครวิถี” - เส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ชื่อว่า “ธานีรัถยา” - สถานีกลางบางซื่อ ชื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” Krung Thep Aphiwat Central Terminal • ต่อมากระทรวงคมนาคม มีหนังสือวันที่ 5 ตุลาคม 2565 และวันที่ 6 ธันวาคม 2565 แจ้งให้ รฟท. เร่งรัดการดำเนินการติดตั้งชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ให้แล้วเสร็จโดยเร็วโดยยึดปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด รฟท. จึงได้ดำเนินการโดยให้เป็นไปตามกฎหมายตามภารกิจที่ได้รับโดยเคร่งครัด • รฟท. ดำเนินการจัดทำ TOR ถูกต้องตามขั้นตอนปกติและเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

• หลังจากได้รับแจ้งจากกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 รฟท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและกำหนดราคากลางโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) ราคากลาง และร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยคณะกรรมการฯ ได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ในการดำเนินการจัดทำรายงานผลราคากลาง และดำเนินการเพื่อขออนุมัติ ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 9 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 21

ดังนั้น จึงขอยืนยันว่า รฟท. มีการดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) อย่างถูกต้องเคร่งครัดครบถ้วนทุกประการแล้ว • ขอบเขตของงานครอบคลุม ครบถ้วน และได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกมิติแล้วหรือไม่


คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและราคากลาง ได้กำหนดขอบเขตงานที่หลากหลายซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอนที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่องเพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด เนื่องจากป้ายเดิม “สถานีกลางบางซื่อ” ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ ขณะที่ป้ายชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีความยาวของชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้ง ป้ายอักษรติดตั้งใหม่บนโครงสร้างอาคารสถานีจะต้องมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง และมีความยากในการเจาะช่องทะลุผนังกระจกนิรภัย (Tempered Glass) ที่หนากว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อยึดตัวอักษรแต่ละตัวจึงจำเป็นต้องรื้อถอนผนังกระจกเดิม และติดตั้งผนังกระจกใหม่ที่มีช่องรองรับกับโครงสร้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ

“โดยเฉพาะการรื้อถอนป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) งานรื้อผนังกระจก (เดิม) รวมถึงการติดตั้งป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (ใหม่) และงานติดตั้งผนังกระจกนิรภัย (ใหม่) การติดตั้งกระเช้าไฟฟ้า (แขวนสลิง) ยาว 6 เมตร รวมการย้ายจุดทำงาน จำนวน 4 กระเช้า (ชุด) ระดับความสูงของป้ายสูงจากระดับพื้นดินประมาณ 28 เมตร ความสูงเทียบเท่าตึก 9 ชั้น งานติดโครงสร้างเหล็กเพิ่มที่ต้องยกขึ้นไปติดตั้งกว่า 13 ตัน เป็นงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังและต้องมีความชำนาญเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับโครงสร้างอาคารสถานี และเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ”

การติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น กำหนดให้มีจุดติดตั้งป้ายชื่อสถานี จำนวน 2 ฝั่ง ทั้งบริเวณโดมด้านหน้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตก โดยมีตัวอักษรรวมตัวสระภาษาไทย ฝั่งละ 24 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษฝั่งละ 31 ตัวอักษร และ 1 ตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ซึ่งหากรวมทั้ง 2 ฝั่ง จะมีการติดตั้งอักษรภาษาไทยรวมถึง 48 ตัวอักษร อักษรภาษาอังกฤษรวม 62 ตัวอักษร และ 2 ตราสัญลักษณ์ รฟท. ที่สำคัญ ขนาดตัวอักษรป้ายชื่อภาษาไทย มีขนาดใหญ่พิเศษ มีความสูงถึง 3 เมตร กว้าง 2.6 เมตร มีความยาวของป้ายใหม่ประมาณ 60 เมตร ตามจำนวนอักษร ในส่วนที่เป็นอักษรภาษาอังกฤษ มีความสูง 2.1 เมตร กว้าง 2.2 เมตร ซึ่งมีความทนทานต่อแดด และฝน รวมถึงซ่อนไฟแสงสว่างไว้ด้านหลังป้ายด้วย ขณะที่ตราสัญลักษณ์ของ รฟท. ยังมีความสูงถึง 7 เมตรเช่นกัน • รายละเอียดงานจ้างตามโครงการ ประกอบด้วยอะไรบ้าง โดยมีรายละเอียดงานจ้างที่ต้องดำเนินการ แบ่งเป็น 4 หมวดงาน คือ งานส่วนที่ 1 งานโครงสร้างวิศวกรรม งานส่วนที่ 2 งานสถาปัตยกรรม งานส่วนที่ 3 งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ งานส่วนที่ 4 งานติดตั้งและรื้อถอนวัสดุปิดแทนกระจกระหว่างเปิดใช้งาน (งานเผื่อจ่าย : Provisional Sum) ผู้รับจ้างยังต้องมีหน้าที่ และความรับผิดชอบในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จครบถ้วนสมบูรณ์รวมถึงงานประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างของป้ายชื่อ (ใหม่) ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยสอดคล้องหรือใกล้เคียง ตามข้อกำหนดของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาที่สัญญาจ้างกำหนดเป็นจำนวน 150 วัน รวมถึงการรับประกันผลงาน ในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่อง 365 วัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า นอกจาก รฟท. ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ คำนึงถึงมาตรฐาน และความปลอดภัยแล้ว รฟท. ยังคำนึงถึงความคุ้มค่าโดยกำหนดให้มีขอบเขตงานในส่วนของปริมาณงานหลัก และงานเผื่อจ่ายไว้ในสัญญา โดยในส่วนเงินค่าจ้างของงานแต่ละรายการจะจ่ายตามจำนวนที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ทั้งหมดนี้จะมีการควบคุมอย่างละเอียด หากไม่จำเป็นต้องดำเนินการในส่วนใด รฟท. ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจจะมีการเบิกจ่ายจริงไม่ถึง 33 ล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่จัดจ้าง ซึ่งเงื่อนไขการชำระเงินค่าจ้างดังกล่าวได้มีการระบุในสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างไว้อย่างชัดเจนแล้ว • ราคากลางได้มาอย่างไร ดำเนินการอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ รฟท. ได้ดำเนินการตามกฎหมาย และระเบียบของกรมบัญชีกลางถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน โดยรายละเอียดของราคากลาง เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 และมีการคํานวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ตามที่คณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งยังปฏิบัติตามคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐโดยได้เปิดเผยราคากลาง ตารางแสดงวงเงินงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และราคากลางในงานจ้างก่อสร้าง (แบบ บก.01)ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 33,169,726.39 บาท

• ราคากลางที่ได้มา มีความเหมาะสม คุ้มค่า แล้วหรือไม่ เนื่องจาก “โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ รฟท. มีปริมาณงานที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟฟ้าแสงสว่าง งานรื้อถอน การเปลี่ยนผนังกระจก โครงผนังกระจกอะลูมิเนียม ค่าการออกแบบด้านวิศวกรรมโครงสร้าง และรูปแบบการติดตั้งที่มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนของเดิมที่มีความละเอียดอ่อน และต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง การติดตั้งของใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ตลอดจนมีการกำหนดการรับประกันความชำรุดบกพร่องภายในขอบเขตงานอีก 365 วัน เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบเสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด และคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม ตลอดจนให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างสถานี ความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการและความเหมาะสมในการเป็นสถานีกลางฯ ที่สำคัญของประเทศ และภูมิภาค คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงาน และกำหนดราคากลางของโครงการฯ ได้พิจารณาดำเนินการทุกขั้นตอน โดยยึดหลักความถูกต้อง รอบคอบ โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา และเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด จนได้มาซึ่งราคากลางที่เหมาะสม คุ้มค่า ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบราคาเฉพาะการผลิตและการติดตั้งตัวอักษรชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ รฟท. ซึ่งกำหนดเป็นราคากลางในปี 2565 จำนวนเงิน 19,642,043.52 บาท (ไม่รวมงานรื้อย้าย งานโครงสร้าง งานติดตั้งกระจก และงานอื่นๆ) ซึ่งมีจำนวนตัวอักษร และตราสัญลักษณ์รวม 112 ตัว คิดเป็นเงินเฉลี่ย 175,375.39 บาทต่อตัวอักษร หรือ 28,849.72 บาทต่อตารางเมตร ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับราคากลางป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) ซึ่งกำหนดราคากลางเมื่อปี 2553 รวมเงินเฟ้อจากปี 2554 – 2565 เป็นเงินจำนวน 12,201,995.32 บาท ซึ่งป้ายสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) มีจำนวนตัวอักษรรวม 70 ตัว คิดเป็นเงินเฉลี่ย 174,314.22 บาทต่อตัวอักษร หรือ 32,249.70 บาทต่อตารางเมตร จะเห็นได้ว่า ราคาป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสัญลักษณ์ รฟท. เป็นราคาที่เหมาะสม ไม่ได้แพงเกินจริงตามที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งมีรายละเอียดตามภาพประกอบ ดังนี้

ดังนั้น รฟท. จึงขอยืนยันว่าการได้มาซึ่งราคากลาง เป็นไปตามระเบียบและถูกต้องตามขั้นตอนต่าง ๆ และนำมาซึ่งราคาที่เหมาะสมอย่างแท้จริง • วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้อง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดแล้วหรือไม่ การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงในโครงการนี้ มีรายละเอียดการพิจารณาดังนี้

1. ขอบเขตของงานที่ต้องดำเนินการที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. งานติดตั้งตัวอักษรขนาดใหญ่ และมีจำนวนมาก พร้อมตราสัญลักษณ์การรถไฟฯ ความยาวรวมทั้ง 2 ฝั่ง 140 เมตร รวมน้ำหนักตัวอักษร 10,804 กิโลกรัม มีน้ำหนักของโครงเหล็กรับตัวอักษร 13,014 กิโลกรัม และงานต่าง ๆ ตามขอบเขตของงานที่กำหนด รวมถึงการยกป้ายชื่อสถานีใหม่ทั้งสองฝั่งขึ้นติดตั้งบนความสูง 28 เมตร จึงพิจารณาเห็นว่าเป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการต้องมีความเข้าใจ ในหลักวิศวกรรมโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และไม่เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสถานี และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ

2. พื้นที่ที่ติดตั้งป้าย และพื้นที่ทำงานปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. อยู่ในพื้นที่เปิดให้บริการประชาชน และอยู่ระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของกิจการร่วมค้า เอส ยู ประกอบด้วย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งงานจ้างครั้งนี้ มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนวัสดุเดิมออก อีกทั้งต้องติดตั้งวัสดุใหม่ที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งมีความเสี่ยงอาจกระทบต่อโครงสร้างของสถานี ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และส่งผลต่อเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่องของอาคารสถานี 2. ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคมเป็นภารกิจที่มีความจำเป็น ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อพิจารณาเหตุผลอื่นประกอบแล้ว การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวิธีการเฉพาะเจาะจงในกรณีนี้ จึงเป็นการดำเนินการที่มีความเหมาะสม ถูกต้อง และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการรถไฟฯ ประชาชน และประเทศเป็นสำคัญ • หากไม่ดำเนินการจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง จะมีความเสี่ยงอย่างไรบ้างการรถไฟฯ ได้พิจารณาอย่างรอบคอบในทุกมิติทั้งในเรื่องของ 1. ความเสี่ยงอันจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และความปลอดภัยโดยรอบด้านของประชาชนผู้ใช้บริการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) สำเร็จมาแล้ว จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเข้าใจในหลักวิศวกรรม รายละเอียด และจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษของโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี 2. ความเสียหายทั้งในแง่ทรัพย์สิน และความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันผลงานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่องที่ยังมีอยู่ตามวาระในสัญญา ซึ่งการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ ที่อยู่ในการรับประกันความเสียหาย ย่อมเป็นผลดีกว่าการปฏิบัติงานโดยที่ไม่มีความคุ้มครองความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความรัดกุม และคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ รฟท. รฟท. ขอยืนยันว่าการจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ใช้ดุลยพินิจภายใต้กรอบ ของกฎหมาย โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และมองในทุกมิติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 56 (2) (ค) ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว อีกทั้ง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยังเป็นคู่สัญญา และเป็นบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีความเข้าใจในโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี อันจะลดความเสี่ยง ทำให้เกิดความปลอดภัย และไม่เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสถานี และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ จึงเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมถูกต้องแล้ว • กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้ดำเนินการเพื่อชี้แจง สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน อย่างไรบ้าง กระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญกับทุกความคิดเห็นที่อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น จึงได้ตอบชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยไปแล้ว รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วนมาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ในขณะเดียวกัน รฟท. ได้มีการชี้แจงประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติมรวมกันอีกหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในโครงการฯ อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเกี่ยวกับขั้นตอนดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมกับคำนึงถึงประโยชน์การใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ และความถูกต้องตามหลักวิศวกรรมเป็นสำคัญ ในระหว่างที่ยังมีข้อสงสัยในประเด็นการดำเนินการเปลี่ยนป้าย และยังอยู่ในระหว่างการรอความเห็นจากคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯของกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงถึงจุดยืนและความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น รฟท. จึงได้สั่งการให้ผู้รับจ้างระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงเป็นการชั่วคราว เพื่อให้มีความชัดเจนทั้งในด้านความถูกต้องครบถ้วน และรอรับฟังความเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม อันแสดงให้เห็นถึงการยึดหลักความโปร่งใส ซื่อสัตย์ มีธรรมาภิบาล และการดำเนินการทุกประการอย่างรอบคอบ ท้ายนี้ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า


"สิ่งที่ รฟท. ดำเนินการในทุกกระบวนการที่ผ่านมานั้น เป็นไปด้วยความรอบคอบ รัดกุม ผ่านกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรอง ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต โปร่งใส ตรงไปตรงมา ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และตามหลักธรรมาภิบาลทุกประการ จึงขอให้ความมั่นใจว่า โครงการจัดทำป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ และประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้ง ยังถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทุกประการ พร้อมกับได้คำนึงถึงความสวยงาม ความปลอดภัย โปร่งใส เหมาะสมต่อการเป็นศูนย์กลางระบบรางที่ดีที่สุดในประเทศและภูมิภาคต่อไป"

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page