top of page

ในหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด"สะพานทศมราชัน"

  • รูปภาพนักเขียน: Close Up Thailand
    Close Up Thailand
  • 15 ธ.ค. 2567
  • ยาว 1 นาที

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ทรงเปิดสะพานทศมราชัน

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก โดยมี คณะองคมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ข้าราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงพนักงานและลูกจ้างการทางพิเศษฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สะพานทศมราชัน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย พร้อมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครบริเวณด่านฯ ดาวคะนอง

สะพานทศมราชัน มีลักษณะเป็นสะพานขึงที่มีความกว้างมากที่สุดในประเทศไทย ขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีความยาวรวม 781.20 เมตร ความยาวช่วงกลางที่ยาวถึง 450 เมตร โดยมีงบประมาณค่าก่อสร้างเป็นเงิน 6,636,192,131.80 บาท ซึ่งมีความโดดเด่นทางด้านการออกแบบงานสถาปัตยกรรม โดยได้รวบรวมข้อมูลจากพระราชประวัติ คติความเชื่อ ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการกำหนดแนวคิดในการออกแบบผลงานเพื่อเทิดพระเกียรติ และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณมหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 อาทิ ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระองค์ สายเคเบิลเป็นสีเหลืองเพื่อสื่อถึงวันพระราชสมภพของพระองค์ คือวันจันทร์ พญานาค ราศีประจำปีพระราชสมภพของพระองค์ คือ ปีมะโรงงูใหญ่ (พญานาค) รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบสื่อให้เป็นต้นรวงผึ้ง ต้นไม้ประจำพระองค์ และราวกันตกริมด้านนอกสุดของสะพาน ออกแบบให้ดูโปร่งโดยใช้วัสดุ Stainless ทั้งนี้ สะพานทศมราชันยังสามารถรับแรงลมที่กระทบตัวสะพานได้สูงสุด 270 กิโลเมตร/ชั่วโมง

“ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสะพานดังกล่าวว่า “สะพานทศมราชัน” หมายถึงพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญ ตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ สะพานทศมราชัน ซึ่งสร้างความปลาบปลื้มแก่ผู้บริหาร พนักงานและลูกจ้างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยรวมถึงประชาชนทุกหมู่เหล่าในพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้ สะพานทศมราชันจะช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้บริการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ได้บางส่วนภายในเดือนมกราคม 2568” นายสุรเชษฐ์ฯ กล่าวในท้ายที่สุด






#ทางพิเศษเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

#องค์กรนวัตกรรมเพื่อการเดินทางและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

#อัปเดตเรื่องราวกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

Comments


ดาวน์โหลด (1).png

เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามประเด็นวิเคราะห์เจาะลึกผ่านทาง CLOSE-UP THAILAND เชิญเพิ่มเพื่อนทางไลน์ @closeupthailand

bottom of page