top of page

เสี่ยหนู!“อนุทิน” โชว์วิชั่นงาน World Economic Forum ชูจุดแข็งอาเซียน โดดเด่นน่าลงทุน

ยกไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ การคมนาคมระดับภูมิภาค ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการเสวนาในฐานะผู้เสวนาหลัก (Lead Speaker) ภายใต้หัวข้อการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Traveling Again, Differently) และหัวข้อพันธสัญญาสีเขียวของอาเซียน (ASEAN’s Green Promise)


เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2566 บรรยากาศการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส-คลอสเตอร์ สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมในฐานะตัวแทนประเทศไทย ในการประชุมหัวข้อ “แรงดึงดูดของอาเซียน”


นายอนุทิน ได้กล่าวถึงจุดแข็งของอาซียน และประเทศไทย ในด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน ซึ่งนายอนุทินได้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันอาเซียน สู่เวทีโลก มีผู้บริหารจากองค์กรนานาชาติ เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก อาทิ เมอริท แจนาว ประธานบริษัท มาสเตอร์การ์ด, ลูฮุท บี ปานใจตัน รัฐมนตรีจากกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน ของอินโดนีเซีย, จิดีออน ราชแมน บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ เดอะไฟแนนเชียล ไทมส์ และเทเรสิตา ไซโคซอน รองประธานบริษัท เอสเอ็ม อินเวสท์เมนท์ คอร์ปอเรชัน จากฟิลิปปินส์


รองนายกรัฐมนตรีของไทย ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องของอาเซียน ถึงความสามารถในการปรับตัวของอาเซียน ต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะเผชิญกับวิกฤตความขัดแย้ง และวิกฤตโรคระบาด ก็สามารถรับมือได้อย่างน่าชื่นชม ผ่านการให้ความร่วมมือระหว่างกัน เป็นอย่างดี อาทิ ด้านการสาธารณสุข ที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการของศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการรับมือกับความท้าทายทางสาธารณสุขของภูมิภาคในอนาคต


ในส่วนของศักยภาพเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียน รองนายกฯ อนุทิน ขอให้จับตาดูโครงการแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเสริมศักยภาพในภูมิภาคอาเซียนในการเป็นศูนย์กลางการขนส่ง โดยโครงการแลนด์บริดจ์ สามารถช่วยประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณที่ใช้ในการขนส่งสินค้าข้ามสองฟากฝั่งมหาสมุทรระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ที่จะเป็นโอกาสกับไทย และกับทั้งภูมิภาค

“ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ ซึ่งดึงดูดการลงทุนมหาศาลในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และไทยจะเป็นประเทศปลายทางสำหรับประชากรโลกที่มองหาสถานศึกษาด้านการแพทย์ สถานที่พักผ่อนท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ การรักษาพยาบาลทั้งด้วยนวัตกรรมใหม่และการรักษาแผนโบราณหรือบูรณาการ และการแสวงหาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพรวมถึงสมุนไพรด้วย”


ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในห้วงการประชุม World Economic Forum (WEF) ประจำปี 2566 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการเสวนาในฐานะผู้เสวนาหลัก (Lead Speaker) ภายใต้หัวข้อการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก (Traveling Again, Differently) และหัวข้อพันธสัญญาสีเขียวของอาเซียน (ASEAN’s Green Promise) โดยมีผลการเสวนา สรุปได้ ดังนี้

1. การเสวนาหัวข้อการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้เข้าร่วมการเสวนาได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข อาทิ การดำเนินการภายใต้ Phuket Sandbox และหลังจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดคลี่คลาย ไทยมีนโยบายในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เข้าถึงชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย และลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในเมืองหลัก รวมถึงสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายและใช้เวลาในประเทศให้มากขึ้น โดยใช้ยุทธศาสตร์ 5F (Food, Fashion, Festival, Fighting (Thai Boxing), Film) และเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไทยอาจพิจารณาดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) ในอนาคต เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในธุรกิจการบินด้วย

2. การเสวนาหัวข้อพันธสัญญาสีเขียวของอาเซียน การเสวนาเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และความตกลงปารีส ซึ่งไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ 2022 ครั้งที่ 27 (The 27th Conference of the Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change: COP27) ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608 ในการนี้ ไทยจึงได้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy Model) รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Finance) อาทิ การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Bond) การออกตราสารหนี้ ข้ามพรมแดน โดยอนุญาตให้บริษัทต่างชาติออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืนในสกุลเงินบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้หารือทวิภาคีกับผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ได้แก่ Mr. Ryan McInerney ประธานบริษัท Visa เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีด้านดิจิทัลมาใช้ในระบบภาษีและระบบการชำระเงิน เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย และการหารือทวิภาคีกับ Mr. Sigve Brekke ประธานบริษัท Telenor Group เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านโทรคมนาคม

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page