top of page

เมื่อคนตาบอดจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบอยู่ในห้องมืดซึ่งปราศจากแสง :ทั้งแสงแห่งโอกาสและแสงไฟฟ้า

การใช้ชีวิตและการสนทนากับคนตาบอด แบบเข้าใจ!!!

ปัญหาที่แท้จริงของคนตาบอด มิใช่การมองไม่เห็น ปัญหาที่แท้จริงก็คือความเข้าใจที่ผิดพลาดและการขาดข้อมูลที่ถูกต้อง หากคนตาบอดได้รับการศึกษาฝึกอบรมอย่างถูกต้อง และได้รับโอกาสที่เท่าเทียมบุคคลทั่วไปแล้ว การตาบอดก็เป็นเพียงความไม่สะดวก หรือความน่ารำคาญทางกายภาพเท่านั้น (คำกล่าวของ dr.kenneth jernigan ปราชญ์ตาบอดแห่งศตวรรษที่ 20) ความเข้าใจที่ผิดพลาด การขาดโอกาสนี้เองจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับความด้อยโอกาส ความไม่รู้ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อพื้นฐานแบบเวทนานิยม เป็นปราการขัดขวางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนตาบอดและคนพิการทั้งหลาย ข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตคนตาบอด - คนตาบอดสามารถเดินทางไปไหนมาไหนเองได้หรือเปล่า โดยหลักการแล้วได้ แต่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ทักษะในการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการคลื่อนไหว เทคนิคในการใช้ไม้เท้าขาว หรืออุปกรณ์ช่วยในการเดินทางชนิดอื่นๆ นอกจากนี้ยังขึ้นกับสภาพสิ่งแวดล้อม เจตคติของผู้คนรอบข้าง ความคาดหวังของผู้อื่นหรือตนเอง ที่มีต่อความสามารถของคนตาบอดแต่ละคน - คนตาบอดอ่านหนังสือได้อย่างไร โดยทั่วไปแล้วคนตาลอดที่พิการมาตั้งแต่ยังเล็กจะได้รับการสอนให้ใช้อักษรเบรลล์เป็นสื่อในการอ่าน/เขียนหนังสือ นอกจากนี้ก็อาจเรียนรู้ผ่านสื่ออื่นๆ เช่น เสียงสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือคอมพิวเตอร์ อักษรขยายใหญ่สำหรับคนที่เห็นเลือนราง - คนตาบอดทำงานอะไรได้บ้าง แทบจะไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป อาจมีอยู่บ้างขึ้นอยู่กับงาน เท่าที่ปรากฏมีคนตาบอดทำงานหลากหลายสาขา เช่น เป็นนักวิชาการ เกษตรกร นักการฑูต ฯลฯ แต่ที่ยังไม่ปรากฏในขณะนี้คือ อาชีพคนขับรถ ซึ่งต่อไปหากเทคโนโลยีมีความพร้อมยิ่งขึ้น เราก็อาจพบคนตาบอดขับรถได้ ส่วนการแล่นเรือในมหาสมุทรนั้น มีคนตาบอดพิสูจน์ให้เห็นฝีมือมาแล้วหลายคน - คนตาบอดแต่งงานมีครอบครัวได้หรือไม่ ได้แน่นอน และมีตัวอย่างของคู่สามีภรรยาตาบอดที่ประสบความสำเร็จให้เห็นอยู่ไม่น้อย - คนตาบอดหูดี เล่นดนตรีเก่ง ร้องเพลงเก่งนั้นจริงหรือไม่? ไม่น่าจะแตกต่างจากบุคคลทั่วไป - อะไรน่าจะเป็นปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่สุดของคนตาบอด? ความเท่าเทียมในด้านสิทธิและโอกาสเมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลทั่วไป การใช้ชีวิตร่วมกับคนตาบอด - กรุณาปฏิบัติต่อคนตาบอดให้เหมือนกับบุคคลทั่วไป ถึงแม้ว่าเขาจะมองไม่เห็น ซึ่งเป็นแต่แค่เพียงความพิการทางร่างกายเท่านั้น แต่ส่วนลึกแล้วคนตาบอดเองก็มีความรุ้สึกนึกคิด ยังมีความ สนใจอยากรู้ อยากเห็นและอยากแสดงความคิดเห็นเหมือนกับบุคคลอื่นๆ - กรุณาอย่าสงสารหรือแสดงความเห็นอกเห็นใจ ในความตาบอดจนเกินกว่าเหตุ - การเป็นแขกรับเชิญของคนตาบอด ไม่เป็นการผิดประการใด เพราะคนตาบอดจำนวนมากก็ยังมีโอกาสได้ดูแลและบริการท่านเช่นเดียวกับที่ท่านมีน้ำใจต่อเขา เพื่อแสดงถึงการขอบคุณ ดังนั้นถ้าไม่มีเหตุขัดข้องจนสุดวิสัยโปรดอย่าเกรงใจ ให้โอกาสแก่เขาบ้าง - กรุณาอย่าแปลกใจถ้าคนตาบอดจะถามหาสวิทซ์ไฟฟ้าในบ้านหรือที่ทำงาน เพราะหากคนตาบอดจะช่วยเปิดปิดไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างแก่ผู้อื่นแล้ว ยังมีคนตาบอดจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบอยู่ในห้องมืดซึ่งปราศจากแสง - บานประตูในบ้านหรือที่ทำงานที่มีคนตาบอดอยู่ กรุณาอย่าเปิดค้างไว้ ขอให้ปิดหรือเปิดกว้าง จนบานประตูแนบชิดฝาผนัง เพื่อคนตาบอดจะได้ไม่ต้องเดินชน - เมื่อท่านพบคนตาบอดกำลังจะข้ามถนนหรือรอรถประจำทาง ขอความกรุณาท่านเสนอให้ความช่วยเหลือด้วย จักเป็นพระคุณยิ่ง แม้ว่าในบางครั้งท่านจะพบคนตาบอดที่ปฏิเสธรับการช่วยเหลือจากท่านก็ตาม การสนทนากับคนตาบอด - กรุณาพูดกับคนตาบอดโดยตรง ไม่จำเป็นต้องพูดเสียงดังเกินกว่าปกติ หรือพูดผ่านล่ามซึ่งเป็นเพื่อนหรือผู้นำทางของคนตาบอด - ระหว่างการสนทนา หากจำเป็นที่จะต้องพูดคำที่เกี่ยวกับ ตาบอดหรือมองเห็น ฯลฯ ควรพูดตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจและไม่ควรหลีกเลี่ยงไปใช้คำอื่นแทน - เมื่อท่านเข้าไปในห้องที่มีคนตาบอดอยู่ด้วย กรุณาพูดทักทาย หรือให้เสียงเพื่อจะได้ทราบว่ามีคนเข้ามา ไม่ควรจะเสียเวลากับคำถามที่ว่า ทายซิว่าใคร ควรบอกชื่อของท่านไปเลย กรณีมีบุคคลเพิ่มขึ้นหรือบุคคลที่ 3 ควรบอกให้คนตาบอดทราบด้วย - ในการทักทายเพื่อนคนตาบอด กรุณาสัมผัสมือไม่ว่าจะเป็นการพบกันหรือการอำลา สำหรับคนตาบอดการจับมือแสดงถึงความยิ้มแย้มแจ่มใสและความเป็นมิตร - ในที่ประชุมที่ใช้เครื่องขยายเสียง กรุณาบอกให้คนตาบอดทราบว่าผู้พูดอยู่ตรงไหน เพื่อเขาจะได้หันหน้าไปทางผู้พูดได้ถูกต้อง แทนที่จะหันไปตามเสียงที่มาจากลำโพง ซึ่งอาจจะทำให้คนตาบอดพูดกับลำโพงได้ - หลังจากการสนทนา เมื่อท่านจะไปจากที่นั่นควรบอกให้คนตาบอดทราบด้วย มิฉะนั้น คนตาบอดจะรู้สึกเก้อเขินที่ต้องพูดอยู่คนเดียว - ไม่ควรใช้ภาษา หรือคำพูดว่า “อยู่นี่” “อยู่โน่น” หรือ “อยู่นั้น” ซึ่งทำให้คนตาบอดไม่เข้าใจ ควรระบุหรือบอกตำแหน่งให้ชัดเจน การรับประทานอาหารกับคนตาบอด - การรับประทานอาหารร่วมกับคนตาบอดควรบอกให้ทราบว่าอาหารชนิดใดอยู่ ณ จุดใด (ตามเข็มนาฬิกา) หรือหลังจากที่ตักอาหารใส่จานแล้ว ไม่ควรเฝ้าดูคนตาบอดทุกอากัปกริยา หรือพยายามตักอาหารใส่ช้อนให้ ควรปล่อยให้คนตาบอดช่วยเหลือตนเองได้ - การรินน้ำให้คนตาบอดไม่ควรรินจนล้นแก้ว ควรรินแต่พอประมาณ อาจจะพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวต่อคนตาบอดได้สำหรับอาสาสมัครและผู้ที่สนใจ แม้จะเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สำคัญ เพราะเมื่อไม่สามารถมองเห็นด้วยตา...แต่ก็รับรู้ได้ด้วยใจ

ที่มา : ศูนย์บริการคนพิการ

มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

คู่มืออาสาสมัคร ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนตาบอด สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

บทความ : การใช้ชีวิตและการสนทนากับคนตาบอด

เขียนโดย monthakanหมวด: บทความเผยแพร่เมื่อ: 01 กรกฎาคม 2560

Comentarios


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page