top of page

โปรดอย่าทำให้จุดกลับรถคลอง1คลอง2รังสิต-นครนายก #ด้อยค่าคุณภาพชีวิตชาวรังสิต?



จุดก่อสร้างทางกลับรถคลอง1 คลอง 2 ถนนรังสิต-นครนายก มีผู้ร้องทุกข์เข้ามาค่อนข้างเยอะจริงๆ ว่าจะ ๆเขียนมาหลายวันแล้ว แต่ยังไม่ทันมีช่องไฟ


วันนี้ ขอกระตุกคนที่รับผิดชอบหนัก ๆ หน่อย และถ้าไม่พอใจ หรือคิดว่าได้รับความเสียหายจากข้อความ แนะนำว่าให้ไปใช้สิทธิทางศาล!



เพราะ 2 จุดนี้ คือรูปธรรมการดองปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านในเชิงประจักษ์ ซึ่ง ไม่ใช่หน้าที่ หรือ ธุระอะไรของหน่วยงานรัฐที่จะมาทำแบบนี้กับชาวบ้าน


หากย้อนไปเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 “ผู้ว่าติ๊ก” ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม มอบให้คุณจรูญศักดิ์ สิงหเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ตรวจหน้างาน ร่วมกับตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนรังสิต - นครนายก ในช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วนที่จะมีการก่อสร้าง ปรับปรุงจุดกลับรถบริเวณใต้สะพานคลอง1 และจุดกลับรถบริเวณใต้สะพานคลอง 2

โจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายรับไปร่วมกันวันนั้น คือ คือ จังหวัดมอบหมายให้ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี หารือร่วมกับ เทศบาลนครรังสิต สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอธัญบุรี เกี่ยวกับแนวทางการจัดการจราจรบริเวณนั้นระหว่างที่มีการก่อสร้างโครงการ


ชัดนะว่าร่วมกันหาแนวทางจัดการจราจรไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนจาก 2 จุดนี้ !!!

เมื่อวางแผน ไปเดือนมีนาคม2564 แล้วผลเป็นอย่างไร?




-จุดกลับรถสะพานคลอง 1 ยังมีความคืบหน้า ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้ แม้จะล่วงเลยมาเกือบ 10เดือนแล้ว


-จุดกลับรถสะพานคลอง 2 เปลี่ยนป้ายมา 2 ครั้ง ครั้งแรกเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2564 ครั้งที่ 2 เดือนกันยายน –เดือนพฤศจิกายน 2564 ป้ายล้มแล้ว...ล้มอีก ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ถามว่าแบบนี้ เรียกว่าดองเค็มความเดือดร้อนชาวบ้านไหม? เขาเรียกว่า คุณภาพชีวิตชาวบ้านถูกด้อยค่าจากหน่วยงานรัฐอย่างรุนแรง?


และผลกระทบที่ตามทันที มีผลกระทบทั้งมิติสังคม และมิติเศรษฐกิจ คือ


1.รถติดมากบนถนนรังสิต-นครนายก โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น สิ้นเปลืองพลังงานมหาศาล


2.เกิดอุบัติเหตุถี่ขึ้น ณ จุดแยกมาลีวัลย์ เพราะเหลือจุดกลับรถเพียงจุดเดียว ความสูญเสียทางสังคมตามมา


3.คนรังสิตเปลี่ยนวิถีการเดินทางครั้งใหญ่ โดยรถยนต์จำนวนมากหลบบนถนนสายหลักรังสิต-นครนายก เข้าไปใช้ถนนริมคลองรังสิตแทน ส่งผลติดสะสมยาวเหยียด และเกิดปัญหาความไม่ปลอดภัย อุบัติเหตุ คุณภาพชีวิตเปลี่ยนไป


แน่นอนว่า เกิดปัญหาความเดือดร้อนขึ้นแบบนี้ ทุกสายตากว่า 90 % ร้องเรียนไปที่เทศบาลนครรังสิต และจุดศูนย์กลางจักรวาล ก็หนีไม่พ้น “ดร.โบว์ลิ่ง” นายกเทศมนตรีนครรังสิต ผ่านทุกช่องทางทั้งไลน์ ทั้งเพจ ทั้งโทรศัพท์ของเทศบาล

การให้คำตอบว่า ทั้ง 2 จุด ไม่ใช่โครงการของเทศบาลนครรังสิต แต่เป็นของแขวงทางหลวงปทุมธานีเป็นคนรับผิดชอบก่อสร้าง คำตอบแบบนี้มันไม่พอ เผลอๆ จะถูกหาว่า โยนลูก


ที่ผ่านมาสิ่งที่ “ดร.โบว์ลิ่ง” ทำ2อย่าง คือ ประสานทางผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานีไปหลายครั้ง แต่เรื่องเงียบ และพอเห็นนิ่งไปก็ได้ฝากเผือกร้อนไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี “ผู้ว่าหมูป่า” ให้ช่วยเร่งทางผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานีช่วยให้อีกทาง


ที่เล่ามาเพียงจะบอกว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ดร.โบว์ลิ่งทำอะไรบ้าง??? ผู้ว่าหมูป่า ที่รับเรื่องร้องเรียนจากเจ้าของพื้นที่ ได้ทำอะไรบ้าง? และบุคคลสำคัญ คุณไพจิตร โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี ในฐานะเจ้าของโครงการ หลังได้รับการประสานจากท้องที่ และหลังได้รับการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาระดับพื้นที่ ได้ขยับทำอะไรบ้าง?


สิ่งที่ปรากฏ ทำไมทุกอย่างยังนิ่ง เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลย!!!


ขอย้ำว่า หน่วยงานรัฐวันนี้ อย่ามองปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านเป็นของเล่นๆ ที่ผลัดวันปะกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เขาไม่โวยไม่ใช่ไม่รู้สึก

เพราะหากเกิดขึ้นในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ป่านนี้กรมทางหลวง ต้องหาเงินมาจ่ายเยียวยามากกว่าค่าโครงการเสียอีก เพราะต้นทุนเรื่องของการเสียโอกาสต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมาก

วันนี้ 8 ธันวาคม 2564 ครบ 6 เดือนการแถลงนโยบายบริหารเทศบาลนครรังสิต ของ “ดร.โบว์ลิ่ง”เจ้าของพื้นที่พอดี


เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน แนะนำว่า ทุกฝ่ายต้องไปทบทวนโจทย์ที่มีร่วมกันเมื่อเดือนมีนาคม2564 (แขวงทางหลวงปทุมธานี หารือร่วมกับ เทศบาลนครรังสิต สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอธัญบุรี หาแนวทางลดความเดือดร้อนของประชาชนร่วมกัน)


และในฐานะประธานศูนย์ตักศิลารังสิต (Rangsit Knowledge Center) ที่เป็นภาคประชาสังคม และได้รับการสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนจากชาวบ้านมาหลายเรื่อง มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้

1.ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับการสะท้อนความเดือดร้อนจากพื้นที่ อยาก ให้น้ำหนักกับเรื่องปัญหาจราจร การเดินทางไม่ได้รับความสะดวกของประชาชนมากว่านี้หน่อย แม้ ท่านมาอยู่ที่นี้ระยะเวลาสั้นๆอาจยังไม่ทราบว่าสถานที่ท่องเที่ยวปทุมธานีมีมากหลาย แต่เคยสงสัยไหมว่า ทำไมนักท่องเที่ยวน้อย ส่วนหนึ่งเพราะปัญหาจราจรติดขัดนั้นเอง


วันนี้ ท่านฐมนตรีมหาดไทยขยันผิดปกติ เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดประชุมผ่านออนไลน์ถี่เหลือเกิน แนะนำว่า ท่านผู้ว่าไม่ต้องไปเข้ามันทุกนัดหรอก มอบรองผวจ.บริหารสแตนบายแทนพอแล้ว เอาเวลาไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้านจะดีกว่า ยกเว้นไฟท์บังคับเท่านั้น มันเหมือนถ้าเบอร์1 องค์กรมัวไปพะวงกับงานแต่ง งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ปัญหาเดือดร้อนชาวบ้านไม่ต้องแก้กันพอดี สรุปคือ #โปรดสั่งการแขวงทางหลวงปทุมธานี ตามข้อร้องขอจากพื้นที่ปัญหาด้วย


2. ผอ.ไพจิตร โพธิ์จันทร์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี ท่านต้องตอบปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอะไรถึงมีการขยายสัญญาก่อสร้างถึง 2 ครั้ง และอาจจะมีครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 หากปัญหานี้ไม่ถูกแก้ ท่านจะแก้ปัญหาอย่างไร จะอ้างเรื่องน้ำท่วมขังคงไม่ได้แล้ว เพราะน้ำคลองรังสิตลดมากแล้ว ในระยะ 3 วัน 7 วัน ท่านควรมีแนวทางออกมา ในฐานะคู่สัญญา หากล่าช้ากว่านี้ ชาวบ้านเดือดร้อนมากเข้าๆ ท่านอาจจะตกอยู่ในสถานะถูกกดดันให้แก้ปัญหา ซึ่งยากกว่าวิธีที่ท่านคิดแก้ปัญหาด้วยตัวท่านเอง และเผลอๆ มันจะลามไปถึงสัญญาอื่นๆในพื้นที่ ท่านคือแม่งานจึงฝากท่านด้วย สรุปคือ #3วัน7วันนี้ท่านควรมีแนวทางแก้ออกมา


3. รองนายกเทศมนตรีนครรังสิต ที่กำกับดูแลงานด้านสิ่งแวดล้อม หากขับรถผ่านถนนรังสิต-นครนายกจะเห็นว่าต้นเหลืองพญาธร ผมหงอก มันไม่ใช่เพราะต้นไม้แก่ แต่เพราะฝุ่นจากงานก่อสร้าง หากจะช่วยลดฝุ่น PM2.5 จะให้รถน้ำมาฉีดวันเว้นวัน จะทำให้สาวแบงก์ที่แต่งตัวสวย ๆ รอรถประจำทาง ได้ใส่ชุดสวยๆเข้าสำนักงาน เพราะความมีของคนไม่เท่ากัน คนขับรถผ่านอาจจะไม่รู้สึกเท่าไหร่ #ป้องกันปัญหาฝุ่นPM2.5

และฝากกองช่างอีกนิดหนึ่ง ดูสัญญางานขยายผิวจราจร 5.6ล้านบาท หน้าปากซอย 31รังสิต-นครนายก ว่าโครงการเลย180วันไปหรือยัง?


4.รองผู้กำกับงานจราจรสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ หลังปิดสะพานกลับรถ 2 จุด ทำให้จุดกลับรถบนถนนรังสิต-นครนายก มี 2 จุด คือ จุดมาลีวัลย์ และจุดไก่ย่างนิตยา ทำให้รถติดสะสมปริมาณมาก ถามว่า จุดกลับตรงสะพานแดง ท่านจะปิดไว้ทำไม เพาะจุดกลับก็น้อยเต็มทีอยู่แล้ว มันทำให้รถยนต์จากซอย 2 -ซอย30 รังสิต-นครนายก(รวมถึงคอนโดลุมพินีนับพันๆคัน)ต้องมาสะสมเพื่อกลับจุดมาลีวัลย์จุดเดียวโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเหลือรถแค่จากซอย32 ขึ้นไปใช้กลับ และรถทางตรงเข้าคลอง ซึ่งหากจุดกลับรถใต้สะพาน 2 จุดแล้วเสร็จเห็นด้วยที่จะมีจุดกลับรถบนถนนให้น้อยตามหลักวิศวกรรมจราจร แต่ตอนนี้มันไม่มีทางเลือก #โปรดพิจารณาเปิดจุดกลับรถสะพานแดง


5.ประชาชนที่ถูกผลกระทบจาก 2 โครงการ ต้องไม่บ่นอย่างเดียว และต้องไม่ทนในสิ่งที่ถูกกระทำ หากปัญหาไม่ได้รับการดูแลใส่ใจในช่วงเวลาที่ปรากฏในข้อ2 ก็จะต้องออกมาร่วมกันหาคำตอบจากผู้รับผิดชอบด้วยกัน และใช้กระแสสังคม กระแสสื่อ มาเป็นแรงเสริมให้เกิดพลังต่อไป #ชาวรังสิตอย่าทน

ทั้ง 5 ข้อ คือ ข้อเสนอถึงผู้รับผิดชอบและผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหา!!!




แต่เนื่องจาก ทราบว่า #รังสิตบ้านเรา กลุ่มประชาสังคมสาธารณะเล็กๆ คลีนๆ แต่ #เล็กแบบพริกขี้หนู เพราะมีท่านอดีตปลัดกระทรวงหลายกระทรวงเป็นสมาชิกอยู่ มีสื่อมวลชน


มีท่านรองปลัดกระทรวงคมนาคมคนหนุ่ม ไฟแรง ขออนุญาตขอแรงบารมี ฝาก #ท่านประธานเบิ้ล ช่วยกระซิบอธิบดีกรมทางหลวงสราวุธ ทรงศิวิไล ที่นั่งเป็นกรรมการในชุดที่ท่านเป็นประธานฯอยู่ด้วยว่า ชาวรังสิตและชาวคลอง เดือดร้อนจาก 2 โครงการนี้อย่างหนัก ถึงหนักที่สุด มาเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน ซึ่งนานเกินไป ทำให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ถูกด้อยค่า และได้รับการเกรงใจจากหน่วยงานรัฐต่ำไปหน่อย

ทั้งหมด ทั้งมวลที่พรรณนามายาวเหยียด ไม่ได้มีเจตนาตำหนิใคร #ความเดือดร้อนประชาชนต้องมาก่อน แต่เพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้ได้รับการแก้ไข จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ที่บริหารเงินงบประมาณแผ่นดิน จากภาษีทุกประเภทของประชาชน

แต่โครงการของหน่วยงานรัฐกลับกำลังสร้างความเดือดรอนแกชาวบ้านเสียเอง!


@หนูนา รังสิต 8 ธันวาคม 2564 คิดเพิ่ม เติมค่าเพื่อร่วมสร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่




Kommentare


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page