CLIMATE CHANGE
มามอง CLIMATE CHANGE จากปรากฎการณ์น้ำท่วมอุบลฯ : เมืองปลายทางของ 2แม่น้ำขนาดใหญ่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชีจากพายุโพดุล สู่โนรู
สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ เกิดผลกระทบรุนแรงที่สุดในรอบ 43 ปี และท่วมสูงกว่าเมื่อปี 2562 แล้ว พื้นที่เกษตรถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้างครอบคลุม 19 อำเภอ และบ้านเรือนประชาชนจมน้ำอีก 9 อำเภอ หลังเผชิญกับฝนจากร่องมรสุม พายุโนรู ตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย. และการเป็นพื้นที่ปลายน้ำของภาคอีสาน ล่าสุด มีประชาชนใน จ.อุบลราชธานี ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 46,000 คน
เมื่อเช้าวันที่ 11 ต.ค.65 ระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตยกลางเมืองอุบลฯ วัดได้ 11.50 เมตร เพิ่มขึ้นจากเช้าเมื่อวานนี้ 3 ซม. ซึ่งเป็นระดับน้ำที่สูงกว่าเมื่อปี 2562 (10.97 เมตร)
ภาพน้ำท่วมที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียของ จ.อุบลฯ หลายเพจเฟซบุ๊ก เผยให้เห็นความเสียหายของน้ำท่วมภายในจังหวัด พื้นที่ริมแม่น้ำมูลในอุบลฯ บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วมจนถึงชั้นสอง ทำให้ขณะนี้ จังหวัดตั้งศูนย์อพยพพักพิงแล้วราว 90 แห่ง
หลายพื้นที่ของ จ.อุบลราชธานี ท่วมมาเป็นเดือนแล้ว เครือข่ายจิตอาสาระบุกับบีบีซีไทย พร้อมเสริมว่า ชาวบ้านบางหมู่บ้าน อพยพย้ายหนีน้ำมาแล้ว 3 ครั้ง
ประชาชนจำนวนมากใน อ.วารินชำราบ ต้องต่อแถวเพื่อขึ้นรถบรรทุกของทหาร เพื่อโดยสารเข้าไปทำงานในตัวเมืองอุบลฯ เนื่องจากเส้นทางถนนที่เชื่อมต่อ อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ เหลือเส้นทางที่รถเล็กใช้งานเพียงเส้นทางเดียว ซึ่งการจราจรอยู่ในระดับสาหัส
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับ สถานีวิทยุ สวพ. 91 วานนี้ (10 ต.ค.) ว่า ภาพรวม ปีนี้ น้ำท่วมอุบลฯ เนื่องจากสถานการณ์ฝนจากร่องมรสุม ตกบริเวณกว้างในอีสาน และ จ.อุบลฯ เป็นจังหวัดปลายน้ำ ซึ่งรับน้ำจากทั้งแม่น้ำมูล และแม่น้ำชี ที่มาจากหลายจังหวัดภาคอีสาน โดยแม่น้ำมูล เป็นเส้นทางน้ำจาก จ.นครราชสีมา สุรินทร์ บุรีรัมย์ ส่วนแม่น้ำชี เป็นเส้นทางน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร
"ปีนี้เรามีระดับน้ำที่สถานีวัดระดับน้ำ เอ็ม 7 สะพานเสรีประชาธิปไตยที่ อ.เมือง อุบลฯ สูงกว่า ปี 62 เกือบ ๆ 60 ซม. แล้วตอนนี้ เพราะฉะนั้นก็ได้รับผลกระทบมากกว่าปี 62 ในบางพื้นที่ปี 62 อาจจะไม่ท่วม แต่ปีนี้ก็ได้รับผลกระทบ"
รศ. สมหมาย ชินนาค อาจารย์สาขาวิชาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สถานการณ์น้ำท่วมใน จ.อุบลฯ ขณะนี้ และจังหวัดใกล้เคียงหนักกว่าเมื่อปี 2562 แล้วกว่า 30-40% โดยส่วนหนึ่งวิเคราะห์ว่า เกิดจากรอยต่อการบริหารจัดการน้ำช่วงเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัดที่หยุดชะงัก และการเตรียมการที่ชะล่าใจเกินไป
"ตอนนี้เลยปี 62 ไปเยอะแล้ว... มันหนักกว่าที่เป็นข่าว หลายที่เหลือแค่หลังคา" รศ. สมหมาย ระบุ
สำหรับ จ.อุบลฯ เส้นทางระหว่าง อ.เมือง กับ อ.วารินชำราบที่มีอยู่ 4 เส้นทาง เหลือยู่เพียงเส้นทางเดียว และเส้นทางเดียวที่เหลือจากที่เคยใช้เวลา 15-20 นาที กลายเป็น 5 ชั่วโมง
สถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนัก และน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุโนรู ที่พัดเข้าไทย ในช่วงปลายเดือน ก.ย. เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างในหลายจังหวัดของภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี
ด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ อุบลราชธานี เป็นจังหวัดปลายน้ำ ที่แม่น้ำสายหลักในอีสาน ได้แก่ แม่น้ำมูล แม่น้ำชี โดยแม่น้ำสองสายจะไหลมาบรรจบกันที่ จ.อุบลราชธานี และท้ายสุดจะไหลออกที่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม
เมื่อปี 2562 เป็นปีหนึ่งที่อุบลฯ เกิดน้ำท่วมหนักในรอบ 40 ปี สืบเนื่องจากอิทธิพลพายุโพดุลและพายุคาจิกิ แต่ในปีนี้ ถือว่า ผ่านจุดท่วมสูงเมื่อ 3 ปีก่อนมาแล้ว
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ระบุเมื่อ 10 ต.ค. ว่าเขตที่กระทบมาก ๆ ได้แก่ที่ อ.เมือง วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร ดอนวัดแดง บางที่สูงถึงชั้น 2 ของบ้านแล้ว รัฐได้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว ตอนนี้มีกว่า 90 ศูนย์แล้ว เขาบอกด้วยว่า ในเขต อ.เมือง มีบางชุมชนที่ท่วม และเนื่องจากตลิ่งเมืองสูงกว่าฝั่ง อ.วารินชำราบ ทำให้พื้นที่ อ.วารินชำราบ เสียหายมากกว่า
"เส้นทางที่เราพยายามรักษาไว้ ไม่ให้ท่วมเด็ดขาด คือ ถนนวงแหวนตะวันออก สาย 231 เหลือเพียงเส้นทางเดียวจาก อ.วารินฯ ที่ไป อ.เมือง"
ผู้ว่าฯ อุบลฯ บอกด้วยว่า ระดับน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง มีแนวโน้มที่น้ำที่มาจากพื้นที่จังหวัดเหนืออุบลฯ ก็ค่อย ๆ ลดลง การระบายน้ำ ยังทำได้ดี แต่ทั้งนี้ การระบายน้ำต้องใช้เวลา เพราะระยะทางของแม่น้ำยาวประมาณ 80 กม. จากตัวจังหวัดกว่าไปถึงปลายทางที่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม
"หลายพื้นที่ท่วมมาเป็นเดือน แต่มีสัญญาณที่ดีที่น้ำจะเริ่มเข้าสู่ภาวะสูงสุดภายในสัปดาห์นี้ และจะเริ่มลดระดับลง คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าไม่มีฝนเข้ามาเพิ่มอีก" ผู้ว่าฯ อุบลฯ ระบุกับ สวพ. 91
อีกฟากของประเทศไทย
"บางคนอพยพมา 3 ครั้ง จากบ้านไปที่สูงพอน้ำไล่มา ก็อพยพไปที่นึง ทุกคนอยากให้ศูนย์อพยพ ใกล้บ้านตัวเอง ที่สุด แต่เมื่อน้ำมันมาก็อยู่ไม่ได้" วีรณัฐกรณ์ พรหมเอี่ยม แอดมินเพจวารินชำราบบ้านเฮา อุบลราชธานี และเครือข่ายจิตอาสาน้ำท่วม บอกกับบีบีซีไทย ถึงสถานการณ์ศูนย์อพยพบริเวณบ้านทัพไทย ถนนสายเลี่ยงเมืองอุบลฯ ใกล้เคียงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลอุบลฯ ที่บัดนี้กลายเป็นเวิ้งน้ำไปหมดแล้ว
ปริมาณน้ำที่มาเร็ว ทำให้ชาวบ้านที่หนีน้ำมาเก็บข้าวของและเต็นท์พักพิงไม่ทัน แอดมินเพจวารินชำราบบ้านเฮาฯ บอกว่าจุดนี้ท่วมมาเป็นเวลานานแต่น้ำยกระดับมาเรื่อย ๆ จากเดิมที่สถานีบริการน้ำมันด้านข้างเคยเป็นจุดที่ชาวบ้านใช้ห้องน้ำ และจุดตั้งโรงครัว
จิตอาสา บอกกับบีบีซีไทยว่า กำลังเจ้าหน้าที่รัฐไม่เพียงพอ เพราะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก เขายังแสดงความเห็นด้วยว่าน้ำท่วมอุบลฯ ครั้ง "เป็นข่าวน้อย ดังอยู่แต่ในบ้านตัวเอง" ทั้งที่เป็นน้ำท่วมหนักที่สุดในชีวิตที่เขาเคยเจอมา
"คนสมัยนี้ปรับตัวไม่ทัน เพราะไม่เคยเจอน้ำเยอะ ปี 62 มาเร็วไปเร็ว แต่ตอนนี้มันขึ้นไม่ลง"
นักวิชาการ ม.อุบลฯ ชี้เป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ แต่รัฐยังโฟกัสผิดจุด
อ. ธวัช มณีผ่อง ประธานหลักสูตรสาขาวิชานวัตกรรมการพัฒนาสังคม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และอาสาสมัครสู้น้ำท่วม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า น้ำท่วมในปีนี้ ในฐานะประชาชน การจัดการน้ำที่ได้รับทราบว่ารัฐทำอะไรบ้าง มีเพียงช่วงก่อนเกิดน้ำท่วมว่ามีการระบายน้ำจากจุดต่าง ๆ เข้าสู่แม่น้ำมูล และมีเครื่องผลักดันน้ำที่ปลายน้ำ เท่านั้น
อ. ธวัช บอกว่า อุทกภัยใน จ.อุบลฯ เป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ ทว่าไม่เคยมีการตั้งกองอำนวยการที่จะประสานให้ประชาชนทราบว่าจะเผชิญเหตุน้ำท่วมอย่างไร อีกทั้งการให้ข้อมูลจากรัฐที่ผ่านมาไม่นำไปสู่การเผชิญเหตุ แม้หน่วยงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย บอกว่าได้เตรียมการมาล่วงหน้าแล้ว 3 เดือน แต่ไม่สามารถเห็นภาพได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ ปภ. เตรียมขึ้นมา
นอกจากนี้ สภาพของน้ำที่ท่วมแตกต่างจากปี 2562 ซึ่งเป็นน้ำจากพายุไหลลงมาในแม่น้ำสองสาย และท่วมขึ้นอย่างกระทันหัน แต่จากการติดตามข่าว ปีนี้ปริมาณน้ำไม่เยอะ แต่สภาพการไหลของน้ำแตกต่างไป
"น้ำพากันขึ้นอย่างแม่น้ำมูลเมื่อสูงขึ้น น้ำสาขา ก็เอ่อล้นท่วม ทำให้มันท่วมแผ่กระจาย อย่างอำเภออื่น ๆ พิบูลมังสาหาร สว่างวีระวงศ์ มันท่วมอย่างที่ไม่เคยท่วมมาก่อน"
อ.จาก ม.อุบลฯ บอกด้วยว่า เครือข่ายอาสาสมัครของ ม.อุบลฯ ที่นักศึกษาลงพื้นที่ตามจุดต่าง ๆ พบว่าอาหารและน้ำไม่เพียงพอ และมีความเดือดร้อนที่กระจายอยู่นอกเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลวารินชำราบจำนวนมาก จึงเห็นว่ารัฐควรตั้งกองอำนวยการ ที่มีกลไกการสื่อสารถึงการสำรวจความเดือดร้อน ทั้งในระยะเฉพาะหน้าและช่วงเผชิญเหตุ มีการเตรียมการอพยพที่เป็นระบบ และระบบการประสานงานของจิตอาสาที่เข้ามาร่วมสนับสนุน
"(รัฐ) ยังพูดอยู่ในระดับของความทุกข์ร้อน แต่ก็ยังไม่ครอบคลุม ยังไม่เห็นการแมปปิ้งว่าจุดที่ผู้เดือดร้อนอยู่ที่ไหนบ้าง ยังเป็นรูปธรรมแค่ว่า ถนนเส้นนี้ไปได้ไหม ถ้าไปไม่ได้ไปทางไหนได้อีก ผมคิดว่าเครื่องมือที่เรานำมาใช้ ในการเผชิญกับปัญหามันเล็กน้อยมาก มันไม่เหมาะสม" อ.ธวัช กล่าว
@รายงานโดย ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ที่มาของภาพ,UBON SKY VISION
Comments