โครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่สองในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ความยั่งยืนของเป็ปซี่โค (pep+) และระบบในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มผ่านความร่วมมือกับผู้ประกอบการที่นำเสนอนวัตกรรมที่น่าสนใจในภูมิภาค
Alterno ได้สาธิตโซลูชันการกักเก็บพลังงานความร้อนต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่สนับสนุนหนึ่งในสามเรื่องสำคัญที่มุ่งเน้นในโครงการ Greenhouse Accelerator ซึ่งก็คือ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน
เมื่อเร็วๆนี้ เป็ปซี่โคประกาศผลผู้ชนะเลิศการแข่งขันในโครงการ Greenhouse Accelerator (GHAC) ปี 2567 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการส่งเสริมความยั่งยืนและนวัตกรรมที่ทันสมัย โครงการ Greenhouse Accelerator ยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ pep+ ของเป็ปซี่โค ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งบริษัทสตาร์ตอัพที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องสามารถนำเสนอโซลูชั่นที่มุ่งเน้นด้านการลดขยะ ความมั่นคงทางอาหาร และด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อทั้งผู้คนและโลก
สำหรับโครงการ Greenhouse Accelerator ในปีนี้ มีผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้งหมด 10 ราย จากประเทศต่าง ๆ ทั่ว เอเชียแปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และจีน และผู้ชนะในปีนี้ คือทีม Alterno นำเสนอโครงการเป็นแนวทางริเริ่มในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการทำความร้อนในที่อยู่อาศัย ด้วยพลังงานความร้อน ซึ่งทีมผู้ชนะได้เงินสนับสนุนจำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.5 ล้านบาท ในการต่อยอดและผลักดันเทคโนโลยีไปสู่โลกของธุรกิจ เงินรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้ Alterno พัฒนาแบตเตอรี่ทรายในการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น ได้มีการนำร่องใช้ในแผนงานอาหารของเป็ปซี่โคในเวียดนาม โดยโครงการอบอาหารแห้ง และมีแผนที่จะทดลองใช้แบตเตอรี่ทรายทำความร้อนแทนน้ำมันสำหรับทำอาหารในขั้นตอนต่อไป
นายไฮ โฮ (Hai Ho) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอ ของ Alterno กล่าวว่า รางวัลชนะเลิศโครงการ APAC Greenhouse Accelerator Program ประจำปี 2567 เป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งสำหรับเรา เราได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารของเป๊ปซี่โคในการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจของเราเติบโตตามทิศทางและเป้าหมายที่วางไว้ เราพร้อมที่จะร่วมมือกับเป๊ปซี่โคในการขยายขอบเขตของเทคโนโลยีและโซลูชันต่าง ๆ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
สำหรับประเทศไทย มีสตาร์ทอัพที่เข้ารอบจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ AllEV ซึ่งนำเสนอธุรกิจเกี่ยวกับการดัดแปลงรถบรรทุกไฟฟ้า รวมถึงการนำแบตเตอรี่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเมื่อหมดอายุการใช้งานแล้ว และ CIRAC นำเสนอโครงการจัดการซองบรรจุภัณฑ์จากขนมและกาแฟ โดยมีนวัตกรรมในการแยกชั้นอลูมิเนียม และเปลี่ยนพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำไปเผาเป็นพลังงานต่อไป
เหวิน หยวน ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ของเป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “โครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2567 ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เป็นการตอกย้ำถึงการผลักดันเบื้องหลังนวัตกรรมด้านความยั่งยืนของเป๊ปซี่โค ผ่านกลยุทธ์ pep+ ซึ่งเราภูมิใจที่ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนธุรกิจควบคู่กับความยั่งยืน ในปีนี้ เราเน้นแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันทำงานร่วมกัน และรับคำปรึกษาจากผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ รวมถึงการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาธุรกิจ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการเติบโตของธุรกิจและโซลูชันเหล่านี้ เพื่อประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป”
ในปีนี้ เป๊ปซี่โคได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายอุตสาหกรรมในการร่วมเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ นายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ นายยศกร นิรันดร์วิชย ผู้จัดการการลงทุนอาวุโสประจำประเทศไทย เซอร์คูเลท แคปปิตอล นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด นายอลัน ชอย รองประธานอาวุโส และซีเอฟโอ เป๊ปซี่โค เอเชียแปซิฟิก นายแอชลีย์ บราวน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน เอเชียแปซิฟิก และรองประธานฝ่ายซัพพลาย และนายสุดิปโต โมซุมดา กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและเวียดนาม บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด โดยพิจารณาจากระดับนวัตกรรม โอกาสในการขยายโมเดลธุรกิจ โอกาสในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในกระบวนการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจในการขับเคลื่อนความยั่งยืนของเป๊ปซี่โค
ในช่วงระยะเวลาเพียงสี่เดือน โครงการ Greenhouse Accelerator ปี 2567 ได้เปิดตัวโครงการนำร่องของสตาร์ทอัพจำนวน 7 ราย โดยมุ่งเน้นการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานแบบหมุนเวียน
ในบรรดาผู้เข้าร่วมเมื่อปีที่แล้ว TURN เป็นสตาร์ตอัปที่เข้ารอบสุดท้ายและได้ร่วมมือกับ Gatorade ในการเปิดตัวโครงการแก้วน้ำแบบใช้ซ้ำได้ โครงการนี้กำลังถูกนำไปใช้ในโครงการนำร่องกับสโมสร AFL (Australian Rules Football League) และ AFL Women’s ในออสเตรเลีย โดยมีเป้าหมายแทนที่แก้วแบบใช้ครั้งเดียวประมาณ 200,000 ใบ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของผลกระทบที่สตาร์ตอัปสามารถมีต่อความยั่งยืน Adiona เป็นสตาร์ตอัปที่นำข้อมูลแบบเรียลไทม์มาปรับปรุงการดำเนินงานด้านการขนส่ง ปัจจุบัน Adiona กำลังทำงานร่วมกับโครงการนำร่องที่วิเคราะห์ข้อมูลการจัดส่งสินค้าของเป๊ปซี่โค และนำเสนอการปรับปรุงประสิทธิภาพที่โรงงานทิงกัลปา ในออสเตรเลีย การปรับปรุงกระบวนการนี้ช่วยลดระยะทางในการขนส่ง ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์"
โครงการ Powered Carbon ซึ่งเป็นโครงการชนะเลิศในปีที่แล้ว มีความคืบหน้าในเชิงธุรกิจในหลายส่วน โดย Powered Carbon สามารถจัดหาปุ๋ยอินทรีย์คาร์บอนต่ำให้กับไร่มันฝรั่งของเป็ปซี่โค ใน กวางตุ้ง ซานตง กานซู่ ของจีน และมองโกเลีย การเข้าร่วม GHAC ทำให้ Powered Carbon สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านชื่อเสียงที่มีคนรู้จักมากขึ้น เป็นที่สนใจของนักลงทุนมากขึ้น และประสบความสำเร็จทางธุรกิจเป็นอย่างมากอีกด้วย โดยรายได้จากพลังงานคาร์บอนเพิ่มขึ้น 6 เท่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567
ปัจจุบัน สตาร์ทอัพทั้ง 11 บริษัท ที่ได้ผ่านการประกวดในปีก่อนหน้านี้ สามารถสร้างรายได้รวมกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของโครงการในการขับเคลื่อนการเติบโตและส่งมอบโซลูชันด้านความยั่งยืนให้กับโลก
تعليقات