· สิงคโปร์คือเมืองจากเอเชียที่ทำอันดับโลกสูงสุดในการจัดอันดับความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัว (Resilience) ในภาพรวม โดยรั้งอันดับ 4 จาก 25 เมืองใหญ่ทั่วโลก
· เมืองที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นเมืองที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำถึงระดับสูงในเอเชียแปซิฟิก เช่น กรุงเทพฯ ธากา และจาการ์ตา
· ธากา จาการ์ตา และนิวเดลี เกาะกลุ่มเมืองที่มีการเตรียมความพร้อมน้อยที่สุด เมื่อพิจารณาจากความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัว
· เมืองใหญ่อันอุดมไปด้วยเงินทุนมหาศาล ได้แก่ ดูไบ สิงคโปร์ และเซี่ยงไฮ้ เป็นผู้นำด้านการวางโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ
· การสร้างเมืองที่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ตลอดจนชาวเมืองทุกคน โดยทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิดความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวแบบองค์รวมทั้งในระดับชุมชนและระดับเมือง การวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นของการลงทุนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาเรื้อรังที่กระทบต่อความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของเมือง
โตเกียวมารีน กรุ๊ป (Tokio Marine Group) และอีโคโนมิสต์ อิมแพค (Economist Impact) เผยแพร่ดัชนีเมืองยืดหยุ่น (Resilient Cities Index) ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เด่นชัดที่สุดที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต้องเผชิญ สำหรับดัชนีดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยอีโคโนมิสต์ อิมแพค และได้รับการสนับสนุนจากโตเกียวมารีน กรุ๊ป โดยเป็นการวิเคราะห์ความสามารถของเมืองใหญ่ 25 แห่งทั่วโลกในการหลีกเลี่ยง ต้านทาน และฟื้นตัวจากเหตุสุดวิสัยระดับต่าง ๆ รวมถึงภาวะตึงเครียดระยะยาว
จากการศึกษาพบว่า ภายในปี 2593 ประชากรโลกจำนวนกว่า 2 ใน 3 จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การที่เมืองขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นความเสี่ยงที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน ในขณะที่เมืองต่าง ๆ กำลังเผชิญภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่คืบคลานสู่ใจกลางเมือง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยวัดความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวของสังคมและเมืองใหญ่ รวมถึงระบุช่องว่างและความท้าทายต่าง ๆ ตลอดจนให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโอกาสและแนวทางสู่อนาคต
ดัชนีระบุว่า เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่า เนื่องด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ การเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง และสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซ้ำร้ายกว่านั้น ประเทศกำลังพัฒนามักมีโครงสร้างพื้นฐานที่อ่อนแอ และประชากรจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม เมืองใหญ่ในเอเชียมีการจัดการภัยพิบัติในระดับดีเมื่อเทียบกับเมืองในภูมิภาคอื่น ๆ โดยฮ่องกง นิวเดลี เซี่ยงไฮ้ สิงคโปร์ และโตเกียว ทำคะแนนสูงในด้านการปลูกฝังวัฒนธรรมแห่งการเตรียมความพร้อม ซึ่งรายงานยังพบด้วยว่า วัฒนธรรมแห่งการเตรียมความพร้อมมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในด้านความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ
นอกจากนี้ บางเมืองใหญ่ในเอเชียยังทำคะแนนได้ดีในหัวข้อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ แม้จะยังคงมีจุดอ่อนบางอย่างที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ โดยเมืองที่มีคะแนนสูงสุดคือ ดูไบ เซี่ยงไฮ้ และสิงคโปร์ เมืองที่อุดมไปด้วยเงินทุนเหล่านี้มีโอกาสในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่มากกว่าเมืองใหญ่ในยุโรปที่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุยาวนานหลายสิบปีหรือหลายร้อยปี แต่ในหัวข้อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญนั้น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งถือเป็นตัวฉุดรั้งความยืดหยุ่นของหลาย ๆ เมือง
อย่างไรก็ตาม เมืองใหญ่ในเอเชียขาดความยืดหยุ่นในหัวข้อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีการจัดอันดับความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวในส่วนของอุทกภัย ภาวะตึงเครียดจากความร้อน มลพิษทางอากาศ และการลดการปล่อยคาร์บอน โดยกรุงเทพฯ ธากา และจาการ์ตา จัดว่ามีความพร้อมต่ำในการรับมืออุทกภัย ขณะที่นิวเดลีและจาการ์ตาเผชิญความเสี่ยงด้านอากาศร้อนมากเป็นพิเศษ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่เมืองเหล่านี้ต้องเผชิญ ท่ามกลางสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้นอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม็กซ์ ฮิราอิ (Max Hirai) ซีอีโอของโตเกียวมารีน เอเชีย (Tokio Marine Asia) กล่าวว่า "ดัชนีเมืองยืดหยุ่นแสดงให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเสี่ยงทั้งที่มีอยู่ในเวลานี้และความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เมืองส่วนใหญ่และผู้อยู่อาศัยในเมืองนั้นต้องเผชิญ ปัจจุบัน สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วตั้งแต่พายุไต้ฝุ่น ไฟป่า น้ำท่วม ไปจนถึงคลื่นความร้อน ต่างเกิดบ่อยครั้งมากขึ้นและส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นด้วย โตเกียวมารีน กรุ๊ป ตระหนักดีว่าการบรรเทาภัยพิบัติเป็นประเด็นทางสังคมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจึงพยายามสร้างธุรกิจที่สามารถป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างครบวงจร
เราได้เห็นด้วยตัวเองแล้วว่า การประกันภัยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ และการรุกขยายตลาดการประกันภัยทำให้เราสามารถช่วยให้ธุรกิจและชุมชนต่าง ๆ กลับมายืนหยัดด้วยตนเองได้อีกครั้ง อีกทั้งยังมีหนทางและความพร้อมที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น"
ปัฟโลส สปายโรปูโลส (Pavlos Spyropoulos) กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของโตเกียวมารีน คิล์น (Tokio Marine Kiln) กล่าวเสริมว่า "ในการรับมือกับความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเมืองต่าง ๆ ในเอเชียกำลังเผชิญอยู่นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัว
บริษัทประกันภัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางนั้น มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะช่วยระบุและเตรียมแนวทางบรรเทาความเสี่ยงที่ซับซ้อน เช่น สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วยประกันภัยไซเบอร์ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ความคุ้มครองและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เป็นต้น"
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการจัดตั้งธุรกิจโตเกียวมารีน รีซิเลียนซ์ (Tokio Marine Resilience) เพื่อส่งเสริมการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติแบบครบวงจร ผ่านการวางแผน การพัฒนา และการส่งมอบบริการใหม่ ๆ โดยธุรกิจนี้จะส่งเสริมให้โตเกียวมารีน กรุ๊ป มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการฟื้นตัวจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
Comments