top of page

“สุริยะ” สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล ที่มาบตาพุดด่วน!


“สุริยะ” สั่งการ ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน “วีริศ” เผยควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว สั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สั่งการ (26 มกราคม 2565) ผู้ว่า กนอ. เร่งตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วไหล บมจ.สตาร์ปิโตรเลียม ท่าเรือมาบตาพุด ด้าน “วีริศ อัมระปาล” เผย กนอ. ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว สั่งเตรียมรับมือกรณีฉุกเฉินหรือลมเปลี่ยนทิศ เล็งดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมคิดและวางแผนดูแลและซ่อมบำรุงรักษา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีกในอนาคต


วันที่ 26 มกราคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภายหลังได้รับรายงานน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ม.ค.2565 และเจ้าหน้าที่สามารถปิดวาล์วน้ำมันได้ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนนั้น ได้มอบหมายให้ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่เร่งเข้าตรวจสอบโดยเร็วที่สุด เพื่อติดตามสถานการณ์และหาสาเหตุพร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขต่อไป


“ผมได้สั่งการให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกรณีเกิดกระแสลมหรือคลื่นเปลี่ยนทิศไว้ล่วงหน้าด้วย ที่สำคัญ ต้องรีบจัดการกับคราบน้ำมันดังกล่าวให้เร็วที่สุด พร้อมหาสาเหตุของการรั่วไหล” นายสุริยะ กล่าว


ด้าน นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ภายหลังได้รับข้อสั่งการตนจึงเร่งลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ทันที โดยได้รับรายงานประมาณการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลไม่เกิน 1.6 แสนลิตร หรือคิดเป็น 128 ตัน คิดเป็น 0.04% ของน้ำมันในเรือ ขณะที่เรือมีความจุประมาณ 3.2 แสนตัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังปิดวาล์วที่เกิดเหตุได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ได้ทำการล้อมพื้นที่ที่น้ำมันดิบรั่วไหลในรัศมีไม่เกิน 1 ตารางกิโลเมตร พร้อมทั้งได้มีการฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน (Oil Spill Dispersant) โดยจุดเกิดเหตุนั้นห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 กิโลเมตร เบื้องต้นประเมินสถานการณ์ว่าจะส่งผลกระทบไม่มากนัก


“ตามที่ รมว. อุตสาหกรรม ได้สั่งการ กนอ. ได้หาสาเหตุของการรั่วไหลโดยเบื้องต้น พบว่าท่อดังกล่าวมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามแผนการดำเนินงานของทางบริษัทฯ มาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะมีการขอดูแผนในการดูแลและบำรุงรักษา รวมถึงอายุการใช้งานของท่อว่ามีอายุการใช้งานเท่าไหร่ จำเป็นต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนให้มีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อจะนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาวางแนวทางให้เข้มงวดมากขึ้น หรือให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดและวางแผนในการดูแลและบำรุงรักษาด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตนจะรายงานให้นายสุริยะทราบเป็นระยะๆ ” นายวีริศ กล่าว


ทั้งนี้ ภายหลังเกิดเหตุทางบริษัทได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบในพื้นที่ทันที โดยหน่วยงานทางด้านสิ่งแวดล้อมจะทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป



Commentaires


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page