top of page

"ลุงป้อม"สั่งปรับโครงสร้างศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าแก้วิกฤตน้ำท่วมเน้น"รวดเร็ว-ทันเหตุการณ์"

สังคม

ระยะนี้ "พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฟิตจัดเดินสายประชุมหลายเวที ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยประชาชนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด รับมือฝน 3 เดือนที่เหลือ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคกลาง - อีสาน อย่างใกล้ชิด ล่าสุดไฟเขียวปรับโครงสร้าง และรูปแบบของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าแก้วิกฤตน้ำท่วม เพิ่มกลไกภาคประชาชนร่วมจัดการน้ำหลาก เตือนภัย แก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือได้รวดเร็วทันเหตุการณ์


วันที่ 26 ส.ค.65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุม กอนช.ครั้งที่ 1/2565 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ เป็นต้น ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนในปีนี้ ที่มีปริมาณฝนมากและมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาอุทกภัยในบางพื้นที่ได้ พร้อมทั้งได้สั่งการให้ดำเนินงานตามมาตรการที่วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งที่ประชุม กอนช. เห็นชอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการของศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ และเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยได้กำหนดกรอบโครงสร้างการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก คือ ส่วนอำนวยการ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ประเมินสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัย พร้อมทั้งรายงานและเสนอความเห็นต่อผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า กลุ่มที่ 2 ส่วนปฏิบัติการ/เผชิญเหตุ เพื่อประสานงานและบูรณาการข้อมูลในการเตรียมความพร้อมทั้งสรรพกำลัง เครื่องมืออุปกรณ์ แผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และกลุ่มที่ 3 ส่วนสนับสนุน การปฏิบัติงานด้านการสื่อสาร การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนและระบบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปัญหาอุทกภัย


ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร ยังเน้นย้ำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือตามกรอบโครงสร้างและรูปแบบการดำเนินการตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โดยเฉพาะในระยะนี้ต้องติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย ได้กำชับให้มีแผนเผชิญเหตุเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้ทันท่วงที พร้อมทั้งให้ปรับอำนาจหน้าที่ให้หน่วยงานและภาคเอกชน ที่ไม่ได้อยู่ในศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ สามารถเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกันได้ อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การพิจารณาว่าจะตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในแต่ละพื้นที่หรือไม่นั้น ให้พิจารณาจากการคาดการณ์สภาพอากาศ การคาดการณ์ปริมาณน้ำฝน การคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ และการคาดการณ์ปริมาณน้ำท่าในลำน้ำต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินล่วงหน้าว่ามวลน้ำที่เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่


ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุม กอนช.แล้ว ในวันนี้ พลเอก ประวิตร ยังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาในเรื่องการปรับการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดยหากกรมชลประทานมีความจำเป็นจะต้องปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำในช่วงฝนตกหนัก ให้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด


ชลประทานขานรับนโยบาย กอนช.

ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยภายหลังการประชุมฯ ว่า สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน (26 ส.ค. 65) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 48,298 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 27,791 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,089 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 11,782 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันกรมชลประทานได้ควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตราประมาณ 1,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ไว้รองรับปริมาณน้ำเหนือที่จะมาเพิ่มอีกในระยะต่อไป ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้โครงการชลประทานในแต่ละพื้นที่ ร่วมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเชื่อมโยงข้อมูลนำมาคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถแบคโฮ และกำลังเจ้าหน้าที่ เพื่อเตรียมความพร้อมและบริหารจัดการน้ำในภาวะวิกฤตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ตลอดจนประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 อย่างเคร่งครัด ตามข้อสั่งการของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)



ความคิดเห็น


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page