จากเทรนด์รักษ์โลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง “โฮมโปร” ผู้นำรีเทลเรื่องบ้านและเจ้าของโมเดลธุรกิจ “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” พร้อมยกระดับสู่การสร้างสินค้ารักษ์โลก (Circular Products) แบบ Closed-Loop ครบทุกขั้นตอนสำหรับสินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เป็นเจ้าแรก ดันโจทย์สุดท้าทายในกลุ่ม “เครื่องใช้ไฟฟ้า” จับมือผู้ผลิตพัฒนาสินค้าที่ใช้วัสดุที่มีส่วนผสม PCR (Post-Consumer Recycled) และทุ่มงบสร้างการรับรู้ในผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้ายอดขายปีหน้า ภาพรวม 2,500 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 500 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าต่อยอดสู่เป้าหมายใหญ่ Net Zero ปี ค.ศ.2050
นางสาวเสาวณีย์ สิราริยกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มการตลาด บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “โฮมโปร” ผู้นำรีเทลเรื่องบ้านชั้นนำของไทย กล่าวถึงที่มาของโมเดลรักษ์โลก อย่าง “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ที่สะท้อนจุดยืนเป็นตัวกลางสำคัญระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โฮมโปรมองเห็นแรงขับเคลื่อนในนวัตกรรมเรื่องบ้าน ทั้งฝั่งผู้ผลิตที่ต้องการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดออกมาขาย และฝั่งผู้บริโภคที่มองหาหรือต้องการเปลี่ยนสินค้าใหม่ที่ดีกว่าเดิม จึงได้หยิบพื้นฐานธุรกิจในมือมาทำโมเดล Trade-In ก่อนใช้ชื่อว่า “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการสร้างคุณค่า Corporate Feature ในระยะยาว แตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ ที่มีโปรโมชั่นเก่าแลกใหม่ทั่ว ๆ ไป ที่มีขึ้นเป็นครั้งคราว
หลังจากการทำโมเดล “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” ในช่วง 6 เดือนแรก โฮมโปรได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยม โดยทำยอดขายได้ถึง 800 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 240 ล้านบาท สะท้อนถึงศักยภาพและความสำเร็จของแนวทางนี้ ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการยกระดับจาก Trade-In สู่กระบวนการ Closed-Loop Circularity อย่างเต็มรูปแบบ เริ่มต้นจากการเก็บของเก่ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและสุขภัณฑ์จากบ้านลูกค้า ผ่านระบบโลจิสติกส์ที่ครอบคลุมสโตร์กว่า 130 สาขาทั่วประเทศ มาคัดแยก บด ล้าง หลอม และจัดการซากเก่าอย่างถูกวิธี ภายใต้โรงงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อนำเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ร่วมกับคู่ค้า และนำกลับมาจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบสินค้ารักษ์โลก (Circular Products)
สินค้ารักษ์โลก (Circular Products) ใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่งในการพัฒนา จนอยู่ตัวทั้งยอดขายและยอดผลิต สินค้าหลักๆ คือ กระเบื้องที่รีไซเคิลจากซากสุขภัณฑ์ แต่ด้วยของเก่าที่ลูกค้านำมาแลก 80-90% คือเครื่องใช้ไฟฟ้า ประกอบกับที่โฮมโปรเป็นผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 1 ด้วยยอดขายสินค้ากว่า 9 แสนชิ้น/ปี ทำให้โฮมโปรมองความท้าทายต่อไปถึงการสร้าง อิมแพคในตลาด ด้วยการทำเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก Closed-Loop Circularity อย่างแท้จริงในทุกขั้นตอน
“โจทย์แรกที่โฮมโปรต้องเผชิญคือ การโน้มน้าวผู้ผลิตให้มาร่วมมือกับเรา นี่เป็นเรื่องยากเพราะทุกขั้นตอนของ Closed-Loop มีต้นทุนที่ต้องเสีย” นางสาวเสาวณีย์ เล่า “วิธีการที่โฮมโปรใช้คือ การทำให้เห็นว่าโมเดลนี้ สามารถทำได้จริงๆ ซึ่งโฮมโปรลงมือผลักดัน Sell-Out ผ่านการลงทุนในพื้นที่โฆษณาเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องสินค้ารักษ์โลก, การให้ส่วนลดในแคมเปญแลกเก่าเพื่อโลกใหม่, สนับสนุนค่าติดตั้ง-รื้อถอนของเก่าฟรี ทำให้ผู้ผลิตสนใจและเริ่มมาลองตลาดกับเรา และสามารถขายสินค้าได้จริง”
“นอกจากนี้ ประโยชน์ที่ผู้ผลิตจะได้รับ คือ การได้ร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม PCR (Post-Consumer Recycled) อย่างน้อย 30% เป็นการรองรับเทรนด์สินค้าสิ่งแวดล้อมแห่งอนาคต พร้อมตอบรับ พ.ร.บ. WEEE (Waste Electrical and Electronic Equipment) ที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”
อีกหนึ่งโจทย์ที่มีความท้าทายไม่ต่างกัน คือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค เกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากกระบวนการ Closed-Loop Circularity โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นสินค้ารีไซเคิลที่ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ โดยโฟกัสที่การให้ความสำคัญกับการช่วยโลกมากกว่ามองที่กำไร ซึ่ง นางสาวเสาวณีย์ เล่าว่า โฮมโปรมั่นใจว่าผู้บริโภคในยุคนี้ฉลาดเลือกอย่างมาก ประกอบกับโฮมโปรได้ใช้งบลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาชุด “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” เพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภครับรู้และเข้าใจว่า ซากเก่าที่นำมา Trade-In ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี และนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีคุณค่าอีกครั้ง พร้อมเน้นย้ำว่า “เก่าแลกใหม่ที่ไหนก็มี แต่ถ้าแลกและจัดการอย่างถูกวิธี ต้องที่ โฮมโปร เท่านั้น” เพื่อสื่อสารถึงความจริงใจในการทำโครงการฯ นี้ เป็นการทำเพื่อผู้บริโภคจริงๆ
“โฮมโปรให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างมาก โดยเราเปลี่ยนงบประมาณที่เคยใช้ในแคมเปญการตลาด มาใช้สร้างการรับรู้และความเข้าใจ เพราะเราเชื่อว่านี่เป็นการลงทุนที่ยั่งยืนในระยะยาว โดยกลุ่มเป้าหมายหลักที่เราตั้งเป้าไว้ คือ ในช่วงอายุ 28-55 ปี เน้นกลุ่ม Gen X, Baby Boomer ค่อนข้างเยอะ ในขณะเดียวกัน Gen Y จะเข้าใจหลักการของ Closed-Loop ได้ง่าย จากการสื่อสารให้เห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกับตัวเองหรือคนรุ่นหลัง”
นางสาวเสาวณีย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แม้โฮมโปรจะให้ความสำคัญกับโมเดล “แลกเก่าเพื่อโลกใหม่” แต่สิ่งที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทคือ การเรียนรู้และเข้าใจในลูกค้า เข้าใจ Pain Point หนึ่งสิ่งที่สำคัญคือเรื่องการซ่อมบำรุง เมื่อเทรนด์ในอนาคตเปลี่ยน ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบเรื่องค่าซากมากขึ้น ตอนนั้นการซ่อมจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และผู้คนจะเปลี่ยนของใหม่ช้าลง โฮมโปรจึงได้เปิดศูนย์ซ่อมมืออาชีพ (Repair Service Center) ทั่วประเทศ ขึ้นเมื่อกลางปี 2024 ที่ผ่านมา ที่มีทั้งบริการ Carry-in และ On-site โดยได้รับการตอบรับที่ดี โดยมีสินค้านำมาซ่อมประมาณ 3,000-4,000 ชิ้น/เดือน พร้อมช่วยฝึกทักษะช่างให้มีความชำนาญและมีงานทำไปในตัวด้วย
“นอกจากนี้ เรามุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยชะลอการทิ้งและการเกิดขยะให้ครอบคลุม โดยสินค้าที่ซื้อจากโฮมโปรจะมีการขาย Extended Warranty หรือขยายเวลารับประกันในราคาถูกกว่าตลาด ซึ่งเรามองว่านี่ไม่ได้เป็นการค้าเพื่อกำไร แต่เป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้ทิ้งหรือเปลี่ยนของให้ช้าลง ด้วยระยะเวลารับประกันที่นานขึ้นนั่นเอง”
ทั้งนี้ ความท้าทายในการทำเครื่องใช้ไฟฟ้าจาก Closed-Loop Circularity เริ่มมีผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างต่อเนื่อง จากการจำหน่ายสินค้าอย่างตู้เย็น, เครื่องทำน้ำอุ่น และยังมีไลน์สินค้าต่าง ๆ ที่เตรียมจัดจำหน่ายในปีหน้า เช่น เครื่องซักผ้า, ตู้เย็น, เครื่องปรับอากาศ, เครื่องปั้มน้ำ รวมถึงสินค้าที่กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา โดยใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน โดยปี 2025 นี้ โฮมโปรตั้งเป้ายอดขายสินค้ารักษ์โลก (Circular Products) กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ประมาณ 500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมียอดขายจากกลุ่มอื่นร่วมด้วย คือ กลุ่มกระเบื้อง และกลุ่ม Water Solution อาทิ เครื่องปั้มน้ำ และเครื่องทำน้ำอุ่น โดยเป้าหมายหลักโฮมโปรคือยกระดับยอดขายทั้ง 3 กลุ่มหลักนี้ ให้เป็น 20% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2030 ซึ่งเป็นมิติสำคัญสู่เป้าหมายใหญ่ Net Zero ในปี 2050 ข้างหน้าอีกด้วย
Comments