ต่างประเทศ
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 12.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ ทำเนียบนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี (Palazzo Chigi) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และหารือทวิภาคีกับนางจอร์จา เมโลนี (Madame President Ms. Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ในโอกาสการเยือนสาธารณรัฐอิตาลีอย่างเป็นทางการ
มีสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอิตาลีต่างแสดงความยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณรัฐบาลอิตาลีที่ให้การต้อนรับและดูแลบุคคลสำคัญของไทยในการเยือนอิตาลี พร้อมแสดงความยินดีกับอิตาลีที่ได้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ปี 2567 และเชื่อมั่นว่าอิตาลีจะประสบความสำเร็จในการจัดการประชุม G7 Summit ในเดือนมิถุนายนนี้โอกาสนี้
ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
“การค้าและการลงทุน” นายกรัฐมนตรียินดีต่อความสำเร็จของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ ในการร่วมกันจัดงาน Thailand – Italian Business Forum เมื่อวานนี้ โดยไทยต้องการให้อิตาลี ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือได้ มาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Landbridge และร่วมลงทุนในด้านพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นว่า การจัดงานดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น“แฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์” นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้อิตาลีเข้ามาลงทุนในไทยด้านแฟชั่นและซอฟต์พาวเวอร์ การเกษตร การบิน และการเงิน พร้อมขอให้อิตาลีพิจารณาสนับสนุนสินค้าแฟชั่นของไทย โดยเฉพาะผ้าไหมไทย เพื่อขยายธุรกิจในวงการแฟชั่นเฮาส์และสถาบันการศึกษาของอิตาลี ผ่านการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันและความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบของอิตาลี
“อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ” ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศมายาวนาน โดยมีการร่วมฝึก Cobra Gold และการจัดทำความตกลงด้านการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณอิตาลีที่เข้าร่วมนิทรรศการ Defense & Security ที่กรุงเทพฯ และหวังว่าไทยกับอิตาลีจะยังคงความร่วมมือระหว่างกันในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยไทยต้องการสร้างความร่วมมือกับอิตาลีผ่านกลยุทธ์การจัดซื้อและการพัฒนา และต้องการผลักดันไทยให้เป็นฐานการผลิตระดับภูมิภาค หรือศูนย์บำรุงรักษาขั้นสูง
“แรงงาน” นายกรัฐมนตรีขอบคุณอิตาลีที่เสนอความร่วมมือในการบรรจุไทยในกฤษฎีกา (Flows Decree) ของอิตาลี โดยไทยได้แสดงความตั้งใจเป็นลายลักษณ์อักษรตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 พร้อมขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีในประเด็นดังกล่าว ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอิตาลี ยังกล่าวถึงความสนใจที่อิตาลีมีต่อแรงงานในอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ซึ่งนับว่าเป็นกลุ่มรายงานที่มีคุณภาพโดยขอชวนให้ไทยมองเห็นอิตาลีเป็นอีกทางเลือกในสถานที่ทำงาน
“การยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกน” นายกรัฐมนตรีขอรับการสนับสนุนจากอิตาลีในการผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาของไทย โดยนักท่องเที่ยวไทยเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีการใช้จ่ายในอิตาลีสูง มีการยื่นขอวีซ่าเข้าอิตาลีประมาณ 100,000 คนต่อปี หากสามารถผลักดันการยกเว้นการตรวจลงตราเข้าเขตเชงเกนได้สำเร็จ จะสนับสนุนการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจากไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้อิตาลีสนับสนุนไทยในการบรรลุการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย - สหภาพยุโรป ให้สามารถสรุปภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนการค้าและการบริการระหว่างกัน พร้อมขอบคุณอิตาลีที่สนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิก OECD ของไทย ซึ่งการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยจะมีส่วนช่วยกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และอำนวยความสะดวกในการเจรจา FTA ไทย - สหภาพยุโรปที่กำลังดำเนินอยู่ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีอิตาลีเสนอให้มี Action Plan เพื่อความร่วมมือในสาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ Defence และ best practices ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น การเกษตร นวัตกรรมการเกษตร การออกแบบ เพิ่มคุณค่าสินค้าให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จัก รวมทั้ง ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญนายกรัฐมนตรีอิตาลีเดินทางเยือนไทย ซึ่งคาดการณ์กันว่าจะเป็นในช่วงปี 2568 โดยระหว่างการเยือนเสนอให้มี Business Forum เสนอให้ฝ่ายอิตาลีนำนักธุรกิจเยือนไทยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายกรัฐมนตรีอิตาลีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน (Working Lunch) แก่นายกรัฐมนตรี
ต่อมา เวลา 11.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงโรม ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 5 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Six Senses นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพบหารือกับภาคเอกชนอิตาลีเมื่อวาน (20 พฤษภาคม 2567) อีก 2 บริษัท ได้แก่
บริษัท Barilla เป็นบริษัทผู้ผลิตพาสต้ารายใหญ่ที่สุดในอิตาลี ต้องการขยายการลงทุนที่ประเทศไทย โดยนายกฯ มองว่าแทนที่จะขายแค่เส้นพาสต้า ควรพิจารณาเรื่องอาหารสำเร็จรูป โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าไทยเป็นตลาดที่ดี มีนโยบายสนับสนุน อยากให้เป็นฐานการผลิตและส่งไปขายในอาเซียน
โดยนายกรัฐมนตรี เสนอให้บริษัทฯ มาตั้งโรงงานที่ไทย และพิจารณาเรื่องของอาหารฮาลาล ซึ่งบริษัทให้ความสนใจ โดยมีตลาดใหญ่ที่แอฟริกาและตะวันออกกลางที่สามารถรองรับตลาดได้ ซึ่งบริษัทรับไปพิจารณา และต้องหาพาร์ตเนอร์ให้เขา นายกรัฐมนตรีได้พูดคุย เร่ง การลงทุน จะได้มีการซื้อวัตถุดิบของไทย รวมถึงส่วนผสมต่าง ๆ ที่สำคัญในการอาหารสำเร็จรูป แล้วส่งไปขายได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีอยากให้บริษัทมาตั้ง Regional Office ในไทยด้วย
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีได้พบกับบริษัท Eni ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง มีการทำการค้าขายอยู่กับ ปตท. สผ. อยู่แล้ว มีการติดต่อซื้อขายซื้อก๊าซ โดยเป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการขุดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ และบริษัทสนใจมีส่วนร่วมในการพัฒนา เจาะก๊าซธรรมชาติขึ้นมา หากไทยสามารถแก้ปัญหาทางด้าน OCA ได้ ทางบริษัททำงานใกล้ชิดกับ ปตท. สภ. อยู่แล้ว นายกรัฐมนตรีอยากให้บริษัทมาตั้ง office ที่ไทยด้วย เป็นนิมิตรหมายที่ดี นอกจากนี้ บริษัทสนใจทำ Biofuels เร่งเห็นประโยชน์จากเมล็ดยางพารา ซึ่งเป็น by-product ไม่ได้นำมาใช้อะไรอยู่แล้ว สามารนำมาทำเป็นส่วนผสมของน้ำมันเครื่องบินได้ โดยบริษัทสนใจมาตั้งโรงงาน อยู่ในช่วงทำ research อยู่ ถ้าคุ้มและเหมาะสมก็จะมาตั้งโรงงาน
สำหรับภารกิจในเมื่อช่วงเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมชมห้องจัดแสดงเครื่องประดับบริษัท Bvlgari ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการฝึกอบรมในบัลแกเรีย 2 ปี ระหว่างปี 2553-2554 นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับงานฝีมือ craftsmanship อยากให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ที่มีความชำนาญ อยากให้คนไทยเข้ามามีส่วนร่วมในการอบรมหรือทำงานที่นี้บ้าง เพราะไทยเองก็มีอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ที่มีชื่อเสียง และบริษัทก็มีการซื้อพลอยจากไทย มี supplier ที่เป็นคนไทย เป็นเรื่องสำคัญ ปีนี้เป็นปีครบรอบ 140 ของบริษัทพอดี ซึ่งจะมีโชว์ยิ่งใหญ่ และทราบว่ามีคนไทยได้รับเชิญไปเยอะเหมือนกัน
สิ่งที่ได้กลับไปจากการพบหารือภาคเอกชนในครั้งนี้ คือ การแลกเปลี่ยนการลงทุนข้ามชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ อิตาลีมีความชำนาญในการออกแบบ การดีไซน์ แฟชั่น ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงเครื่องเพชร ซึ่งไทยอยากที่จะมีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ ในส่วนของ creative industry ของไทยมีความสำคัญ ราคา Bvlgari เครื่องประดับชิ้นเดียวราคา 40,000,000 ยูโร ประมาน 1600 ล้านบาทเพียงแค่ชิ้นเดียว มีมูลค่าสูงมาก ที่เข้าไปดูมาตั้งแต่วิธีการเลือกเพชร วิธีการเจียระไน วิธีการทำ Setting นายกรัฐมนตรีเชื่อว่า เราสามารถเรียนรู้ได้เยอะมาก และภาคอุตสาหกรรมของเราก็จะยกระดับ เรื่องการค้าขายข้ามชาติ ไม่วาจะเป็น defense industry หรือ Automotive industry ที่ได้เจอไปเมื่อวาน ได้ประโยชน์เยอะมาก
ในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และพบหารือกับหารือแบบ four eyes กับนางจอร์จา เมโลนี (Madame President Ms. Giorgia Meloni) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอิตาลี ซึ่งจะได้พูดคุยกันในเรื่องกลาโหม อาหาร พลังงาน การออกแบบและดีไซน์ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีอิตาลีจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่คณะ
Comments