วิกฤติประชากรวัยทำงานกำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของประเทศไทย เมื่อประชากรสูงวัยเพิม แต่ประชากรเกิดใหม่ลดลง เราจะหาทางออกในเรื่องนี้อย่างไร
"ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ" หัวหน้าคณะก้าวหน้า ได้รับเชิญบรรยาประกอบวิชาTU101 ,ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเร็วๆนี้ ในหัวข้อ "เศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ " และได้กล่าวถึงปัญหาการขาดประชากรวัยทำงาน แก้ได้ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำ มีความน่าสนใจลองไปติดตาม ]
"วันนี้ผมมีโอกาสได้มาบรรยายเรื่อง “เศรษฐกิจสำหรับวันพรุ่งนี้” ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฟังในวิชา TU101
.
เป็นอีกครั้งที่ผมได้มาเติมพลังฝันให้ตัวเองจากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนรุ่นใหม่ ที่มีความสนใจในปัญหาการเมืองและสังคม ส่วนผมเองก็ได้แชร์ข้อมูลที่สำคัญๆ ให้พวกเขาได้ไปศึกษาค้นคว้า และคิดต่อยอดถึงอนาคตของประเทศ
.
เรื่องที่ผมได้ยกขึ้นมาพูดถึงเป็นหลักในการบรรยายครั้งนี้ คืออัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง กับการขยายตัวของสังคมผู้สูงวัยที่เกิดขึ้นทุกปี ที่ในที่สุด “แจ็กพ็อต” วิกฤตที่คนวัยทำงานลดจำนวนลง ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อแบกรับสังคมสูงวัย จะมาลงที่รุ่นของพวกเขาพอดี ถ้าประเทศนี้ไม่รีบแก้ปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ สร้างระบบสวัสดิการที่ดี ให้ผู้คนมีความมั่นใจในการมีลูกและสามารถเลี้ยงพวกเขาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ พร้อมกับทำให้ผู้สูงวัยของเราได้รับการดูแลที่ดีกว่านี้
.
ความเหลื่อมล้ำ เป็นเรื่องของการเมืองและนโยบายรัฐอย่างชัดเจน ทั้งในเรื่องของการที่ทุนผูกขาดเติบโตได้ขนาดนี้ การจัดสรรงบประมาณที่เต็มไปด้วยความไม่สมเหตุสมผลและไม่ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศ และนโยบายรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่เสมอ ล้วนคือต้นเหตุของความเหลื่อมล้ำ และนโยบายทางการเมืองที่มีเจตจำนงอย่างชัดเจนในการลดความเหลื่อมล้ำเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหานี้ได้
จะคาดหวังให้รัฐ ที่อนุญาตให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินมีอยู่รายเดียวผูกขาดต่อเนื่องมานับทศวรรษ จนร่ำรวยขึ้นจาก 5,200 ล้าน เป็น 160,000 ล้านบาทภายในชั่วอายุคนรุ่นเดียว หรือรัฐที่ออกนโยบายเอื้อให้กลุ่มทุนพลังงาน ผลิตไฟฟ้าออกมาจนเกินความต้องการไปถึง 50-60% และมาเรียกเก็บค่าพร้อมจ่ายเอากับประชาชนแทน จนเอกชนผู้ผลิตไฟขายรัฐรวยเพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนล้านบาทภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี จะให้รัฐแบบนี้มาเป็นผู้ออกแบบและดำเนินนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
.
เกมเกมหนึ่งที่ผมมักนำมาชวนนักศึกษาเล่นเสมอ คือการให้ทุกคนในห้องเล่นบทบาทสมมติในสภา ร่วมกันโหวตว่าถ้างบประมาณประจำปีนี้ มีเหลืออยู่ 2 หมื่นล้านบาทที่จะนำไปจัดสรรลงให้ตัวเลือกที่ต่างกัน ระหว่างการศึกษา สาธารณสุข อุตสาหกรรม การทหาร และวัฒนธรรม พวกเขาจะเลือกยกมือโหวตให้เอางบก้อนนี้ไปลงที่ไหน ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาที่ผมได้เคยบรรยายมาจะเลือกการศึกษา และครั้งนี้ก็เช่นกัน
.
แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกตัวเลือกไหน นั่นไม่สำคัญเท่ากับการชี้ให้พวกเขาเห็น ว่าการเมืองและการตัดสินใจทั้งในทำเนียบและในสภา เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกมิติในชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง บรรดาตัวเลือกเหล่านี้ และหลายๆ ตัวเลือกการใช้งบประมาณ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงในสภาผู้แทนราษฎรของเรา คือการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิตของพวกเราทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างลึกซึ้ง และนี่คือเหตุผลว่าทำไมความเหลื่อมล้ำและปัญหาเศรษฐกิจ คือเรื่องที่ต้องแก้ด้วยการเมืองเท่านั้น การเมืองที่ดีไม่เกิด เศรษฐกิจที่ดีก็เป็นไปไม่ได้
.
ความหวังที่ประเทศจะดีขึ้นกว่านี้ได้ เริ่มต้นมาจากการที่คนในประเทศมีความเข้าใจในเรื่องพื้นฐานเหล่านี้ ซึ่งผมดีใจที่นักศึกษาหลายคนที่ผมได้พบระหว่างที่ไปบรรยายมาในหลายๆ โอกาส เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น อาจจะขาดก็แต่เพียงข้อมูลในเชิงลึกบางส่วนเท่านั้น แต่โดยหลักการแล้วพวกเขาเข้าใจตั้งแต่ก่อนที่ผมจะได้มาบรรยายให้พวกเขาฟังด้วยซ้ำ ว่าประเทศนี้เต็มไปด้วยปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างมากขนาดไหน และเข้าใจดีว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ต้องแก้ด้วยการเมืองเท่านั้น
.
ขอบคุณอาจารย์ในหลักสูตรวิชา TU101 ที่ได้เชิญผมมาร่วมบรรยายในวันนี้ และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มธ. ทุกคนที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยน ตอบคำถาม และเติมความหวังให้แก่กันในวันที่ประเทศช่างมืดมนมองไม่เห็นอนาคตเช่นนี้
.
ผมยังมีความหวังเสมอว่าทุกอย่างที่ผมพูดว่าจะเป็นวิกฤตในวันนี้ จะได้รับการคลี่คลายในอนาคตด้วยพลังของพวกเขาครับ"
Comentários