top of page

โครงการ Smart Container for Smart Microgrid Technologyคืออะไร?ติดตามจาก"ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์"


"สวัสดีแฟนเพจ Facebook กระทรวงอุตสาหกรรม ครับ พบกับผม กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เช่นเคยนะครับกับรายการ "ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์" ซึ่งจะมาพบกับทุกท่านเป็นประจำทุกวันศุกร์ เวลา 08.00 น.


สำหรับวันนี้ (18 มีนาคม 2565) ผมจะมาเล่าถึงโครงการ Smart Container for Smart Microgrid Technology ภายใต้การดำเนินโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นการแชร์สมาร์ตกริด จากโซล่าร์เซลล์ จำนวน 600 กิโลวัตต์ไปใช้กับอาคารต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโครงการนำร่องสมาร์ตกริดเชื่อมกับตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเหมาะสำหรับธุรกิจรายย่อยรายเล็ก เป็นการแสดงให้เห็นการยกระดับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ที่ต้องเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างศักยภาพการแข่งขันเวทีโลกด้วย ส่วนรายละเอียดของเนื้อหารายการจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญทุกท่านติดตามได้เลยครับ


มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ส่งเสริมเมือง Smart City จากสำนักงานเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งมีวิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบดำเนินโครงการและเป็นศูนย์กลางในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน NA LLNU Smart Grid Techno-logy และ Smart City and Digital Innovation โดยมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเอกชนและชุมชน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล วิทยาลัยฯ จึงพัฒนาโครงการศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรม Smart City และนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเป็นแหล่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของประเทศ ในด้านพลังงานและอุตสาหกรรมดิจิทัลที่ต้องการความรวดเร็วและเท่าทันต่อเหตุการณ์ในสถานการณ์ปัจจุบันครับ


สำหรับรูปแบบโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Microgrid Technology สู่การขยายผล กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาธุรกิจขับเคลื่อนโดยใช้ตู้ Container ที่มีขนาดเล็ก กะทัดรัด ราคาไม่แพง ด้วยระบบ Smart Microgrid ที่ใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้แบบ Peer-to-Peer ในอนาคตที่มีระบบ Smart Home ที่สะดวกทันสมัยเป็นทางเลือกให้กับผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจ สามารถขยายผลและเชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสมได้กับธุรกิจชุมชน เช่น สำนักงาน ร้านค้า ร้านเสริมสวย และร้านขายอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังสามารถเคลื่อนย้ายตามสถานการณ์และความเหมาะสมได้ตลอดเวลา นับว่าเป็นการส่งต่อโอกาสไปให้กับผู้ที่สนใจที่ต้องการจะเริ่มต้นเป็นผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโอกาสได้สะดวกมากยิ่งขึ้นครับ

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเอง ต้องมีการพัฒนาและปรับตัวให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเพราะจะเป็นปัจจัยต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศ รวมถึงการบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ นับเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะต้องตื่นตัวและเตรียมรับมือเมกะเทรนด์และเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต เพื่อก้าวให้ทันโลกในยุคสังคม Next New Normal และต้องลงมือทำเพื่อการเป็นผู้เล่นรายใหม่ของโลกอุตสาหกรรมแห่งอนาคต นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการบริหารจัดการด้วยระบบ Ecosystem เพื่อช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต โดยมีสถาบันการศึกษาและนักวิชาการ ที่นำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญนั้น มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับความต้องการในการลงทุนใหม่ ๆ เช่น กลุ่ม Startup FinTech และ Climate Tech พร้อมด้วยความร่วมมือจากภาคการเงิน เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะสามารถเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อoภาคอุตสาหกรรมสู่การเชื่อมโยงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Green Industry และอุตสาหกรรม 4.0 ต่อไปครับ

เป็นอย่างไรกันบ้างครับสำหรับโครงการการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยโครงการนำร่อง Smart Container for Smart Micro-Grid Technology ในครั้งนี้ เป็นโครงการต้นแบบการฝึกอบรม การวิจัยพัฒนา และการทำธุรกิจ ซึ่งความสำเร็จของโครงการจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชากรสูงมากกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี และจะมีการขยายผลไปสู่ธุรกิจในชุมชนของประเทศมากถึง 350,000 ชุมชนเลยทีเดียวครับ นอกจากโครงการนำร่อง Smart Container ยังมีอีกหลากหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นอาคารทรงรวงข้าวและอาคารนวดแผนไทยอัจฉริยะ ซึ่งได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะอีกด้วย สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณแฟนเพจทุกท่านที่ติดตาม แล้วพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้ากับรายการ “ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์” ครับ"


Cr.รายการ "ปลัดกอบฯ ตอบโจทย์"จากเพจกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ใช้เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารแนวใหม่ ทุกเช้าวันศุกร์

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page