ด้าน “โฆษกคมนาคม” เชื่อเป็นยุทธศาสตร์เชิงเศรษฐกิจก้าวสำคัญของไทย ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ S-Curve หนุนพื้นที่ภาคใต้สู่ฮับโลจิสติกส์
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม ยืนยันจะเดินหน้าโครงการแลนด์บริดจ์เต็มที่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ถึงข้อกังวลและข้อสังเกตในด้านต่าง ๆ โดยเมื่อรับฟังความเห็นแล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จะนำข้อมูลดังกล่าว ไปพิจารณาถึงแนวทางการดำเนินการ รวมถึงหากมีปัญหาในจุดใดจะหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความพึงพอใจ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายในระดับสูงสุด ขณะเดียวกันกรณีที่มีผู้ออกมาวิจารณ์เชิงคัดค้านนั้น แต่จากการสำรวจความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่พบว่า 99% ต้องการให้โครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์โดยรวมของพื้นที่ภาคใต้ และเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทย
ด้าน ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม และโฆษกกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ นับเป็นอีกหนึ่งยุทธศาตร์สำคัญทางเศรษฐกิจโซนภาคใต้ของประเทศไทย ที่สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน จึงมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และได้รับผลประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าของช่องแคบมะละกาที่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในช่วงรัฐบาลยุคที่ผ่านมา โซนภาคใต้ของประเทศไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งการผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ของรัฐบาลยุคปัจจุบันนั้น จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ที่มีความเหมาะสมทั้งพื้นที่ภูมิศาสตร์ จำนวนประชากร และจำนวนแรงงาน และหากโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จะสามารถสร้าง S-Curve ของอุตสาหกรรมขึ้นมาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ขณะที่ความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ยังคงต้องรอข้อสรุปจากผลการศึกษาวิจัยให้แล้วเสร็จ จึงจะมีการส่งต่อไปยังภาครัฐเพื่อพิจารณาถึงแผนการลงทุนต่อไป โดยหากมีการลงทุนตามสมมุติฐาน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เชื่อว่า ภายใน 25 ปี จะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนได้หลายเท่า ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการจ้างงานภายในประเทศ และการสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศในระดับสูงอีกด้วย
ดร.กฤชนนท์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมากล่าวถึงต้นทุนการเดินเรือ รวมถึงความแออัดของท่าเรือ โดยมองว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ซึ่งที่กล่าวมานั้น ยังไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด และไม่สามารถระบุได้แบบตรงไปตรงมา เป็นเพียงการคาดเดาโดยการเปรียบเทียบช่วง 3 ปีก่อน จึงจำเป็นต้องรอผลสรุป เพื่อนำมาประเมินต่อไป ซึ่งหากต้นทุนสูงเกินไป ผู้ประกอบจะเป็นผู้พิจารณาเองว่า จะเข้ามาใช้บริการหรือไม่ ส่วนฝั่งผู้ลงทุนในโครงการฯ หากได้ข้อสรุปมาแล้วพบว่า ต้นทุนสูง เชื่อว่าก็คงไม่มีผู้ใดเข้ามาลงทุน แต่คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
Commentaires