ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแถลงข่าว เรื่อง ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ วันพุธที่ 17 มกราคม 2567 เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น4 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ผ่านทางเพจ Facebook live : กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ คอยติดตาม!!!
ผู้ใช้นามปากกา #ตรัยวาริน เขียนบทความ รุกเพื่อพิชิตแล้ง ไว้น่าสนใจ
"การทำงานของข้าราชการที่ไม่ตอบโจทย์ของประชาชนได้ทันท่วงทีมักจะถูกตราหน้าว่าเป็นการทำงานแบบ“เช้าชามเย็นชาม” หากข้าราชการอย่างเราๆมีจิตสำนึกที่ดีไม่อยากถูกตราหน้าเช่นนั้นคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตนเอง
ยิ่งในปัจจุบันนี้โซเชียลมีเดียถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังในการช่วยสะท้อนการทำงานของหน่วยงานต่างๆได้เป็นอย่างดี สามารถกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ที่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่สมกับการเป็นข้าราชการที่ดีได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ยิ่งหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วยแล้ว ภาพที่ออกมาทางสื่อโซเชียลมีให้เห็นกันจนคุ้นตา แต่ก็มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์…พวกทำเฟคนิวส์ก็แค่เอามันส์ไม่เห็นใจว่าคนที่ไม่มีข้อมูลจริงจะตื่นตระหนกตกใจได้หรือเป็นการใส่ร้ายป้ายสีทำให้ข้าราชการผู้นั้นเกิดความเสียหายได้นะระวังบาปกรรมอาจจะรออยู่…
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ตกเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ทั้งข่าวจริง และข่าวปลอมอย่างที่กล่าวในข้างต้น แต่ต้องเข้าใจและทำใจเพราะหน่วยงานของเราเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำหนดนโยบาย กลั่นกรองแผนงานโครงการ และติดตามประเมินผลโครงการด้านทรัพยากรน้ำโดยการบูรณาการและสร้างความเข้มแข็งของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำ ย่อมเป็นที่คาดหวังของประชาชนอย่างแน่นอนให้สามารถแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยให้พ้นจากชีวิตของผู้เคยประสบภัย
ช่วงเวลานี้ของบ้านเราอยู่ในช่วงฤดูแล้ง ในทุกๆปีที่ผ่านมาจะเห็นภาพข่าวแม่น้ำแห้งขอดจนสามารถเดินข้ามได้หรือบางทีพวกเด็กๆ ก็พากันไปเตะบอลเล่นกันเลยทีเดียว ภาพข่าวรถบรรทุกน้ำแจกตามหมู่บ้านก็มา ภาพเหล่านี้ไม่ใช่เพิ่งจะเคยพบเห็นแต่มีให้เห็นกันมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว
ยิ่งปีนี้เป็นปีที่บ้านเราเผชิญกับอิทธิพลของเอลนีโญ ทำให้อุณหภูมิสูงกว่าปกติ… ขนาดปกติบ้านเราก็ร้อนอยู่แล้วปีนี้รับรองร้อนตับแตกแน่นอน…เตรียมใจได้ แถมฝนยังน้อยกว่าปกติเข้าไปอีก อย่างไรก็ตามยังถือว่าโชคดีที่บ้านเรามีร่องมรสุมพาดผ่านบ่อยครั้งในปีที่ผ่านมาทำให้น้ำในอ่างเก็บน้ำโดยรวมอยู่ในปริมาณที่ดี แต่ก็ไม่ได้ดีทุกอ่างฯ และแหล่งน้ำนอกเขตชลประทานหลายพื้นที่เทวดาก็ไม่ได้เมตตาขนาดให้มีน้ำเก็บไว้ใช้เพียงพอในฤดูแล้งนี้
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้คาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจึงได้เสนอ 9 มาตรการรองรับฤดูแล้งต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรับทราบและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือประชาชน ถึงแม้จะมีการออกมาตรการและข้อสั่งการออกไปยังทุกหน่วยงานก็ตามประสิทธิภาพในการทำงานก็ยังมีจุดอ่อนเพราะบางพื้นที่จะแก้ปัญหาได้จำเป็นต้องมีการบูรณาการหลายหน่วยงานด้วยกัน ดังนั้นในปีนี้พวกเราไม่อยากจะเห็นภาพเดิมๆที่เคยปรากฏจึงปรับเปลี่ยนวิธีทำงานเป็นการบูรณาการหน่วยงานลงพื้นที่ร่วมกันแก้ปัญหาในพื้นที่ที่ประเมินแล้วพบว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำในระยะเวลาอันใกล้นี้
โจทย์ดังกล่าวในห้วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพวกเราวงการน้ำ วงการขจัดภัยด้วยกันเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำมัน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นเจ้าภาพชักชวนกันลงพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้นเพื่อแนะนำแนวทางแก้ปัญหาทั้งเรื่องการเพิ่มเติมแหล่งน้ำสำรอง การปรับปรุงประสิทธิภาพระบบประปาหมู่บ้าน การสูบผันน้ำเพื่อเติมน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยแต่ละหน่วยงานก็รับลูกทันทีที่จะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่พวกเรารุกเข้าไปเพื่อที่จะพิชิตแล้งในครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ไม่อยากเห็นภาพจำเดิมๆ ที่ประชาชนเดือดร้อนจนต้องเอาภาชนะมาคอยรองรับน้ำแจกอีกต่อไป…
ตรัยวาริน
#รุกก่อนอย่างมีเชิงย่อมได้เปรียบ
Comentários