top of page

เสนอสร้าง Care Economy คู่ รัฐสวัสดิการ ลดภาระ ‘ผู้หญิง’ ในวิกฤต ‘สังคมสูงวัย’ ]


.

สิ่งที่ผู้หญิงหรือแรงงานหญิงต้องเผชิญ ไม่ได้มีเพียงเรื่องของเศรษฐกิจอย่างค่าครองชีพที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาสำคัญเรื่องครอบครัวด้วย โดยเฉพาะภาวะที่สังคมไทยกำลังมีผู้สูงวัยมากขึ้น จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้ดูแลส่วนใหญ่คือลูกสาว ซึ่งหลายกรณียังทำงานอยู่ และหลายกรณีจำเป็นต้องลาออกจากงาน

.

ประเทศไทยกำลังเจอสถานการณ์ที่จำนวนการเกิดของเด็กน้อยลงเรื่อยๆ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาระในการดูแลเช่นกัน เดิมภาระของผู้หญิง เราอาจพูดถึงแค่เด็ก แต่ต่อไปจะมีผู้สูงวัยด้วย ทั้งสองภาระนี้กลายเป็นคำถามสำคัญว่าจะช่วยผู้หญิงที่เผชิญสถานการณ์นี้อย่างไร?

.


เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center - ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต พรรคก้าวไกล กล่าว ในเสวนาออนไลน์ ‘พ่อแก่ แม่ป่วย ลูกเล็ก มองขาดปัญหาฉุดรั้งความก้าวหน้าทางการงานของสตรี’ เนื่องในวันสตรีสากล ว่า รายได้ระหว่างชายและหญิงมีความแตกต่างกันมากถึงร้อยละ 12-50 นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลที่สะท้อนการออกจากงานของผู้หญิงที่มากกว่าผู้ชาย ในช่วงวัยทำงานไปจนถึงวัย 60 ปี ผู้ชายที่ยังทำงานลดลงไปครึ่งหนึ่ง ส่วนผู้หญิงหายไปถึง 2 ใน 3 สอดคล้องกับข้อมูลที่ว่าผู้หญิงต้องลาออกไปทำงานบ้านในสัดส่วนที่มากขึ้น (รับชมไลฟ์การเสวนาออนไลน์ ที่นี่ https://youtu.be/hiEfCPCjX10)

.

“ถามว่าทำไมภาระต้องตกอยู่ที่ผู้หญิง ในมุมของนายจ้างอาจมองที่ประสิทธิภาพหรือบางช่วงเวลาที่การทำงานจะลดลงเช่นเมื่อตั้งครรภ์ โอกาสในการทำงานก็จะหายไป และก็ย้อนกลับไปเป็นคำตอบที่ว่าทำไมค่าจ้างแรงงานจึงต่างกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งคือ เราทิ้งภาระการดูแลครอบครัวไว้ให้ผู้หญิง แล้วแถมการลงโทษในทางเศรษฐกิจด้วยค่าจ้างแรงงานและโอกาสที่ไม่เท่ากัน” เดชรัต กล่าว

.

เราต้องสูญเสียแรงงานผู้หญิงที่มีฝีมือออกจากระบบเพื่อไปดูแลครอบครัว เพราะเราไม่มีระบบดูแลที่ดีพอที่ให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้ หรือปล่อยให้เป็นความกังวลของธุรกิจเพราะไม่มีระบบที่ดูแล ปัญหานี้ยังไปเกี่ยวพันโดยตรงกับอัตราการเกิดที่ลดลง เพราะภาระในการดูแลทำให้มีความยากลำบากมากขึ้น ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ความมั่นคงในการทำงานน้อยลง ทำให้เกิดวิกฤตประชากรขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มากขึ้น เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่อื่น สัมพันธภาพในครอบครัวที่ลดลงก็จะกระทบต่อคุณภาพประชากรในระยะยาว สิ่งที่ฉายภาพ ผลกระทบอาจไม่ได้ตกที่รุ่นเรา แต่เป็นสาเหตุใหญ่ที่จะสร้างผลกระทบอย่างมากในอนาคตต่อไป

.

ปัญหาในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มาก่อน ตั้งแต่ราว 100 ปีที่แล้ว หรือก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย ในตอนนั้นวิกฤตประชากรถูกมองว่าเป็นเรื่องน่ากังวลไม่แพ้สงคราม นำไปสู่ข้อเสนอที่ว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมี ‘นโยบายที่ก้าวหน้า’ และมองว่าต้องเป็นพันธกิจของรัฐ รัฐมีหน้าที่ในการพัฒนาความมั่นคงของประชากร มาตรการที่เรียกว่า รัฐสวัสดิการจึงเกิดขึ้นมามากมายหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลี้ยงดูบุตร ระบบการพัฒนาเด็กเล็กหรือบ้านพักสำหรับครอบครัว รวมถึงระบบบำนาญสำหรับผู้สูงอายุด้วย

.

*** เปิดนโยบาย TFC เพื่อทางออก

.

เดชรัต กล่าวว่า ทางออกในเรื่องนี้หลายคนบอกว่าต้องทำเรื่องสวัสดิการ แต่ตนมองว่า สิ่งที่ต้องทำพร้อมกันด้วย คือสร้างสิ่งที่เรียกว่า Care Economy หรือเศรษฐกิจของการดูแลซึ่งกันและกันขึ้น ตอนนี้อาจมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่มีค่าใช้จ่ายสูงและคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถมีค่าใช้จ่ายได้ ทำอย่างไรจะทำให้มีระบบสวัสดิการและระบบที่ทุกคนดูแลซึ่งกันและกัน และทุกคนเข้าถึงได้เพื่อลดภาระและความไม่เท่าเทียมกันที่กดทับบนบ่าของผู้หญิงในการทำงาน

.

1. ขยายวันลาคลอดโดยได้รับค่าตอบแทน ให้ครอบคลุมอย่างน้อยที่สุด 180 วัน ความจริงตัวเลขนี้ก็อาจยังไม่ใช่ตัวเลขที่เหมาะที่สุดหรือดีที่สุด หลายประเทศอาจยาวกว่านี้ แต่ด้วยความสมดุลในการผลักดันวาระนี้ในสังคมไทย คิดว่าตัวเลขนี้น่าจะพอรับกันได้ เป็นหลักการขั้นต่ำ และควรให้ผู้ชายที่เป็นบิดาสามารถลาคลอดเพื่อช่วยในการดูแลบุตรด้วย ซึ่ง 15 วัน ที่กำหนดเดิม คนกำหนดไว้เพียงนี้ไม่รู้ว่าเคยเลี้ยงลูกเองหรือไม่ เพราะในความจริงคนเป็นแม่ยังต้องเหนื่อยไปอีกนาน ดังนั้น การกำหนดให้ยาวขึ้นจะเป็นการลดภาระของผู้หญิงในการเลี้ยงดูบุตรแรกคลอดได้เป็นอย่างดี อย่างกรณีของเดนมาร์ก ให้เวลาบิดายาวถึง 1 ปี และสามารถเก็บไว้ใช้ในช่วงเวลาต่อไปจนถึงลูกอายุ 12 ปี

.

2.พัฒนาสวัสดิการพื้นที่ ศูนย์หรือสถานรับดูแลเด็กแบบ Day Care ทั้งภายในสถานที่ทำงาน และใกล้เคียง สำหรับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป (หรือหลังกำหนดลาคลอด) ต้องวางระบบดูแลให้ต่อกันไปได้จนเข้าสู่ระดับปฐมวัยหรือเตรียมอนุบาล เพื่อลดภาระการดูแลในช่วงเวลางาน สำหรับผู้หญิงที่ยังอยู่ในตลาดแรงงาน เพราะตอนนี้ยังมีช่องวางอยู่ และสำคัญมากหากปิดช่องว่างนี้ไม่ได้

.

3.พัฒนาระบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 22 ปี ในอัตราอย่างน้อยเดือนละ 1,200 บาท (สำหรับ 0-6 ปี) และ 800 บาท/เดือน (สำหรับ 7-22 ปี) เพื่อช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในการดูแลบุตรหลานลง

.

“เพราะปัญหานี้จะไปสะท้อนต่อในระบบการศึกษา ซึ่งเรามักจะพบการตกหล่นมากในช่วง ม.ต้น และ ม.ปลาย การตกหล่นเกิดมากในกล่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด ร้อยละ 20 แรกของประเทศ จึงควรมีมีสวัสดิการถ้วนหน้าในเรื่องนี้เพื่อเป็นตัวช่วยให้ดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้มากขึ้น”

.

4. พัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันเงิน 600 บาทต่อเดือนไม่ได้ขึ้นให้ผู้สูงอายุมาแล้ว 10 ปี จึงควรเพิ่มให้สูงกว่าเส้นความยากจนคือ 2,700 บาทขึ้นไป หรือที่พูดถึงกันมากในเวลานี้คือ 3,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้สูงวัยที่ป่วยติดบ้าน ติดเตียงเพียงเท่านี้ก็อาจไม่พอ ตัวเลขจึงต้องแตกต่างกันไปตามระบบการดูแล TFC เคยประเมินไว้น่าจะอยู่ที่ 9,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยมีผู้ดูแลที่มีคุณภาพ และลดภาระของผู้หญิงในวัยแรงงานที่ต้องดูแลพ่อแม่

.

5.พัฒนาระบบและเส้นทางอาชีพของผู้ให้การดูแล หรือ care-givers อย่างเป็นระบบ จะทำให้เกิดทั้งการจ้างงานและเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งในฝั่งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ทำให้มีอาชีพที่มั่นคง ตอบโจทย์ของตัวเองได้ และจะทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศอีก 300,000 อัตราเป็นอย่างน้อย ซึ่งเป็นการจ้างงานที่ไม่อาจใช้เครื่องจักรหรือปัญญาประดิษฐ์ทดแทนได้โดยง่าย

.

6.ต้องตอบโจทย์ความมั่นคงในชีวิตโดยหนุนบทบาทของผู้หญิงที่เลือกดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยตนเอง เพื่อให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ด้วยการได้รับเงินผ่านทางระบบสวัสดิการถ้วนหน้าที่แบบเดียวกันและเท่ากันกับ care-givers ซึ่งเพราะการให้คนในครอบครัวดูแลกันและกันก็จะมีความสุข ดีกว่าไม่มีรายได้ หรืออาจรับดูแลผู้สูงอายุใกล้บ้านแบบไม่เต็มเวลา ก็จะทำให้เกิด Care-giving Economy พัฒนาทั้งระบบทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ

Commentaires


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page