บทความทางวิชาการ
Ep2 พระชาตรี vs คุณไพรวัลย์ vs ทนาย ธ. กรณีการแจ้งความกล่าวโทษในความผิดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๔ ตรี และความผิดฐานหมิ่นประมาท ตาม ป.อาญา
ครั้งที่แล้วผมกล่าวถึงประเด็นว่าพระชาตรีไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีหมิ่นประมาท และพระชาตรี “คนเดียว” ไม่ใช่ “คณะสงฆ์” ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ พระชาตรี จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์หรือกล่าวโทษใด ๆ ทั้งสิ้น รวมถึงทนายความด้วยครับ
(เมื่อครั้งคู่กรณีออกรายการโหนกระแส)
ครั้งนี้ ผมจะขอกล่าวเพิ่มสัก ๓ ประเด็นครับ
#ประเด็นแรก การรับแจ้งความของตำรวจ “
...เมื่อมีผู้มาแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาแผ่นดิน หรือคดีความผิดต่อส่วนตัว ให้พนักงานสอบสวนทุกนายพึงระลึกอยู่เสมอว่า ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์หรือผู้กล่าวโทษอาจกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนได้ และมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย...และให้บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้ในสมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไป หรือทำสำนวนการสอบสวนและลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีแล้วรีบดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชักช้า...” (คำสั่ง สตช.ที่ ๔๑๙/๒๕๕๖ เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาฯ) กล่าวโดยสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ได้ว่า เมื่อใครซักคนไปแจ้งความคดีอาญา ตำรวจต้องรับแจ้งไว้ตามระเบียบก่อน เมื่อรับแจ้งแล้วจะต้องพิจารณาต่อไปว่าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินหรือความผิดส่วนตัว ถ้าเป็นความผิดอาญาแผ่นดินบุคคลทั่วไปแจ้งความกล่าวโทษได้ตำรวจก็ดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าเป็นความผิดต่อส่วนตัวผู้เสียหายเท่านั้นที่มีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๒ (๗) (๘) ) ถ้าไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ หากตำรวจขืนทำคดีส่งไปอัยการก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ( ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๒๐, ๑๒๑) ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่าตำรวจต้องปรับปรุงความแม่นยำในข้อกฎหมายโดยด่วน...(แต่ปัจจุบันมีตำรวจจำนวนไม่น้อยที่เก่งข้อกฎหมายครับ)
#ประเด็นที่สอง การทำหนังสือมอบอำนาจในต่างประเทศ
ถ้าพระชาตรีอยู่ต่างประเทศมอบอำนาจให้ทนาย ธ. ไปร้องทุกข์ตามที่เป็นข่าวจริง “หนังสือมอบอำนาจ” ที่กระทำกันในต่างประเทศนั้นถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือ ... ได้ให้สถานทูตไทยรับรองหนังสือมอบอำนาจก่อนหรือไม่ หรือถ้าหากประเทศนั้นไม่มีสถานทูตไทยตั้งอยู่ได้ให้โนตารีปับลิกรับรองหรือไม่(ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๔๗) การทำหนังสือมอบอำนาจในต่างประเทศจึงมีวิธีการและขั้นตอนต่างไปจากหนังสือมอบอำนาจที่เรา ๆ ท่าน ๆ คุ้นเคยกัน...มิเช่นนั้น “ตกม้าตาย” ครับ
#ประเด็นที่สาม การขอคัดสำเนาประจำวันจากตำรวจ
...ข้อความทั้งหลายที่จดบันทึกไว้ในรายงานประจำวันเป็นความลับทางราชการ ห้ามบุคคลภายนอกอ่านหรือคัดลอกข้อความใดๆ จากรายงานประจำวัน เว้นไว้แต่ผู้แจ้งความ...(ระเบียบตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ ๑๒ บทที่ ๘) ฉะนั้น ผู้แจ้งความเท่านั้นสามารถขอคัดสำเนาประจำวันได้ ผู้ต้องหาหรือบุคคลอื่นไม่สามารถขอคัดได้ครับ ..ดังนั้น ถ้าทนาย ธ.แจ้งความคุณไพวัลย์หรือบุคคลอื่นไม่สามารถขอคัดได้ ในทางกลับกันถ้าคุณไพวัลย์แจ้งความทนาย ธ. หรือบุคคลอื่น ก็ไม่สามารถขอคัดได้เช่นเดียวกันครับ เว้นแต่ คดีถึงศาลแล้วศาลจะมีคำสั่งเรียกเอกสารได้ครับ
บทความนี้เขียนขึ้นมาเพื่อประทืองปัญญาสำหรับประชาชน นักกฎหมาย หรือทนายความ ครับ
ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช
Comments