การเมือง
"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ที่เพิ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี หลังพรรคก้าวไกลถูกตัดสินยุบพรรคพร้อม 11 กรรมการบริหาร
เขาโพสต์เฟสบุกส์ส่วนตัว 7 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีผู้เข้าไปกดชอบกว่า 2แสนวิว และตอบในคอมเมนต์เกือบ 2 หมื่นระบุว่า "พร้อมรอ"-นานแค่ไหนก็จะรอ เขากลับมา แสดงถึงความนิยมที่ประชาชนยังต้องการให้ #พิธา บริหารประเทศ ลองไปติดตาม
"เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของผมที่ได้มีโอกาสรับใช้ประเทศชาติและประชาชนในฐานะนักการเมือง จะเป็นความทรงจำทึ่ผมไม่มีวันลืม
วันนี้ ผมขออำลาทุกท่านในฐานะผู้แทนรัฐสภา เมื่อเส้นทางการเมืองผมถูกปิดตัวลง
แต่ขอกลับมาเป็นประชาชน เคียงบ่าเคียงไหล่ทุกท่านพัฒนาบ้านเมือง ไปพร้อมๆ กับเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากทั่วโลก และ สร้างนักการเมืองรุ่นต่อไป ป้อนเข้าสู่ระบบการเมืองไทย
และสักวันนึง ถ้าประชาชนยังต้องการ ผมจะกลับมา..
ขอบคุณครับ
-พิธา
7 สค 2567 "
ชมเก็บตก....
แถลงการณ์พรรคก้าวไกล หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
ยุบพรรคไม่อาจทุบทำลายความหวัง เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากกว่าเดิม จน ‘พวกเขา’ ปฏิเสธเราไม่ได้อีกต่อไป ]
.
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี บริเวณลานกิจกรรมตรงข้ามอาคารอนาคตใหม่ อดีตกรรมการบริหารและอดีต สส. พรรคก้าวไกล ทยอยขึ้นกล่าวปราศรัยท่ามกลางประชาชนที่รอฟังและส่งเสียงให้กำลังใจตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงมืดค่ำ
.
"เราจะกลับมาแกร่งกว่าเก่า "
.
ในช่วงหนึ่ง พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เวลาที่เราต้องเสียใจ หากมีใครที่ต้องเสียใจ คนนั้นคือคนที่รู้อยู่แก่ใจว่าการยุบพรรคการเมืองในลักษณะแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย คือคนที่รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลทำไปไม่ควรนำไปสู่การยุบพรรค แต่แม้จะรู้ข้อเท็จจริงนี้ทั้งหมด ก็อดใจไม่ได้ที่จะรู้เห็นเป็นใจหรือเห็นดีเห็นงามกับการยุบพรรคเพื่อทำลายล้างกันทางการเมือง
.
“วันนี้คนพวกนี้อาจเปิดไวน์ฉลองที่ห้องใดห้องหนึ่ง แต่พวกคุณจะดีใจได้อีกไม่นาน เพราะสิ่งที่คุณคิดว่าคุณได้ทำลายล้างไปแล้วในวันนี้ จะฟื้นคืนชีพกลับมาแข็งแกร่งและทรงพลังกว่าเดิม นโยบายของเราที่คุณพยายามขัดขวาง ปิดปากไม่ให้เราพูดถึง กลับจะถูกพูดถึง ถูกตั้งคำถามและได้รับการสนับสนุนมากขึ้นกว่าเดิม”
.
"ก้าวไกลคือผู้คนและการเดินทาง"
.
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ก้าวไกลคือผู้คนและการเดินทาง ไม่ว่าอนาคตจะเป็นพรรคอะไร ความฝันของเราเรียบง่าย คือการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ดีขึ้น ตอบสนองความต้องการของประชาชนแม้วันนี้เราถูกทุบทำลายอีกครั้ง แต่เรายึดโยงอยู่ในอุดมการณ์เดียวกัน เราไปด้วยกันต่อ แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เราเปลี่ยนประเทศนี้ได้ คือเราต้องทำให้เขาเชื่อว่าเราไม่ได้เป็นศัตรูกับเขา เว้นแต่เขาอยู่ตรงข้ามประชาชน
.
เวทีในการต่อสู้หลังจากนี้ไม่ใช่แค่เวทีตั้งพรรคใหม่หรือหายอดบริจาคหรือหายอดสมาชิกใหม่ แต่เรามีภารกิจร่วมกันคือการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 และการเลือกตั้งนายก อบจ.ราชบุรีและการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ นี่คืออำนาจที่อยู่ที่ปลายปากกาของประชาชน
.
"เราคือคนขีดเส้นทางนี้เอง "
.
ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า นี่เป็นการถูกยุบพรรคครั้งที่ 2 ใครจะชิน ตนไม่ชิน เหมือนผู้มีอำนาจในประเทศนี้คิดว่าประชาชนคิดเองไม่ได้ ต้องคอยบอกว่าจะทำอย่างไร บอกว่าเราขีดชะตาชีวิตตัวเองไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเรากำหนดเองได้ อำนาจสูงสุดอยู่ที่ประชาชน ประชาชนคือผู้ที่จะบอกผู้แทนราษฎรอย่างเราว่าควรทำอะไรต่อ วันนี้เราจะแปรความแค้นความโกรธเป็นพลังเพื่อสู้ต่อไป
.
" วันนี้พลังเก่าไม่ยอมตาย พลังใหม่กำลังจะเกิด "
.
ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวว่า บอกว่าพรรคก้าวไกลเซาะกร่อนบ่อนทำลาย แล้วพรรคการเมืองที่เอาความจงรักภักดีมาหาเสียง บอกว่าจงรักภักดีกว่าใคร ชี้หน้าว่าก้าวไกลไม่จงรักภักดี แล้วแพ้การเลือกตั้งได้มาไม่กี่เสียง ใครเซาะกร่อนบ่อนทำลายกันแน่ ตนเสนอว่าคราวหน้าถ้ามีโอกาสทำรัฐธรรมนูญใหม่ พิจารณาช่วยกันบอกว่าจะเอาไว้ดีไหมศาลรัฐธรรมนูญ มีแบบนี้มีไว้ทำไม
.
ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนสุดท้าย ภูมิใจมากที่ได้ทำหน้าที่แม้เพียงช่วงสั้นๆ ขอขอบคุณประชาชนที่สนับสนุนเรามากขึ้นๆ และเชื่อว่าจะมากกว่านี้อีก วันนี้พวกเขารวมหัวยุบพรรคก้าวไกล แต่ไม่สามารถยุบก้าวไกลในใจประชาชน ไม่สามารถยุบความหวังและความฝันของเราที่อยากเห็นประเทศไทยที่ดีกว่านี้
.
“วันนี้พลังเก่าไม่ยอมตาย พลังใหม่กำลังจะเกิด สุดท้ายอนาคตจะเป็นของเรา การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มากพอ เดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากกว่านี้ เพื่อพวกเขาไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของพี่น้องประชาชนได้อีกต่อไป”
.
" ยุบพรรคได้ ยุบความหวังไม่ได้"
.
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กล่าวว่า วันที่เราชนะการเลือกตั้งในเกมที่เขาดีไซน์มาให้เราแพ้ เราชนะไม่ใช่เพราะประชาชนเชื่อในตัวพิธา แต่เพราะท่านเชื่อในตัวเองว่าพวกท่านทุกคนมีอำนาจเพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ ขอให้จดจำความรู้สึกนี้ไว้แม้ไม่มีตนอยู่ในทำเนียบรัฐบาล ในรัฐสภาหรือในการเมืองไทย ถ้าตนยังอยู่ในใจของประชาชนและประชาชนยังเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมแน่นอน
.
“เราชินชากับเรื่องนี้ไม่ได้เด็ดขาด เขาอยากได้อะไร เราจะไม่ให้เขาเด็ดขาด เขายุบพรรค ต้องไม่ยอมให้เขายุบความหวังของเรา โกรธแค้นเสียใจได้วันนี้วันเดียว พรุ่งนี้เดินหน้าต่อเพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา
เปิดเวที"ก้าวไกลไปต่อ"
(มุมมองหลัง ยุบพรรคก้าวไกล)
"การแก้กฎหมายและออกกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภา การเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการกระทำโดยอาศัยกระบวนการทางรัฐสภา มิได้ใช้กำลังความรุนแรง จึงไม่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้"
จาตุรนต์ ฉายแสง นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนสำคัญของไทย จัดเป็นนักการเมืองสายก้าวหน้าที่เมื่อเสนอแนะอะไร สังคมตั้งเงี่ยหูฟัง
โพสต์ผ่านเฟสบุกส์ Chaturon Chaisang ไว้2 ตอนเกี่ยวกับเรื่องยุบพรรคการเมือง!!!!
CLOSE-UP THAILAND เห็นว่าน่าสนใจจึงหยิบประกอบลองไปติดตาม
"ขอแสดงความเสียใจต่อกรรมการบริหาร สส. สมาชิกและประชาชนผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลทุกท่านที่พรรคก้าวไกลถูกยุบและคณะกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาถึง 10 ปี
.
ขอให้กำลังใจทุกท่านในการที่จะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชนต่อไปครับ
.
นอกจากเสียใจแล้ว ที่น่าห่วงใยอย่างมากก็คือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับการทำหน้าที่ของระบบรัฐสภา หลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ
.
ผมแสดงความเห็นมาตลอดว่าระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคเป็นปัญหาทำให้พรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่สามารถเป็นเครื่องมือของประชาชนในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่วนการเพิกถอนสิทธิ์ในการสมัครรับเลือกตั้งและการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองก็เป็นการขัดต่อหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ผมก็ยังยืนยันความเห็นนี้เช่นเดิม
.
การจะยุบพรรคการเมือง ถ้าจะมีก็น่ามีเหตุผลเพียงประการเดียวคือพรรคการเมืองนั้นมีการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองฯ แต่การดำเนินการด้วยกระบวนการทางรัฐสภาย่อมไม่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ เนื่องจากมีระบบกลไกตามรัฐธรรมนูญป้องกันไว้อยู่แล้ว ดังนั้นมาถึงวันนี้ น่าจะต้องย้ำว่าการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองต้องเป็นการกระทำที่อาศัยกำลังความรุนแรงเช่นการทำรัฐประหารหรือการสร้างเงื่อนไขและชักชวนให้เกิดการรัฐประหาร หรือการใช้กำลังความรุนแรงเข้ายึดอำนาจเป็นต้น
.
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันนี้ไม่ได้มีความซับซ้อนเนื่องจากอาศัยข้อเท็จจริงและหลักเหตุผลรวมทั้งข้อกฎหมายเช่นเดียวกันกับคำวินิจฉัยที่ 3/2567 นั่นเอง
.
เมื่อวินิจฉัยไว้ว่า "พรรคก้าวไกลมีพฤติการณ์ การกระทำเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเข้าลักษณะการกระทำอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ดังนั้นจึงยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค
.
ผมเคยแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยครั้งก่อนไว้แล้ว ขอย้ำและเพิ่มเติมว่าที่จะเป็นปัญหาต่อการทำหน้าที่ของระบบรัฐสภา ความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมก็คือการกระทำหลักและการกระทำประกอบเกือบทั้งหมดที่ถือว่าเป็นปัญหานั้นไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญได้
.
อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย การแก้กฎหมายและออกกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภา การเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการกระทำโดยอาศัยกระบวนการทางรัฐสภา มิได้ใช้กำลังความรุนแรง จึงไม่อาจเป็นการล้มล้างการปกครองไปได้
.
การเสนอกฎหมาย พิจารณาหรือลงมติแก้ไขกฎหมายย่อมไม่อาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหากร่างกฎหมายนั้นมีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญก็มีระบบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้กฎหมายนั้นตกไปโดยผู้เสนอหรือลงมติกฎหมายนั้นไม่ว่าในทางเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบไม่มีความผิดใดๆ ดังที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับได้กำหนดให้เอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาในการทำหน้าที่ในสภาไว้
.
การถือว่าการเสนอกฎหมายอาจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดรัฐธรรมนูญมีความผิดและมีโทษร้ายแรงย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่อย่างเป็นอิสระและไม่อยู่ใต้อาณัติใดๆของสมาชิกรัฐสภาและรัฐสภาโดยรวม
.
การถือว่าการเสนอกฎหมายอาจเป็นความผิดร้ายแรงจึงกระทบต่อการทำหน้าที่ของผู้แทนปวงชนชาวไทยกระทบต่อรากฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศโดยตรง
.
ส่วนการกำหนดนโยบายและการหาเสียงมีกกต.และกฎหมายกำกับอยู่ ถ้าผิดระเบียบกกต.ก็ห้าม ถ้าผิดกฎหมายก็ดำเนินคดี ซึ่งไม่พึงเอาเรื่องนี้ไปรวมกับเรื่องอื่นที่ไม่อาจผิดกฎหมายได้แล้วทำให้กลายเป็นขัดรัฐธรรมนูญ การล้มล้างการปกครองฯหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองฯก็คือขัดรัฐธรรมนูญ
.
ส่วนการประกันตัวผู้ต้องหาหรือการตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยเสียเองในคดีใดๆของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ดีหรือของบุคคลอื่นใดก็ดี เป็นสิทธิและได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญโดยถือว่าทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์หากถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา จำเลยและผู้ประกัน ส่งผลเสียหายต่อการยึดหลักนิติธรรมได้
.
โดยสรุป ระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรคควรต้องมีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยและสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับองค์อิสระและศาลรัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จำเป็นจะต้องมีขึ้นให้ได้ครับ
.
ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำจากการยุบพรรค การเพิกถอนสิทธิ์และทำให้เสียสิทธิ์ รวมทั้งได้เห็นความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนที่เป็นผลตามมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ขอแสดงความเห็นไว้ในโอกาสนี้"
นายจาตุรนต์ยังเสนอเรื่อง "ปัญหายุบพรรคและความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตย3ฝ่าย จะแก้ได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ......ลองติดตาม
การยุบพรรคการเมืองตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ใช้หลักเหตุผลที่อ่อนแอไม่เป็นเหตุเป็นผล มีการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น และมีการเพิกถอนสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคหรือนักการเมืองที่เป็นโทษรุนแรงมาก ทั้งๆที่กรรมการบริหารพรรคจำนวนมากหรือเกือบทั้งหมดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้นเลย บางพรรคที่ถูกยุบไปพิสูจน์ต่อมาภายหลังด้วยซ้ำว่าไม่มีใครทำผิดกฎหมายอะไรเลย
.
แต่การยุบพรรคครั้งล่าสุดมีปัญหาเพิ่มขึ้นมาอีก…
.
นั่นคือคำวินิจฉัยล่าสุดได้สะท้อนปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายตุลาการกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือก็คืออำนาจหน้าที่ของรัฐสภากับการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ
ในเรื่องการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย ที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีการหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบควบคุมรัฐบาล ส่วนฝ่ายตุลาการมีหน้าที่ทำให้ผู้คนและองค์กรต่างๆทำตามกฎหมาย
.
ฝ่ายตุลาการจะไม่ทำหน้าที่ในการกำกับการออกกฎหมายในขั้นตอนต่างๆ แต่จะมาเกี่ยวกับการออกกฎหมายก็ต่อเมื่อสภาพิจารณากฎหมายเสร็จแล้วจนถึงขั้นเห็นชอบทั้ง 3 วาระ ถ้าเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นกฎหมายธรรมดา หากมีคนร้องตามจำนวนที่กำหนดว่ากฎหมายนี้หรือมาตรานี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัดแย้งก็จะต้องตกไป เช่นเดียวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าหากว่ามีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญขึ้นมา ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถวินิจฉัยให้ตกไป
.
ในกรณีที่ถูกวินิจฉัยให้ตกไป สมาชิกที่เสนอกฎหมาย, แสดงความเห็น หรืออภิปรายและลงมติ จะไม่มีความผิดเพราะเขาถือว่าทำไปตามหน้าที่
.
ส่วนการพิจารณาว่ากฎหมายใดจะดีหรือไม่ เป็นดุลพินิจการตัดสินใจของรัฐสภา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ
.
ระบบถ่วงดุลเป็นเช่นนี้ และรัฐธรรมนูญก็มีระบบป้องกันอยู่ในตัวอยู่แล้วที่จะไม่ให้เกิดกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นปัญหาใหม่นี้ก็คือเกิดการจัดความสัมพันธ์อีกแบบหนึ่งที่ฝ่ายตุลาการสามารถจะมาพิจารณาได้ว่าร่างกฎหมายที่เสนอมีเนื้อหาที่ดีหรือไม่ดีและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งๆที่ไม่ใช่ขั้นตอนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจ
.
เรื่องที่ใหญ่มากทั้งเรื่องการยุบพรรคและเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตย 3 ฝ่าย จึงต้องแก้กันในขั้นตอนของการแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนการแก้ระบบกฎหมายว่าด้วยการยุบพรรค อาจจะแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่พอ จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญด้วย เช่นเดียวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ต้องแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น
.
ผมคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะว่าจะไปเกี่ยวข้องกับความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเมือง การมีหลักนิติธรรม ที่สำคัญไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับผลประโยชน์ของประชาชน ที่ประชาชนจะสามารถมีพรรคการเมืองและใช้พรรคการเมืองให้เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้แค่ไหนหรือประชาชนสามารถใช้รัฐสภาในการทำหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบควบคุมการทำงานของฝ่ายรัฐได้ดีแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ
.
จะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องแก้รัฐธรรมนูญครับ"
“ยุบไปก็เท่านั้น” “ยุบใหม่โตกว่าเดิม” “ตายสิบเกิดแสน”
“ความกลัวในจินตนาการ”
ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามบีบีซีไทยว่า
ทำไมเมืองไทยถึงยุบพรรคกันง่ายเหลือเกินว่า “พรรคถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อระบอบ”
ก่อนวันพิพากษาชะตากรรมของพรรคสีส้ม 7 ส.ค. อาจารย์สิริพรรณ “ไม่กล้าฟันธง” เพราะคิดว่ายังมีโอกาสรอด 50-50 ไม่ว่าพิจารณาจากเหตุผลทางกฎหมายหรือมิติทางการเมือง แต่สุดท้ายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแบบ “ไม่พลิกความคาดหมาย” ของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม
ในทัศนะของ ศ.ดร.สิริพรรณ การยุบพรรคยังเป็น “เครื่องมือ” ของชนชั้นนำในการลดทอนพลังของพรรคการเมืองที่ “มีประสิทธิภาพ-ทรงพลัง-ใช้ได้ผลจริง” เปรียบเสมือน “การลอกกาวของความเหนียวแน่นภายในพรรค” เพราะทุกครั้งที่พรรคถูกยุบ จะมีแกนนำพรรคบางส่วนถูกตัดสิทธิทางการเมือง แม้ในที่สุดบางคนจะกลับมาได้ แต่บางกลุ่มก็กระเซ็นกระสายออกไปและยากจะดึงกลับมา
เธอจึงไม่เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า “ยุบไปก็เท่านั้น” “ยุบใหม่โตกว่าเดิม” “ตายสิบเกิดแสน”
ต่างในเหมือน บริบทยุบ 3 พรรคทักษิณ-2 พรรคธนาธร
หากย้อนประวัติศาสตร์การยุบพรรคที่ถูกมองว่ามีศักยภาพในการ “ท้าทาย-ต่อกร” กับชนชั้นนำเก่า ประกอบด้วย 3 “พรรคทักษิณ” กับ 2 “พรรคธนาธร” ศ.ดร.สิริพรรณ ชี้ให้เห็นความเหมือน-ความต่าง
พรรคไทยรักไทย (ทรท.) พยายามจัดระเบียบอำนาจทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ด้วยการเขย่าความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ซึ่งรวมถึงชนชั้นนำ กลุ่มทุน ทหาร ระบบราชการ และประชาชน “การแตะกลุ่มทุนที่เป็นเครือข่ายราชสำนัก ทำให้ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนที่ถูกเขย่าไปกระทบชิ่งและดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามา”
พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) พยายามสร้างสัมพันธ์กับอำนาจเดิม ด้วยการ “ทำให้ลงมาเป็นผู้เล่นทางการเมือง”
พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พยายามตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ระหว่างประชาชน พรรคการเมือง ทหาร ชนชั้นนำ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ผ่านมาตรา 112 ซึ่งเป็นเรื่องอ่อนไหว
“สิ่งที่เหมือนกันโดยภาพรวมคือไปกระทบการจัดระเบียบอำนาจในสังคม แต่กรณีก้าวไกลมันไปไกลกว่า ไทยรักไทยแค่เขย่าแล้วปล่อยให้มันจัดของมันเอง แต่ก้าวไกลตั้งคำถามและพยายามแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในแง่ความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความน่ากังวลสำหรับคนที่จะถูกจัดระเบียบคือไม่รู้ว่าหน้าตาจะออกมาแบบไหน ไม่รู้ว่าความสัมพันธ์ใหม่จะออกมาในลักษณะไหน” ศาสตราจารย์แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว
ตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (2544-2566) เป็นที่ประจักษ์ว่าพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมไม่ว่าตั้งขึ้นมาภายใต้กลไกใดก็ตาม ล้วนไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง ตรงกันข้ามชัยชนะของพรรค ทรท. และพรรค ก.ก. ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากมวลชนกว่า 10 ล้านเสียง น่าจะทำให้ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมเกิดความหวาดวิตกมิน้อย ทว่าต้นเหตุแห่งความกลัวที่ฝ่ายอนุรักษนิยมมีต่อ 2 ค่ายการเมืองนั้นแตกต่างกัน
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้ง ระบุว่า ในยุคไทยรักไทยเป็นความกลัวจากความสำเร็จเชิงนโยบายของและการบริหารราชการแผ่นดิน “จึงต้องยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน หรือเอาคุณสมัคร (สุนทรเวช นายกฯ คนที่ 25 และหัวหน้าพรรค พปช.) หรือคุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร นายกฯ คนที่ 26) ออกจากตำแหน่งในระหว่างที่นั่งบริหารประเทศอยู่ และหาทางไม่ให้บริหารประเทศได้”
แต่กรณี อนาคตใหม่-ก้าวไกล ยังไม่เคยบริหารประเทศ เป็น “ความกลัวในจินตนาการ” และเป็น “ความกลัวที่ลึกลับ ลึกซึ้ง และหลอนกว่า” ปรากฏในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เพราะมันสามารถกระจายตัวในเชิงอุดมการณ์ได้ แต่ขณะเดียวกันมันก็วาบไหวมากกว่า
“วิธีการของฝ่ายอนุรักษนิยมจึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม กรณีคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค อนค.) คือไม่ให้แม้แต่จะเข้าไปเป็นผู้นำในสภาได้ เช่นเดียวกับกรณีคุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก.)” ศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว
(รายละเอียดคำตัดสิน)
Cr.ขอบคุณเพจพิธา ลิ้มเจริญรัตน์-เพจจาตุรนต์ ฉายแสง -เพจก้าวไกล-เอกสารข่าวจากศาลรัฐธรรมนูญ-และบีบีซีไทยกับบทสัมภาษณ์นักรัฐศาสตร์ชั้นครูอย่าง "ศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี" ู้กูรูที่เปรียบห้องสมุดฮาร์วาร์ดเคลื่อนที่!!!
コメント