top of page

 เปิดตัว “เรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์” นวัตกรรมสุดว้าว ลำที่ 19 ของโลก ลุยจัดการขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้วอด!



      วันที่ 26 มี.ค. 67ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายแร็มโก ฟัน ไวน์คาร์เดิน (H.E. Mr. Remco van Wijngaarden) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานในกิจกรรม ตลอดจนผู้บริหารภาคีเครือข่าย และผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) ภายใต้โครงการความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) ณ บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา เขตบางคอแหลม

      “โลกทั้งโลกเชื่อมกันด้วยสายน้ำ แต่สายน้ำก็นำพาขยะไปได้ด้วย หากเราไม่จัดการขยะที่ต้นทาง สุดท้ายขยะก็จะกองอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางในมหาสมุทร สำหรับเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์นี้ ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพในการเก็บขยะเท่านั้น แต่ยังมีประสิทธิภาพในอีก 2 ด้าน คือ 1. แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมมือกัน เพราะไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้ ทุกคนต้องร่วมมือกัน เช่นในครั้งนี้ก็เป็นความร่วมมือกันของทั้งภาครัฐและเอกชน และ 2. เป็นเครื่องเตือนใจว่าขยะทุกชิ้นมีเจ้าของ ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย กรุงเทพมหานครขอขอบคุณที่เลือกกรุงเทพฯ เป็นที่ติดตั้งของเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor 019) และขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ กทม.จะร่วมมือกับทุกคนในการทำสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว



      ด้าน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในนามของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอขอบคุณในความร่วมมือของทุกภาคส่วน และขอชื่นชมในความมุ่งมั่นทุ่มเทในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการรั่วไหลของขยะพลาสติกจากแผ่นดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาก่อนไหลลงสู่ทะเล รวมทั้งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกิจกรรมเปิดตัวเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ ลำที่ 19 ของโลก (Interceptor 019) ในวันนี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีในการบริหารจัดการขยะพลาสติกลอยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะการแก้ไขปัญหามลพิษและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากขยะพลาสติกต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะเกิดความยั่งยืนได้

      สำหรับโครงการความร่วมมือการจัดการขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์ (Interceptor) เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรไทย และองค์กร The Ocean Cleanup ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ตลอดจนกรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท อีโคมารีน จำกัด บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) โคคา-โคล่า และหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดยทำการติดตั้งเรือดักเก็บขยะพลังงานแสงอาทิตย์หรือเครื่อง Interceptor ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลม ซึ่งกรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนโครงการฯ ด้วยการดูแลรับผิดชอบการจัดเก็บและคัดแยกขยะที่ Interceptor 019 ดักจับได้ เพื่อนำพลาสติกกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และกำจัดขยะประเภทอื่น ๆ อย่างเหมาะสมต่อไป

      ในส่วนของเครื่อง Interceptor นั้น คิดค้นโดยองค์กร The Ocean Cleanup ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินการด้านการจัดการขยะในทะเลจากราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ โดยการทำงานของ เครื่อง Interceptor จะประกอบด้วย แผงทุ่นลอยน้ำที่โยงติดกับโรงเก็บขยะ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแพเรือที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จากแผงโซลาร์เซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ในการควบคุม เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเล สามารถเก็บขยะได้วันละ 50,000 - 100,000 ชิ้น ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ในแม่น้ำ 15 สายของโลกที่จะมีนวัตกรรมดังกล่าวมาปฏิบัติการ

      ทั้งนี้ การดูแลรักษาความสะอาด จัดเก็บขยะและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่การปฏิบัติงานตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึงวัดโยธินประดิษฐ์ สุดเขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. โดยจะจัดเก็บทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำและกลางแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.30 น. เป็นประจำทุกวัน อีกทั้งยังจัดกำลังเจ้าหน้าที่จัดเก็บวัชพืชและผักตบชวาเป็นพิเศษบริเวณสถานที่สำคัญ ๆ อาทิ หน้าวัดอรุณราชวราราม ท่าน้ำศิริราช เป็นต้น ซึ่งวัชพืชและขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปขึ้นที่ท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ปากคลองบางกอกน้อย (ใต้สะพานอรุณอัมรินทร์) ใต้สะพานพุทธ (คลองโอ่งอ่าง) และใต้สะพานพระราม 9 (ฝั่งพระนคร) จากนั้นจะนำวัชพืชและขยะไปกำจัดที่สถานีกำจัดมูลฝอยหนองแขม

      กิจกรรมวันนี้ นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร (Chief Sustainability Officer) ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คุณโบแยน สแลต ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง The Ocean Cleanup คุณวิกเตอร์ หว่อง รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท โคคา-โคล่า ประจำประเทศไทย เมียนมา และลาว คุณสุรเดช ตัณฑ์ไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโค มารีน จำกัด ศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page